วัตถุดิบปริศนา?
‘แมลง’ จานหลักที่มาแทนเนื้อสัตว์
คาดทำเงิน 4 หมื่นล้านในปี 2023 !
โลกกำลังเผชิญหลากหลายวิกฤติ และวิกฤติอาหารขาดแคลนก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
มีการคาดกันว่าปี 2050 เราจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
ทำให้เกิดการวิจัยค้นคว้าหาสิ่งทดแทนสารอาหารเหล่านั้น
เช่น เนื้อสัตว์สังเคราะห์จากโปรตีนพืช ฯลฯ
แต่คำตอบสุดท้ายที่ไม่ต้องรอสังเคราะห์ใหม่ ก็คือ ‘แมลง’
แมลงถูกรับรองโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ว่ามันเหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นอาหารสำหรับคนทั่วโลกและแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนได้อย่างลงตัว ด้วยเหตุผลเหล่านี้
————-
โปรตีนสูง แปรรูปได้หลากหลาย
แมลงมีโปรตีนสูง มีคาร์โบไฮเดรตและไขมัน และยังไม่นับแร่ธาตุอีกหลากหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะกินแมลงอะไร
ฟาร์มที่เลี้ยงเพื่อขาย ยังสามารถขายได้ในหลายรูปแบบด้วย ไม่ว่าจะเป็น สด ต้ม ทอด แช่เย็น แช่แข็ง เป็นตัว ๆ หรือแปรรูปเป็นเส้นผงแป้ง ของขบเคี้ยว เคลือบช็อคโแลต พาสต้า โปรตีนบาร์
ตลาดสินค้าอาหารจากแมลงในสหรัฐฯ แมลงแบบผงแป้งมีมูลค่าเยอะที่สุด ส่วนแบบพร้อมกิน จะนิยมแบบขนมขบเคี้ยวมากที่สุด
————-
เลี้ยงง่าย ขั้นตอนน้อย
การเลี้ยงแมลงไม่ใช่เรื่องยาก ลงทุนในราคาไม่สูง เนื่องจากใช้วัสดุราคาไม่แพง หาได้ง่าย เพาะพันธุ์ได้เร็ว
แมลงที่นิยมเลี้ยงกัน ได้แก่ จิ้งหรีด ด้วงมะพร้าว ตั๊กแตน รถด่วน
————-
ดีต่อสิ่งแวดล้อม
การเพาะเลี้ยงหรือทำฟาร์มแมลงใช้พื้นที่ น้ำและทรัพยากรธรรมชาติน้อย กว่าการเลี้ยงหรือทำฟาร์มปศุสัตว์เหล่าสัตว์เศรษฐกิจทั่วไปอย่าง วัว ไก่ และหมู การทำฟาร์มแมลงจึงลดการปล่อยก๊าซของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ดีกว่าการเร่งขยายเพาะพันธุ์สัตว์อื่น ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการ
————-
แมลงตัวจิ๋ว มูลค่าไม่จิ๋วอีกต่อไป !
สากลยอมรับแมลงไทย
ข่าวดีก็คือ ตลาดส่งออกแมลงของไทย ก็ดูจะมีอนาคตที่สดใสด้วย
ด้วยสภาพอากาศและความหลากหลายของแมลงในไทย ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าตลาดได้ง่าย
อย่างจิ้งหรีด ไทยเรามีกำลังผลิตรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท
เดือนพฤษจิกายนปีที่แล้ว Novel Foods สหภาพยุโรป ได้เพิ่มรายชื่อประเทศไทย เข้าสู่รายชื่อประเทศที่สามารถส่งออกแมลงเพื่อบริโภค
.
ส่วนประเทศเม็กซิโก ก็อนุญาตนำเข้า ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากฟาร์มไทย โดยสายพันธุ์ที่อนุญาตคือจิ้งหรีดทองแดงลาย หรือ สะดิ้ง ในลักษณะผงแป้งจิ้งหรีด เงื่อนไขคือต้องมาจากฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่ปนเปื้อนโปรตีนจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง และได้ใบรับรองสุขอนามัยจากกรมปศุสัตว์ประกอบการส่งออก
————-
ปัจจุบันตลาดแมลงกินได้ มีมูลค่าอยู่ที่ 12,800 ล้านบาท
เติบโตปีละกว่า 20% และคาดการณ์ว่าตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกจะมีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาทในปี 2023
แม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบเรื่องการที่ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาทำตลาดได้ง่าย แต่การจะหนุนตลาดให้เป็นสากล และต่อยอดต่อไปได้อย่างยั่งยืน อาจเป็นช่องว่างที่รอการเติมเต็มจากภาครัฐด้วย
#AGENDA
ที่มา : ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, Environman