วันที่ 11-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ร่วมกับโครงการ 88 SANDBOX มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน LEARN LAB EXPO : มหกรรมการศึกษา ชวนเด็กไทยมา ลอง-เรียน-รู้ ณ มิวเซียมสยาม จำลองห้องทดลองแห่งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมค้นหาตัวเอง การเรียนรู้รูปแบบใหม่ และสร้างทักษะแห่งอนาคต ผ่านเวทีเสวนาและบรรยาพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ และการนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพผลงานประกวดธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้
กิจกรรมวันแรก (11 พ.ย. 2566) เริ่มต้นด้วยเสวนาพิเศษ “Closing the skill gap การศึกษาไทยจะปิดช่องว่างทักษะได้อย่างไร” โดย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) และ รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับการส่งเสริม Soft Skill แก่ผู้เรียน ระบบการศึกษาไทยควรกระตุ้นให้ผู้เรียนกระหายที่จะการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา สำหรับงาน LEARN LAB EXPO ได้รับเกียรติจาก คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานในพิธีและเปิดงานอย่างเป็นทางการ
เปิดเวที Here Our Voice ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ การศึกษาแบบใดที่ New Gen มองหา ?
ภายในงาน LEARN LAB EXPO เปิดโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ได้แสดงพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยเวที “Here Our Voice ท้อแต่ต้องทอล์ค ฟังเสียงคนรุ่นใหม่” ได้แก่ กันต์ กัณตภณ แสงเรือง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ชวนคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรมนุษย์ Put the right man on the right job เพื่อให้การศึกษามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และ เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารของ Spaceth.co คนรุ่นใหม่ที่หลงรักในเรื่องราวอวกาศ กล่าวถึงการขับเคลื่อนความชอบไปสู่อาชีพที่รัก เด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้
ร่วมค้นหา สตาร์ทอัพ EdTech ยกระดับการศึกษาด้วยนวัตกรรม
ตามด้วยเวทีนำเสนอและมอบรางวัล OKMD X 88 Learnovation Program Award Ceremony โดย คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า ทีม EdSpeak แอปพลิเคชั่น AI English Coach ที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพ Edsy มีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษพร้อมรับคำชี้แนะรายบุคคลอย่างเป็นประจำ คว้ารางวัลชนะเลิศ รับเงินสนับสนุน 100,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม CodeVenture แพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้งในรูปแบบเกมสำหรับเยาวชน โดยนำ Ai เข้ามาช่วยครูผู้สอน รับเงินสนับสนุน 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ ทีม Aim Global Innovation บริษัทสตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านเอไอสำหรับคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ทีม Mindport แพลตฟอร์มสะท้อนความคิดและจัดเก็บประสบการณ์การออนไลน์สู่การเรียนรู้แบบ Life long learning ลดภาระเวลาตรวจงานให้ครู เพิ่มการเข้าถึงความช่วยเหลือให้แก่นักเรียน และ ทีม RoboPark แพลตฟอร์ม 3d simulation ออนไลน์ ที่มีฟีเจอร์ในการสอน การแข่งขัน และการประกอบหุ่นยนต์ขึ้นมาเอง โดยเน้นระบบที่สมจริงเพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการสร้างหุ่นยนต์จริงมากที่สุด รับเงินสนับสนุนทีมละ 10,000 บาท
