เศรษฐกิจพื้นตัว เช็กให้ชัวร์ กราฟดีขึ้นหรือตกฮวบ ? 5 รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนต้องรู้ !

Highlight

ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบเต็มประตูจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตหรือภาคบริการ

“การพื้นตัวทางเศรษฐกิจ” เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข้ และทำให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด


อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงการกลับ “ภาวะถดถอย” ให้เป็น “ภาวะเติบโต” เท่านั้น แต่มีรายละเอียดปลีกย่อย รูปแบบที่แตกต่างกัน และปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการฟื้นตัว 


#Agenda พาไปทำความรู้จักลักษณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรูปแบบต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งผ่านพ้นไป

1. S-Curve │เริ่มต้นช้านิด แต่ถ้าจุดติดจะก้าวกระโดด

S Curve หรือ Swoosh-Shape การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีรูปแบบเหมือน ‘เครื่องหมายถูกหางยาว’ เกิดจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ไต่ระดับฟื้นตัวอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลาค่อนข้างนานในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อถึงจุดติด เข้าใกล้การกลับสู่ภาวะปกติ จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด มีแนวโน้มที่ดีแ ละพุ่งขึ้นเหมือนเดิม

ตัวอย่าง : สตาร์ทอัพสายเทค มักต้องใช้เวลากับการก่อร่างสร้างรากฐานธุรกิจ กระทั่งจุดหนึ่งเมื่อมาถูกทางและจุดติด ก็จะเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เช่น Facebook, Grab, Shopee เป็นต้น

2. K shaped │ ส่วนหนึ่งฟื้น ส่วนหนึ่งฟุบ

K shaped การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีรูปแบบเหมือน ‘ตัวอักษร K’ ค่อนข้างขาดสมดุล กล่าวคือ จะมีทั้งส่วนที่สามารถฟื้นจากจุดต่ำสุด ค่อย ๆ ทะยานขึ้นไปสู่ภาวะปกติ ในขณะเดียวกันจะมีอีกส่วนที่ถดถอยจากจุดสูงที่สุด ค่อย ๆ ลดลงไปสู่จุดตกต่ำ เหมือนหางของ K ที่แยกกันไปคนละทาง

ตัวอย่าง : การระบาดของโควิด 19 เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยและคนจน ผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงเป็นทุนเดิม จะได้รับผลกระทบน้อย และมีโอกาสกลับสู่ภาวะปกติได้ดีกว่าคนที่สถานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ

3. L-shaped │ ดิ่งลงฉับพลันและถดถอยต่อไป

L shaped การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีรูปแบบเหมือน ‘ตัวอักษร L’ ซึ่งจัดเป็นภาวะการฟื้นตัวที่สาหัสรุนแรง เนื่องจากเป็นการดิ่งลงอย่างฉับพลัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และเส้นกราฟจะเดินแนวนอนต่อเนื่องอีกเป็นเวลานาน อัตราการฟื้นตัวค่อนข้างช้ามาก หรือเรียกได้ว่า “กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง”
.
ตัวอย่าง : วิกฤติค่าเงินเวเนซุเอลา จากประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา สู่ภาวะเงินเฟ้อขึ้นรุนแรงที่ยากจะฟื้นฟู ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับมาตั้งต้นใหม่ได้อย่างมั่นคง หรือ วิกฤติซับไพร์มในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2008 ต้องใช้เวลานานกว่า 6 ปี กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในระดับเดิม

4. V-shaped │ ฟื้นจากจุดต่ำสุดได้แรงและเร็ว

V shaped การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีรูปแบบเหมือน ‘ตัวอักษร V’ มีลักษณะเป็นภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงต่ำสุดอย่างรวดเร็ว แต่สามารถฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับเดิมก่อนวิกฤติได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน คล้ายกับสวิตช์ไฟที่ถูกปิด เมื่อเริ่มต้นใหม่อาจจะกระพริบ ริบหรี่อยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดจะเปิดและกลับมาสว่างเหมือนเดิม

ตัวอย่าง : การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แม้เกิดวิกฤติ COVID-19 แต่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เพราะมีกำลังซื้อในประเทศสูง และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

5. W-shaped │ ฟื้นมาสักพักก็ตกกลับไปอีกรอบ

W shaped การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีรูปแบบเหมือน ‘ตัวอักษร W’ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Double-Dip คือ การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ และฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็เกิดวิกฤติซ้ำสองอีกรอบจนเศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้ง การฟื้นตัวในรอบแรก บางกรณีเรียกว่า Bear Market Rally หรือ การปรับตัวขึ้นหลังตลาดหมี เศรษฐกิจปรับตัวขึ้นและสุดท้ายก็ถดถอยอีกครั้ง 

ตัวอย่าง :  การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่รวดเร็วจนเกินไป ทำให้เกิดการระบาดระลอกต่าง ๆ ตามมา ทำให้กลับมาล็อคดาวน์อีกครั้ง ซึ่งเมื่อเปิดเมืองแนวโน้มเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น แต่เมื่อกลับมาเข้มงวด เศรษฐกิจก็ถอยหลังอีกรอบเช่นกัน



ที่มา :  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กรุงเทพธุรกิจ, KasikornBank, KrungsriBank

Popular Topics