รัดเข็มขัดให้แน่น สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย 0.75% คลื่นลูกใหญ่ที่จะพังเศรษฐกิจไทย?

Highlight

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สภาวะ “Stagflation” หรือภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง รู้หรือไม่ว่า FED หรือธนาคารกลางสหรัฐ มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลอะไรกับประเทศไทย ข้าวของจะแพงขึ้น ราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร สภาวะเศรษฐกิจไทยจะเดินไปในทิศทางไหน

#Agenda ชวนวิเคราะห์ผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 28 ปีของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับเรามากน้อยขนาดไหน

คลื่นยักษ์ลูกใหม่ ที่กำลังจะโหมกระหน่ำใส่ประเทศไทย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน หรือ FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันที 0.75% สูงสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐขึ้นไปอยู่ที่ระหว่าง 1.5 – 1.75% เพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อที่พุ่งแรงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี

ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรของสหรัฐที่ปีที่แล้วดัชนีผลตอบแทนพุ่งพรวด ตอนนี้ดัชนีปรับตัวลงแรง 19% มูลค่าหายกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ เข้าสู่สภาวะซบเซา หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่าตลาดหมี

ไม่เพียงเช่นนั้น! นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารสหรัฐยังได้กล่าวว่า “จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่สัญญาไว้ เพราะตัวเลขเงินเฟ้อค่อนข้างร้อนแรง” อีกทั้งยังมีการประเมินว่า ปลายเดือนกรกฎาคม มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5 – 0.75% 

และคาดการณ์ว่า ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจหดตัวลงเล็กน้อย แต่ FED เองก็จะพยายามอย่างสุดความสามารถไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการใช้ยาแรงอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 28 ปี

นอกจากนี้ยังมีการปรับลดคาดการณ์ GDP จาก 2.8% เหลือเพียง 1.7% และยังปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อจากเดิม 4.3% พุ่งขึ้นเป็น 5.2%

การตัดสินใจของ FED ส่งผลให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศต้องปรับนโยบายให้รัดกุมกว่าเดิม และต้องจับตาว่าต่อจากนี้เศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะ Recession หรือ สภาวะถดถอยหรือไม่ 

รวมไปถึงการพาเหรดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) หรือ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) ซึ่งอาจส่งผลให้สภาพคล่องตึงทั่วโลก รวมถึงตัวปริมาณกำไรที่อาจได้รับผลกระทบจนกลายเป็น Profit Recession ซึ่งอาจส่งผลให้เกิด Double-dip Recession หรือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงได้

คลื่นยักษ์ที่เรากำลังเผชิญ

ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สภาวะ Stagflation 

  • ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสวนทางกับเศรษฐกิจที่ถดถอย 
  • กดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี 

อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ กระทบเสถียรภาพทางการเงินของไทยอย่างหนักหน่วง

ราคาน้ำมันบ้านเราไม่ปรับลดตามราคาน้ำมันโลก ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มกำลังการผลิตของสหรัฐและกลุ่มประเทศอาหรับ ราคาน้ำมันของเราก็ไม่ได้ลดลงตาม เพราะราคาการกลั่นน้ำมันดิบจากโรงกลั่นที่มีการคิดราคากลั่นที่ค่อนข้างสูงถึงลิตรละเกือบ 7 บาท พุ่งขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 10 เท่า ส่งผลให้เราต้องใช้น้ำมันราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ประเทศไทยยังผลิตน้ำมันเกินความต้องการจนต้องส่งออกเสียด้วยซ้ำ 

ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ และหากภาครัฐไม่รีบหาวิธีรับมือคลื่นยักษ์ 2 ลูกนี้ จะส่งผลกระทบต่อคนไทยโดยตรง ยุคข้าวยากหมากแพงจะกลับมา

ราคาสินค้าและบริการทุกอย่างจะแพงขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง และอาจจะส่งผลถึงอัตราการจ้างงานที่อาจะลดต่ำลง และการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสีย GDP อย่างมหาศาล ฉุดเศรษฐกิจให้ซบเซายิ่งกว่าเดิม

ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกต้องจับตาว่านโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของ FED นั้นจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่ และรัฐบาลไทยมีวิธีรับมือและแก้ปัญหานี้อย่างไรเพื่อปกป้องปากท้องของประชาชน ไม่ให้เกิดความยากลำบากไปมากกว่านี้ ในยุคที่เงินเดือนขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อ

Popular Topics