Toy Story, Finding Nemo, Up, Monster inc, Coco, หรือผลงานล่าสุดอย่าง Soul อนิเมชั่นเหล่านี้ เรื่องไหนบ้างที่อยู่ในใจเรา?
วันนี้ #Agenda จะมาบอกเคล็ดลับ จากหนึ่งในบทเรียนจากคลาสออนไลน์ฟรี ที่น่าสนใจอย่าง The Art of Story Telling ‘เล่าเรื่องยังไงให้ทัชใจแบบ Pixar’
————-
ทุกคนคือ ‘นักเล่าเรื่อง’
ดึงประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัวแต่ละคนมาใช้
แม้ให้เล่าเรื่องเดียวกัน แต่ไม่มีทางที่เราจะเล่าเรื่องออกมาได้เหมือนกันเป๊ะๆ ในทีมจึงถือว่าประสบการณ์แต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ
ลองนึกถึงอะไรง่ายๆ เช่น ตอนที่เศร้าที่สุด เรารู้สึกแบบไหน แล้วจะทำให้คนอื่นรู้สึกแบบเราได้ยังไง
ตัดเหตุผล เปิดจินตนาการ
ใช้แนวคิด ‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…’ ในการสร้างเรื่อง เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าของเล่นมีชีวิต จนเกิดเป็น Toy Story
————-
‘มิติตัวละคร’ ที่ทุกคนเข้าถึงได้
แรงบันดาลใจจาก ‘คนใกล้ตัว’ คนดูเลยเข้าถึงและเข้าใจ
อย่างตัวละคร Carl คุณปู่ในเรื่อง Up ที่หนึ่งในทีม นำคุณพ่อของเขาเป็นต้นแบบในการสร้างท่าทางและอารมณ์ในช่วงที่นึกถึงคนรักอย่าง Ellie จนกลายเป็นซีนที่หลายๆคนยกย่องให้เป็นซีนที่ดีที่สุดของเรื่อง แม้จะเป็นช่วงสั้นๆแค่ 4 นาทีกว่าๆเท่านั้น
ความต้องการ, อุปสรรค, สิ่งที่ต้องเดิมพัน
โดยเราต้องถาม ’ความต้องการ’ ของตัวละคร เติม ‘อุปสรรค’ เข้าไป ทำให้เกิดความพยายาม เห็นคุณค่าของการได้มา และให้ ‘เดิมพัน’ กับสิ่งที่ท้าทาย จะสร้างแรงผลักดันที่ดีให้กับตัวละคร ให้ฮึดสู้ ทำทุกอย่างให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ
สร้าง ‘เส้นเรื่อง’ ให้ตัวละคร
‘ก่อนหน้า’ ตัวละครเป็นอย่างไร ‘ระหว่างทาง’ ตัวละครเจออะไรบ้าง และ ‘สุดท้าย’ ตัวละครเปลี่ยนไปเป็นยังไง
————-
‘โครงสร้างเรื่อง’ คือแผนที่ ถ้าดี คนดูก็ไม่หลง
ทำโครงเรื่องพื้นฐานให้แนบเนียน
ทุกๆเรื่องราว มักมีรูปแบบเป็นพื้นฐานอย่าง ‘เริ่ม เกิดบางสิ่ง จบ’ แต่ถ้าซับซ้อนขึ้น จะสร้างความแนบเนียน จนสุดท้ายผู้ชมจะไม่สังเกตและทำให้อินได้อย่างไม่น่าเชื่อ
สร้างลำดับขั้นตอนเรื่องให้ชัดเจน
เพื่อสื่อสารกับผู้ชมถึงสิ่งที่ต้องการสื่อ ตัวอย่างเช่น กาลครั้งหนึ่ง…ในทุกๆวัน…แต่ในวันหนึ่งเหตุการณ์…ก็เกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้นเอง…และด้วยเหตุนั้นเอง… จนมาถึง…ในที่สุด
คุม ‘ธีม’ และ ‘จบ’ เรื่องให้ได้
ทำธีมของเรื่องไปในทางเดียวกัน และจบเรื่องให้ได้ เพราะตอนจบ เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ถึงจะไม่สมบูรณ์ ก็ค่อยกลับมาแก้ไขใหม่ได้
————-
ให้ ‘ภาพ’ เล่าเรื่อง แสงสีเสียงสื่ออารมณ์
ใช้ ‘เส้น’ แสดงถึงการเคลื่อนไหวและความรู้สึก
เส้นเป็นพื้นฐานง่ายๆ ที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวของตัวละคร และช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ใช้แสงและสี ทำให้เกิดโทนภาพที่แตกต่าง บ่งบอกถึงอารมณ์และความรู้สึก
ใช้มุมกล้องที่หลากหลาย ทำให้เกิดความโดดเด่น เช่น ฉากซ่อมตุ๊กตาวู้ดดี้อันน่าจดจำ
————-
ทีมงานสื่อสารกัน ให้ทุกคน ‘อิน’ ตาม
เล่าให้เกิด ‘จินตนาการ’
ที่ Pixar การเล่าเรื่องหรือนำเสนอเรื่อง ผู้เล่าจะต้องดึงจุดเด่นของบทสนทนาในเรื่องออกมาเป็นตัวอย่าง ใช้พลัง น้ำเสียงและจังหวะในการเล่าให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการตามไปด้วย
‘เสนอ’ บ่อยๆ เก็บ ‘ฟีดแบค’ ใหม่ๆเสมอ ทำซ้ำๆจนออกมาดีที่สุด
การเสนอซ้ำๆ ในทุกครั้งจะมีฟีดแบคใหม่ๆจากผู้ฟังเสมอ การแก้งานเป็นสิบๆครั้งใน Pixar ถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะจะต้องแก้จนกว่าเรื่องนั้นจะออกมาดีที่สุด เป็นที่พอใจของทุกๆคน
ฟีดแบคกันแบบจริงใจโดย ‘แซนด์วิชฟีดแบค’
ทุกคนจะฟีดแบคกันอย่างจริงใจ โดยมีเทคนิคเล็กๆเพื่อไม่ให้เสียกำลังใจ คือแซนด์วิชฟีดแบค ที่เริ่มต้นด้วยชั้นบนเป็นการชมอย่างจริงใจ ตรงกลางคือสิ่งที่ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขพร้อมแนวทางที่ทำให้งานดีกว่าเดิม และปิดด้วยชั้นล่างเป็นคำชมและการให้กำลังใจ
————-
Pixar เปิดคอร์สออนไลน์เบื้องหลังการทำอนิเมชั่น ‘Pixar in a box’ ที่สอนตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงกระบวนการสุดท้าย ให้เรียนกันแบบฟรีๆ ที่ khanacademy ค่า