“Educators Never Stop ผู้ถ่ายทอด (ที่) ไม่หยุดพัฒนา” โดย อ.เคท ครั้งพิบูลย์
ช่วงเย็น ยังมีกิจกรรบรรยายหัวข้อ “Educators Never Stop ผู้ถ่ายทอด (ที่) ไม่หยุดพัฒนา” โดย อ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมสะท้อนวงการศึกษาไทยที่ผู้สอนจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการสอนเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน และเชิญชวนผู้ร่วมงานสนุกสนานกับคอนเสิร์ตปิดท้ายกิจกรรมวันแรก
วันที่ต่อมา (12 พ.ย. 2566) เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “Here Our Voice ท้อแต่ต้องทอล์ค ฟังเสียงคนรุ่นใหม่” จากตัวแทนนักเรียนมัธยมศึกษา 2 ท่าน ได้แก่ น้องทิวไผ่ ธนกร ปลอดภัย โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ มาส่งเสียงสะท้อนปัญหาความไม่หลากหลายทางการศึกษา และการเรียนการเรียนทางเดียวที่ไม่รับฟังเสียงผู้เรียนอย่างจริงใจว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กแต่ละคนต้องการกันแน่ น้องออกัส โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ขึ้นเวทีกล่าวถึงการจัดการทรัพยากรด้านการศึกษาที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการศึกษาทั้งระบบให้เท่าทันโลก และน้องปังปอนด์ ธัญวัฒน์ จันทรังสี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ขึ้นเวทีวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทยที่ไม่นำเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ควรส่งเสริมภาษาที่สามและการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล
Vision LEARN LAB อนาคตการศึกษาไทยจะไปทิศทางไหน
หลังจากนั้น พบกับเวทีเสวนา “Vision LEARN LAB อนาคตการศึกษาไทยจะไปทิศทางไหน” อธิบายความเป็นมาและเป้าหมายของกิจกรรม LEARN LAB EXPO ระหว่าง คุณโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ (OKMD) คุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ Co-CEO, 88 SANDBOX และคุณเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ ซีเอ็ด (บมจ.ซีเอดยูเคชั่น) สะท้อนกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ซึ่งยังมีปัญหาด้านการจัดการ ผลักผู้เรียนให้ห่างไกลจากสิ่งที่ชอบ และควรแก้ไขด้วยการสนับสนุนเครื่องมือด้านทักษะ การส่งเสริมประสบการณ์ และพื้นที่ค้นหาความเป็นตัวเอง ถือเป็นการเตรียมพร้อมเยาวชนไทยต่อการเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกที่ดี
เพราะผู้สอน ต้องไม่หยุดพัฒนาเช่นกัน กับ ครูไอซ์ ดำเกิง มุ่งธัญญา คุณครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา
กิจกรรมช่วงบ่าย ครูไอซ์ ดำเกิง มุ่งธัญญา คุณครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ขึ้นเวที บรรยายหัวข้อ “Educators Never Stop ผู้ถ่ายทอด (ที่) ไม่หยุดพัฒนา” อธิบายความสำคัญของพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และกระตุ้นให้คุณครูเปิดใจและฝึกฝนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มความสุขให้แก่ผู้เรียน ทำให้วิชาเรียนมีความน่าสนใจ เพื่อให้การศึกษาตอบโจทย์ผู้เรียนที่มีความหลากหลาย
