ไทยเพิ่งจะมี Flash Express สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไป
เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาในวงการธุรกิจ เพราะตลอดหลายปีมานี้ ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมาหลายราย และทุกรายที่มีศักยภาพก็ถูกคาดหวังว่า อาจเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายแรกของไทยได้ หลังจากมองเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ทยอยปั้นยูนิคอร์นออกมากันหมดแล้ว
ถามว่าทำไมต้องอยากมีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้วย?
เหตุผลหลักก็คือ สตาร์ทอัพดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้มหาศาล
ในปี 2555-2560 ช่วงเวลาเพียง 6 ปี เม็ดเงินลงทุนสำหรับสตาร์ทอัพในอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านบาท เป็น 9 หมื่นล้านบาท
แม้ ‘สตาร์ทอัพ’ เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจากคนไม่กี่คน
แต่มักมีโมเดลการเติบโตแบบก้าวกระโดด และสร้างมูลค่ามหาศาลได้ในเวลาไม่นาน
ทำให้หลายประเทศหันมาแข่งขันกันบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จให้ได้เยอะ ๆ
ยิ่งระดมทุนได้มาก ยิ่งทำให้มูลค่าบริษัทเติบโต
‘สตาร์ทอัพ’ ไหนที่ระดมทุนได้ถึง 30,000 ล้านบาท (1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ก็จะถูกจัดว่าเป็น ‘ยูนิคอร์น’
แต่ยิ่งวงการนี้มาไกล ระดับเส้นแบ่งก็ไม่ได้มีแค่ยูนิคอร์นแล้ว
แต่ขยับมาเป็นสเกลพลังเปรียบเทียบกับสัตว์ในตำนาน โดยใช้มูลค่าบริษัทมาช่วยขีดเส้นแบ่งคร่าวๆ ถึงระดับการเติบโตของสตาร์ทอัพ ได้ 5 ขั้น
แต่ระดับเป็นยังไง และมีสตาร์ทอัพไหนที่คุ้นตาเราบ้าง? มาดูกัน
#AGENDA
Ponies
สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท (10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
EasyParcel
สตาร์ทอัพขนส่ง โลจิสติกส์ จากมาเลเซีย ที่ให้บริการนัดรับพัสดุและส่งพัสดุบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มีมูลค่ากว่า 1,972 ล้านบาท*
Gogoprint
หนึ่งในสตาร์ทอัพของประเทศไทย ให้บริการสั่งพิมพ์งานต่าง ๆ ได้แบบออนไลน์ ก่อนจะเติบโตจนขยับขยายไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ มีมูลค่า 1,432 ล้านบาท*
Glints
แพลตฟอร์มค้นหางานสำหรับ Talents และบริษัทจากประเทศสิงคโปร์ มีมูลค่า 1,265 ล้านบาท*
Centaurs
สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท (มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
Halodoc
สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซีย ให้บริการแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันหาหมอออนไลน์ มีมูลค่า 15,190 ล้านบาท
Line Man
Food Delivery เรียกแท็กซี่ ส่งพัสดุ เมสเซ็นเจอร์ ซื้อของสะดวกซื้อ และบริการใหม่ “สั่งของจากซูเปอร์” ที่หลายๆ คนต้องเคยใช้บริการ และได้ควบรวมกิจการกับแอปพลิเคชันวงใน (Wongnai) แล้วเมื่อปีก่อน มีมูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาท
Viki
แอป Video Streaming ที่มีต้นกำเนิดจากสิงคโปร์ ก่อนจะถูก Rakuten บริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นซื้อกิจการไป มีมูลค่า 6.2 พันล้านบาท*
Unicorn
สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท (มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
J&T Express
สตาร์ทอัพขนส่ง โลจิสติกส์จากประเทศอินโดนีเซียที่มีมูลค่าสูงถึง 2.42 แสนล้านบาท
Discord
แอป Chat ของเหล่าเกมเมอร์ ต้นกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 2.17 แสนล้านบาท
Clubhouse
โซเชียลมีเดียจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นกระแสฮือฮาขึ้นมา เพราะ Elon Musk บอกว่าชอบ และพอคนแห่ไปใช้ตาม ก็พบว่าตอบโจทย์ในการเปิดห้องสนทนา ความเป็นส่วนตัว และแตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ที่ใช้กันเป็นประจำ ทำให้ Clubhouse มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 1.24 แสนล้านบาทแล้ว
Decacorn
สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านบาท (มากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
SpaceX
สตาร์ทอัพที่มีภารกิจสุดบ้าบิ่นคือ การตั้งอาณานิคมที่ดาวอังคาร ริเริ่มภารกิจโดย Elon Musk โดยความสำเร็จก้าวแรกก็คือการปล่อยจรวดที่สร้างเอง ทำให้เป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ปล่อยยานขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ปัจจุบัน SpaceX มีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท และมีโปรเจคการสำรวจอวกาศ เทคโนโลยีเดินทางที่น่าสนใจมากมาย
Xiaomi
สตาร์ทอัพ Tech Gadgets จากจีนที่ทำให้เกิดคำพูดว่า ‘พระเจ้าสร้างโลก ที่เหลือ Xiaomi สร้าง’ เพราะขายแทบทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ และยังสามารถขายได้ในราคาที่ถูกอย่างเหลือเชื่อ ทำให้สินค้าของ Xiaomi ได้รับความสนใจมาก ปัจจุบันทั้งบริษัทมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท
SHEIN
สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มชอปปิ้งเสื้อผ้าออนไลน์จากประเทศจีนที่มีครบทุกไซส์ทุกสไตล์ ในตอนแรกมีแต่สินค้าสำหรับผู้หญิง แต่ตอนนี้ SHEIN ขยับขยายสินค้ามาถึงเครื่องประดับ กระเป๋า สินค้ากลุ่มผู้ชาย สัตว์เลี้ยง เด็ก และเมคอัพด้วย ตอนนี้มีมูลค่า 4.7 แสนล้านบาท
Hectocorn
สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านบาท (มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
สตาร์ทอัพระดับ Hectocorn ยังมีเพียงรายเดียวคือ Bytedance จากประเทศจีน เจ้าของแอปฯ Tiktok
โดยมีมูลค่าสูงถึง 4.34 ล้านล้านบาท
เห็นได้ว่าส่วนใหญ่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เรารู้จักและคุ้นเคยมักเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าถึงคนได้จำนวนมาก และมีโอกาสเติบโตเป็นร้อยเป็นพันเปอร์เซ็นได้อย่างรวดเร็ว
* ข้อมูลปี 2018
** ธง สื่อถึง ประเทศที่บริษัทถือกำเนิดขึ้น
ที่มา:
– https://workpointtoday.com/indonesia-startup-unicorn/
– https://www.thairath.co.th/news/tech/startup/1900612
– https://techsauce.co/tech-and-biz/what-is-unicorn