ถึง “เหี้ย” แล้วไง มีดีก็แล้วกัน!
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศขับเคลื่อนด้วยเหี้ย
.
เหี้ย หรือตัวเงินตัวทองนั้น ถึงจะมีภาพลักษณ์ที่แย่สำหรับใครหลายคน
แต่เหี้ยนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้ทั้งตัว ทั้ง เนื้อ หนัง เครื่องใน ไปจนถึงเลือด
จึงเกิดการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเหี้ยเพื่อเป็นสัตว์อีกหนึ่งตัวที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
.
แล้วน้องเหี้ยมีดีอย่างไรบ้าง วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูคำตอบเหล่านั้นกัน
.
‘เนื้อเหี้ย’ สามารถนำไปทำเป็นอาหารได้ เป็นที่นิยมของประชากรส่วนใหญ่ในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนโคนหางหรือที่เรียกว่าบ้องตัน ซึ่งเป็นที่นิยมให้หมู่นักนิยมกินของป่าเป็นอย่างมากโดยอินโดนีเซียส่งออกเนื้อเหี้ยปีละกว่า 3-4 แสนตัว มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 20 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ
.
สำหรับเครื่องใน ดี ตับ ของเหี้ยนั้น ถูกนำไปใช้เป็นยารักษาโรคหัวใจ และเป็นส่วนประกอบของยาในแพทย์แผนจีนเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ อีกด้วย
.
‘หนังเหี้ย’ มีคุณภาพที่ดีกว่าหนังจระเข้ เป็นหนังที่เหนียวมากจนสามารถทำให้บางได้โดยไม่ขาด และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังเหี้ยยังมีน้ำหนักเบากว่าหนังจระเข้ รวมทั้งยังมีลวดลายสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปในเหี้ยแต่ละตัวอีกด้วย
.
นอกจากนี้ หนังของตัวเหี้ยสามารถใช้ได้ทั้งตัว ต่างจากหนังจระเข้ที่ใช้ได้แค่ตรงส่วนท้องเท่านั้น หนังเหี้ยยังสามารถนำมาต่อกันได้โดยไม่มีรอยต่อให้เห็นอีกด้วย
.
จากความโดดเด่นของหนังเหี้ย ทำให้มันเป็นที่ต้องการของแบรนด์เครื่องหนังเป็นอย่างมาก กระเป๋าถือ Hermès Ombre Birkin ที่ทำจากหนังเหี้ย ถูกประมูลออนไลน์ไปในราคาสูงถึง 137,500 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4,812,500 บาท เลยทีเดียว
.
ในเมื่อราคาสูง แต่ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ เหี้ยจึงถูกล่าหนักมาก อินโดนีเซียเคยมีการส่งออกหนังเหี้ยมากถึงกว่า 3 ล้านแผ่นต่อปี จนในหลายประเทศออกกฎห้ามล่า เนื่องจากกลัวว่าเหี้ยจะสูญพันธุ์และกระทบต่อระบบนิเวศ นำมาซึ่งการห้ามล่าเหี้ยตามธรรมชาติในอนุสนธิสัญญาไซเตสนั่นเอง
.
‘เลือดเหี้ย’ งานวิจัยล่าสุดพบว่าเลือดของเหี้ยอาจสามารถช่วยยับยั้งโรคร้ายในมนุษย์ โดยนำเลือดของตัวเหี้ยมาทำเป็นซีรัม พบว่าสามารถต้านแบคทีเรียและมะเร็งได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการระบุให้ได้ว่าโปรตีนที่ทำการยังยั้งโรคร้ายเป็นโปรตีนชนิดใด ซึ่งต้องทำการเจาะหาลึกลงไปในระดับโมเลกุลเลยทีเดียว
.
การวิจัยดังกล่าวจึงยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะในการทำให้เลือดของน้องเหี้ยสามารถนำมาใช้กับโรคร้ายในมนุษย์ได้จริง แต่จากการวิจัยนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าเหี้ยมีดีมากกว่าที่เราคิด
.
มีประโยชน์แทบทั้งตัวขนาดนี้ ทำไม “เหี้ย” ถึงยังไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ ที่จะสร้างมูลค่าและประโยชน์ให้แก่ประเทศ?
.
สาเหตุที่การเลี้ยงน้องเหี้ยในประเทศไทย ไม่ได้เป็นไปได้ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจาก
.
– ปัญหาด้านกฎหมาย
เหี้ยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘สัตว์ป่าคุ้มครอง’ ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์ที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามเพาะพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเท่านั้น
.
จากกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ไม่สามารถล่าหรือจำหน่ายเหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติได้ ฟาร์มเหี้ยเพื่อธุรกิจจึงไม่สามารถทำให้เกิดอย่างแพร่หลายได้เช่นกัน เพราะหากอยากมีเหี้ยไว้ในครอบครอง หรือเพาะเลี้ยงต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนเท่านั้น
.
นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงอนุสัญญา ‘ไซเตส’ (CITES) ที่กำหนดให้การค้าขายเหี้ยระหว่างประเทศ ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน จึงจะสามารถ ส่งออก ส่งกลับ ส่งผ่าน และนำเข้า ระหว่างประเทศได้
.
– ทัศนคติของคนไทย
ในสังคมไทย นอกจากเหี้ยเป็นคำที่ใช้แทนคำด่า เป็นคำหยาบ ตัวน้องเหี้ยเอง ก็ถูกรังเกียจเนื่องจากรูปร่างลักษณะ ประกอบกับพฤติกรรมการกินซากอาหาร หรือสัตว์ที่ตายแล้ว รวมทั้งบางคนยังมองว่าเหี้ยเป็นสัตว์ที่นำโชคร้ายมาให้ มีมุมมองเชิงลบต่อเหี้ย
.
– ความรู้และข้อมูลของเหี้ยยังมีน้อย
เพราะทัศนคติ ประกอบกับการเป็นสัตว์คุ้มครอง ทำให้ไม่มีการเพาะเลี้ยงเหี้ยเพื่อการพาณิชย์อย่างจริงจัง และขาดแหล่งข้อมูลทางด้านวิชาการในการทำฟาร์ม ทั้งการคัดเลือกพันธุ์ สถานที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง การรักษาคุณภาพเนื้อและหนัง ฯลฯ ทำให้หากจะมีการทำฟาร์มเหี้ยขึ้นมาจริง ๆ จะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งในการศึกษาข้อมูลเหล่านี้ให้เพียบพร้อมเสียก่อน
.
แต่แนวโน้มการทำให้เหี้ยเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วหัวข้อ การสนับสนุนการเลี้ยงตัวเหี้ยให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจโดยถูกต้องตามกฎหมาย ยังคงปรากฏให้เห็นในราชกิจจานุเบกษา
.
มีเนื้อหาว่า การทำให้เหี้ยกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจสามารถทำได้ โดยกำหนดผ่านประกาศของรัฐมนตรี เพราะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีและคณะกรรมการในการพิจารณาว่าสัตว์ป่าใดมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าหากมีประกาศรัฐมนตรีกำหนดออกมา ก็อาจทำให้เหี้ยกลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจได้เช่นกัน
.
เพียงแต่ เหี้ย ยังคงถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าในบัญชีของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ทำให้จะต้องมีการจัดทำบัญชีและตรวจสอบจำนวนในธรรมชาติ และจะต้องมีข้อมูลทางวิชาการจากการสำรวจวิจัยเพิ่มเติม เช่น เรื่องการเลี้ยง การผสมพันธุ์ ฯลฯ มาพิจารณาประกอบกันเพิ่มด้วยเสียก่อน
.
นอกจากนี้ยังต้องทำการขออนุญาตในการเลี้ยงระบบฟาร์มของไซเตส (CITES) โดยทำให้เกิดกระบวนการจัดการที่ชัดเจนในการออกเอกสารรับรองสินค้าเพื่อทำให้สามารถส่งจำหน่ายออกเป็นสินค้าต่างประเทศได้
.
ดังนั้นในอนาคตน้องเหี้ยอาจกลายมาเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญต่อประเทศของเราจริง ๆ ก็ได้ เพราะจากข้อมูลก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า เหี้ย หนึ่งตัวนั้นสามารถสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้มากมายขนาดไหน ทุกคนคงรู้แล้วว่า ‘มีประโยชน์เหี้ย ๆ’ เป็นยังไง
.
ที่มา:
– Setyawatiningsih, Sri. (2018). The Indonesia’s water monitor ( Varanus salvator , Varanidae) trading. Journal of Physics: Conference Series. 1116. 052059. 10.1088/1742-6596/1116/5/052059.
– Sy, Emerson & Lorenzo II, Antonio. (2020). The Trade of Live Monitor Lizards (Varanidae) in the Philippines. Biawak. 35-44.
– ดร.กฤษฎา พรหมเวค และ ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร. (2022). จากตัวเงินตัวทองสู่สัตว์เศรษฐกิจ เรื่องจริงหรือเพ้อเจ้อ. วารสารทหารพัฒนา
– Khadiejah, S., Abu-Hashim, A.K., Musa, F.H., Abdul-Patah, P., Abdul-Rahman,
M.T., Ismail, H.I., Wahab, A., and Razak, N.A. (2020). Management and Trade in Asian Water Monitors(Varnanus salvator) in Peninsular Malaysia. Department of Wildlife and National Parks Peninsular Malaysia (PERHILITAN). 87 pages.- MRG Online, ราชกิจจานุเบกษา, Sarakadee Magazine