ช่วงเย็น ยังมีเวทีเสวนาจากบรรดาผู้คร่ำวอดในวงการ EdTech ได้แก่ คุณชื่นชีวัน วงษ์เสรี ผู้ก่อตั้ง Globish คุณนกรณ์ พฤกษ์พิพัฒน์เมธ ผู้ก่อตั้ง Conicle และ คุณอธิบดี เขมประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ OpenDurian ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีที่จะพาคนรุ่นใหม่เข้าถึงองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นกลายเป็นเจนเนอเรชั่นที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ตามด้วยบรรยายพิเศษ “Booktrepreneur อนาคตของหนังสือ จะสร้างการเรียนรู้แบบใด” กับ คุณสิรภพ มหรรฆสุวรรณ เจ้าของสำนักพิมพ์ The Letter Publishing แบ่งปันประสบการณ์สร้างสำนักพิมพ์ที่เริ่มต้นจาก Passion ด้านการเขียน ลองผิด ลองถูก จนค้นพบแนวทางของตัวเองร่วมกันคุณภูมิศาสตร์ รุจีรไพบูลย์ จาก 88 SANDBOX
Start with Purpose กับแผนดันป้อมการศึกษาไทย กับ พริษฐ์ วัชรสินธุ
กิจกรรมสุดท้ายของ LEARN LAB EXPOเป็นบรรยายจาก คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ภายใต้หัวข้อ “Start with Purpose กับแผนดันป้อมการศึกษาไทย” สาระสำคัญว่าด้วยวิธีการปรับรูปแบบการศึกษาด้วย 2 E’s คือ E- efficiency ประสิทธิภาพ ผ่านการจัดการงบประมาณ การพัฒนาหลักสูตร และการคืนครูสู่ห้องเรียน และ E-empathy ความเห็นอกเห็นใจผู้เรียน ผ่านโรงเรียนที่ปลอดภัยเป็นมิตร การกระจายอำนาจสู่โรงเรียน และเพิ่มหลากหลายทางการเรียนรู้ เปลี่ยนวิธีการเรียนแบบเดิมที่หนักหน่วงจนทำให้ผู้เรียนเหนื่อยล้า จนหมดความกระตือรืนร้นที่จะเติบโตแบบ Lifelong Learning ไปสู่การเปิดกว้างทางการศึกษา ผู้เรียนมีเสรีภาพในการออกแบบสิ่งที่อยากเรียน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กล่าวว่า “OKMD มี Passion ที่อยากจะทำให้เรื่องใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม “LEARN LAB EXPO” ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ เรียกว่าเป็น Learning Hackathon แรกๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้”
“OKMD มองหาและพร้อมสนับสนุนนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ ผ่านวิธีการทำงายนแบบสตาร์ทอัพ เป็นที่มาที่เข้าไปจับมือกับทาง 88 SANDBOX ที่เป็นแหล่งบ่มเพราะ ขัดเกลาไอเดีย ส่งเสริมสตาร์ทอัพอยู่แล้ว มาร่วมกันสร้างสรรค์เครื่องมือเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ และเชื่อว่าจะมาแก้ปัญหาเดิม ๆ ของระบบการศึกษา เช่น ความเหลื่อมล้ำหรือลักษณะการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ให้มีความน่าสนใจ หลุดพ้นพันธนาการด้วยสิ่งใหม่ ๆ” ดร.ทวารัฐ กล่าวเสริมถึงการขับเคลื่อน EdTech
ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “กิจกรรม LEARN LAB EXPO : มหกรรมการศึกษา ชวนเด็กไทยมา ลอง-เรียน-รู้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายระหว่าง 88 SANDBOX และ OKMD ภายใต้ความตระหนักว่าการเรียนรู้ ไม่ได้เกิดภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่เกิดได้ทุกที ทุกเวลา ผู้เรียนที่มีประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่อาจสามารถนำมาเทียบโอนหน่วยกิตกับมหาวิทยาลัยได้ในอนาคต จากจุดเริ่มต้นในการค้นหาตัวเอง และพัฒนา Passion หรือสิ่งที่หลงใหลไปสู่การสร้างสรรค์วิธีการที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศในอนาคต”
“คนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ไปเสียทุกอย่าง ความรู้นั้นอายุสั้น แต่คนอายุยาว ความรู้ที่เราเรียนเผื่อ แล้วไม่ได้ถูกนำมาใช้ก็ไร้ประโยชน์ แทนที่จะเรียนสิ่งที่อยากรู้เพื่อใช้ดำรงชีพ เมื่อรู้ว่ายังขาดทักษะอะไรค่อยมาเรียนเพิ่มจะเป็นวิธีการดีกว่า เรียนเท่าที่จำเป็น ขาดอะไร มหาวิทยาลัยจะเปิดให้เขามาเรียนเพิ่ม” รศ.ดร.พิภพ อุดร กล่าวเสริม เริ่มการเรียนรู้เท่าที่จำเป็นและแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับอนาคต