แบรนด์ที่มี ‘สากกะเบือยันเรือรบ’ เริ่มต้นจากการขายอะไร ?

Highlight

ถ้านึกถึงบริษัทหรือแบรนด์ที่ขายทุกอย่าง ผลิตของที่เราใช้หรือบริโภคกันอยู่ในทุก ๆ วัน เราจะนึกถึงบริษัทไหนกันบ้าง ? #Agenda จะพาไปรู้จักกับ 5 แบรนด์ธุรกิจ ว่าตอนนี้แต่ละแบรนด์ ผลิตสินค้าอะไรกันอยู่บ้าง แล้วจะครอบคลุมขนาดไหนกันกันนะ

ถ้านึกถึงบริษัทหรือแบรนด์ที่ขายทุกอย่าง ผลิตของที่เราใช้หรือบริโภคกันอยู่ในทุก ๆ วัน

คงจะขาด CP หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไปไม่ได้

ซึ่งบริษัทเหล่านี้ เราเรียกกันว่า ‘Conglomerate’

Conglomerate คือ บริษัทที่รวมกิจการหลาย ๆ ประเภท ประกอบหลาย ๆ ธุรกิจเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็น ‘อาณาจักรธุรกิจ’

ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน ไม่ได้เริ่มจากการเป็น Conglomerate เลยเสียทีเดียว มักจะเริ่มจากธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนที่จะค่อยๆเติบโต แผ่ขยายอาณาจักร กลายเป็นมหาบริษัทที่มีสากกระเบือยันเรือรบ

#Agenda จะพาไปรู้จักกับ 5 แบรนด์ธุรกิจ ว่าตอนนี้แต่ละแบรนด์ ผลิตสินค้าอะไรกันอยู่บ้าง แล้วจะครอบคลุมขนาดไหนกันกันนะ

————-

3M – เริ่มจากเหมืองแร่ ยันที่พยุงหลัง

ต้นกำเนิดของ 3M แบรนด์สัญชาติสหรัฐอเมริกาที่ถูกก่อตั้ง ปี 1902 โดยเริ่มมาจากธุรกิจทำเหมืองแร่ มีเป้าหมายจะทำเหมืองแร่คอรันดัม แต่ล้มเหลวเพราะสินแร่มีคุณภาพต่ำ ผู้ก่อตั้งทั้ง 5 คนจึงผลิตสินค้า นวัตกรรมชิ้นแรกขึ้นนั่นคือ กระดาษทรายกันน้ำ

หลังจากนั้น 3M ได้คิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น กระดาษทรายกันน้ำชิ้นแรกของโลก ที่ช่วยลดฝุ่นที่เกิดจากการใช้กระดาษทราย 

แต่นวัตกรรมที่เป็น ‘ตำนาน’ ของบริษัท คือ เทปกาวและScotch Tape ที่คิดค้นได้ในปี 1925

ต่อมาช่วงปี 1950-1960 3M ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ในช่วงเดียวกันนี้เองบริษัทได้คิดค้น สก็อตไบรท์ขึ้น

ต่อมาในปี 1980 กระดาษโน้ต Post-it ตัวช่วยของเหล่านักเรียนและคนขี้ลืม ได้ถือกำเนิดและถูกวางตลาดเป็นครั้งแรก

ในขั้นตอน ‘สร้างไอเดีย’ 3M ลงทุนมากถึง 6% ของรายได้ในแต่ละปี โดยพนักงานใช้เวลา 15% ของเวลางานทำโครงการต่างๆ ที่ตนเลือก

ปัจจุบัน 3M ผลิตสินค้ามากกว่า 55,000 รายการ ครอบคลุมใน 9 อุตสาหกรรม และทำยอดขายกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตัวอย่างสินค้าได้แก่ เครื่องเขียน, ที่พยุงหลัง,​ วัสดุอุดฟัน

————-

Mitsubishi – ทำตั้งแต่รถยนต์ยันกลูต้า

ย้อนกลับไปในยุคที่ญี่ปุ่นยังใช้ระบบโชกุนในการปกครอง อิวาซากิ ยาตาโร (Iwasaki Yatarō) เติบโตมาในครอบครัวชาวนายากจน ในแคว้นโทซะ ปู่ของเขาขายสถานะ ‘ซามูไร’ ของตระกูลเพื่อปลดหนี้ แต่ด้วความมุ่งมั่นของอิวาซากิ เขาตั้งใจทำงานหนัก จนซื้อสถานะซามูไรของตระกูลกลับมาได้อีกครั้ง และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มการค้าของแคว้นโทซะ

อิวาซากิ ได้ก่อตั้งบริษัท ‘มิตซูบิชิ’ เป็นของตนเอง ในปี 1870 โดยตราของบริษัทเป็นการนำตราประจำตระกูลอิวาซากิของตัวเองรวมกับตราประจำตระกูลยามาอูจิซึ่งเป็นเจ้าครองแคว้นโทซะในสมัยนั้น

ในปี 1874 อิวาซากิได้รับว่าจ้างจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้ขนส่งกองทัพทหารญี่ปุ่นและยุทโธปกรณ์ ซื้อขายเรือรบ และลำเลียงกองกำลัง นับว่าบริษัทมิตซูบิชิ มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นหลายเรื่องกับรัฐบาลญี่ปุ่น

ภายหลังมิตซูบิชิได้ขยายฐานการลงทุนไปในกลุ่มเหมืองแร่ อู่ซ่อมเรือ และการเงิน จนอิวาซากิ ถึงแก่กรรมเมื่อปี 1885 หลังจากสิ้นยุคของยาตาโร มิตซูบิชิ ก็ได้ขยายกิจการจากการต่อเรือไปยังกลุ่มรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ปัจจุบัน Mitsubishi Heavy Industries ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ครอบคลุมสินค้าหลากหลายกว่า 700 ประเภท ทั้งภาคพื้นดิน ทะเล อากาศ และอวกาศ ผลิตสินค้ากว่า 10 อุตสาหกรรม มีกลุ่มบริษัทในเครือ 1,700 บริษัท ตัวอย่างสินค้าได้แก่ รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน, ชาเขียว,​ เบียร์, กลูต้า

————-

Fujifilm – ทำตั้งแต่กล้องยันยารักษา Covid-19

Fujifilm เป็นชื่อย่อจาก Fujifilm Holding Corporation เป็นบริษัทที่แยกการบริหารออกมาจาก DaiNippon Celluloid K.K. เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 1934 โดยผลิตอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการบันทึกภาพ โดยเฉพาะ ‘ฟิล์ม’ แต่แรกเริ่ม เริ่มผลิตอุปกรณ์ทางทหาร, ฟิล์มทางการแพทย์ และฟิล์มใช้ถ่ายภาพยนตร์มากกว่าจนครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น

หลังจากนั้นตามมาด้วยการผลิตอุปกรณ์ในการถ่ายภาพนิ่งหลากหลายประเภท เช่น ฟิล์ม, กระดาษอัดภาพ, แผ่นบันทึกภาพ, น้ำยาเพื่อการถ่ายภาพ และอื่นๆอีกมาก จนขยายธุรกิจเป็นบริษัทย่อยอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับสายงานให้ตรงต่อผลิตภัณฑ์หลายชนิด

ฟิล์มและกล้องฟิล์มเป็นรายได้หลักของ Fujifilm มาอีกหลายปี 

2 ใน 3 ของกำไรปี 2001 ที่บริษัททำได้มาจากฟิล์ม

แต่ปี 2003 Digital Disruption ก็โถมเข้าใส่อุตสาหกรรมการถ่ายภาพอย่างรุนแรง

หลังกล้องดิจิตอลเป็นที่นิยมมาก มากจนยอดขายฟิล์มลดลง 1 ใน 3 และร้านล้างรูปหลายพันต้องปิดตัว

Fujifilm รับมือด้วยแผน ‘Vision 75’ โดยชิเกะทากะ คิโมริ CEO ของบริษัท

แผนเริ่มด้วยด้วยปิดธุรกิจที่ซ้ำซ้อน ปรับลดกำลังการผลิต และหันมาให้ความสำคัญกับกล้องดิจิตอล 

ไม่กี่ปีถัดมาผลประกอบการก็ดีขึ้นผ่านธุรกิจใหม่ๆ 

โดยปี 2007 Fujifilm รุกสู่ตลาดเครื่องสำอางด้วย ASTALIFT ครีมชะลอการเหี่ยวย่นที่ต่อยอดจากคอลลาเจนรักษาสภาพฟิล์ม

ปัจจุบัน Fujifilm ผลิตสินค้ากว่า 10 หมวดนวัตกรรม มีบริษัทในเครือกว่า 50 บริษัท ตัวอย่างสินค้าได้แก่ กล้องดิจิตอล, ชุดตรวจ/ยารักษา Covid-19, เครื่องพิมพ์เอกสาร

————-

Hyundai – ทำตั้งแต่รถยนต์ยันเรือรบ

ฮุนได ก่อตั้งขึ้นโดย ซุง จู ยุง ชาวเกาหลีใต้ เขาเกิดมาในครอบครัวชาวนา ทุกครั้งที่เดินทางเข้าเมือง เขาจะหาหนังสือพิมพ์มาอ่านเพิ่มความรู้ ต่อมาเขาเดินทางไปทำงานในเมืองเริ่มจากเป็นกรรมกรที่ท่าเรือในอินช็อน

จนกระทั่งปี 1945 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สหรัฐฯ เข้ามาดูแลพื้นที่ส่วนใต้ของเกาหลี 

การเข้ามาของสหรัฐฯ ทำให้การทำธุรกิจในเกาหลีใต้มีอิสระมากขึ้น

ช่วงนี้เอง ซุง จู ยุง ก่อตั้ง ฮุนได ขึ้นในปี 1947

ฮุนได เริ่มจากการทำธุรกิจ ‘รับเหมาก่อสร้าง’

ปัจจัยที่ทำให้ฮุนไดเติบโต เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ มีโครงการก่อสร้างหลายโครงการ ซึ่งฮุนไดเป็นผู้ชนะการประมูล รวมทั้งโครงการอื่นจากรัฐบาลสหรัฐฯด้วย

ก้าวสำคัญคือ การก่อตั้ง ‘ฮุนได มอเตอร์’ ในปี 1967

ซึ่งวันนี้ฮุนได มอเตอร์ กลายมาเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้

ปัจจุบันกลุ่มฮุนได ประกอบธุรกิจหลากหลายมากกว่า 10 อุตสาหกรรม ใน 32 กลุ่มธุรกิจย่อย เช่น รับเหมาก่อสร้าง, ผลิตและจำหน่ายรถยนต์, ค้าปลีก, บริการการเงิน  ตัวอย่างสินค้าได้แก่ รถยนต์, เรือรบ, รถถัง

ถ้ารวมธุรกิจทั้งหมดเป็นบริษัทเดียว กลุ่มฮุนไดจะถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ 

————-

CP – เริ่มจากปุ๋ยยันร้านสะดวกซื้อ

ย้อนกลับปี 1921 เจี่ย เอ็กชอ พ่อของนายธนินท์ เจียรวนนท์ เดินทางจากประเทศจีน เข้ามาตั้งทำธุรกิจในไทย เปิดร้านชื่อ ‘เจียไต๋จึง’ ขายเมล็ดพันธุ์นำเข้าจากจีนและฮ่องกง 

ในปี 1953 ขยายกิจการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เจริญโภคภัณฑ์’ หรือ CP ดำเนินธุรกิจสินค้าทางการเกษตรแบบครบวงจร 

ธนินท์ เจียรวนนท์ บริหารธุรกิจต่อประมาณปี 1962 รับหน้าที่ดูแลในส่วนธุรกิจอาหารสัตว์ ก่อนที่จะขึ้นมาตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือ CP ในปี 1969

ปี 1988 ได้ถือกำเนิดบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ขึ้น โดยบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ประกอบธุรกิจหลักคือ ธุรกิจค้าปลีกร้านค้าสะดวกซื้อ ‘7-Eleven’ ในไทย

จากข้อมูลเดือนมีนาคม 2563 เจ้าสัวธนินท์ ยังคงครองแชมป์มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4.80 แสนล้านบาท

ปัจจุบัน CPAll ดำเนินการใน 8 สายธุรกิจหลัก ครอบคลุม 13 กลุ่มธุรกิจย่อย ลงทุนใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ 

สายธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจการเกษตรและอาหาร, ธุรกิจค้าปลีก, ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม, อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป, ธุรกิจเวชภัณฑ์ และการเงินและการธนาคาร ตัวอย่างสินค้าได้แก่ ร้านค้าสะดวกซื้อ, มหาวิทยาลัย,​ ปุ๋ย

————-

ที่มา : Longtunman, Hyundai, Positioningmag, Fujifilm, Clubstudiob, Siamturakij, 3M, CPAll, Kapook, CPgroupglobal

Popular Topics