ต้องรัดเข็มขัดอีกนานเท่าไร มองไปทางไหนก็ยังไม่เห็นทางออก และตอนนี้ฟางเส้นสุดท้ายกำลังจะขาดสะบั้นลง เมื่อกองทุนน้ำมันกำลังติดลบอย่างหนักล่าสุดแตะหลักแสนล้านแล้ว ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น
โดยปกติแล้วรัฐบาลได้ตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
แต่สถานะของกองทุนน้ำมันในตอนนี้ กลับเข้าขั้นวิกฤติ
12 มิ.ย. มีฐานะกองทุนสุทธิอยู่ที่ -9.1 หมื่นล้านบาท
มีหนี้สินรวม 1.15 แสนล้านบาท
19 มิ.ย. มีฐานะกองทุนสุทธิอยู่ที่ -9.7 หมื่นล้านบาท
มีหนี้สินรวม 1.2 แสนล้านบาท
26 มิ.ย. มีฐานะกองทุนสุทธิอยู่ที่ -1.02 แสนล้านบาท
มีหนี้สินรวม 1.2 แสนล้านบาท
ผ่านมาเพียง 2 สัปดาห์ #กองทุนน้ำมัน ติดลบเพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยวันละกว่า 785 ล้านบาท
แล้วกองทุนน้ำมันนำเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันอย่างไรบ้าง?
คำตอบอยู่ที่โครงสร้างราคาน้ำมันต่อ 1 ลิตร
ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 โครงสร้างราคาน้ำมันต่อ 1 ลิตร ประกอบด้วย
ราคาน้ำมันดีเซล B7 ขายปลีกที่ 34.94 บาท คำนวณจาก
ราคาหน้าโรงกลั่น 40.8384 บาท
ภาษีสรรพสามิต 1.34 บาท
ภาษีเทศบาล 0.134 บาท
กองทุนน้ำมัน -10.91 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.1985 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า 1.2468 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด 0.0873 บาท
ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ขายปลีกที่ 44.38 บาท คำนวณจาก
ราคาหน้าโรงกลั่น 32.4777 บาท
ภาษีสรรพสามิต 5.85 บาท
ภาษีเทศบาล 0.585 บาท
กองทุนน้ำมัน 0.09 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.7305 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า 2.4689 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด 0.1728 บาท
ราคาน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ขายปลีกที่ 52.06 บาท คำนวณจาก
ราคาหน้าโรงกลั่น 34.5481 บาท
ภาษีสรรพสามิต 6.5 บาท
ภาษีเทศบาล 0.65 บาท
กองทุนน้ำมัน 7.18 บาท
กองทุนอนุรักษ์ 0.005 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.4218 บาท
ค่าการตลาดของผู้ค้า -0.2289 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด -0.0160 บาท
สรุปสั้นๆ คือ กองทุนน้ำมันเก็บเงินสมทบจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว เพื่อนำเงินเข้ากองทุนและนำไปพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้คงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากจนเกินไป
จากเดิมที่เราเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ยากยากลำบากในช่วงโควิด แต่ความยากลำบากยิ่งกว่าเดิมกำลังจะตามมา หากฟาง 3 เส้นที่ยึดไว้ขาดลง
ฟางเส้นแรก
วิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อดันราคาสินค้าทุกอย่างเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์
ฟางเส้นถัดมาคือเสถียรภาพทางการเมืองสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่แม้จะไม่ได้ตึงเครียดเหมืองช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้คลี่คลายลง แถมยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก
ฟางเส้นสุดท้าย
กองทุนน้ำมันที่กำลังแบกรับการขาดทุนอย่างมหาศาล ถ้าฟางเส้นนี้ขาดลง น้ำมันที่เปรียบเสมือนหัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจจะมีราคาที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนในการประกอบอาหาร ต้นทุนการผลิต ที่อาจจะดันราคาสินค้าทุกอย่างเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ผลลัพธ์ของสิ่งนี้ก็ตกไปอยู่ที่ประชาชนที่อาจต้องแบกรับภาระราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในตอนนี้คือ ลดภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลลงไป 5 บาทต่อลิตรเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 21 พ.ค. – 20 ก.ค. 2565 ซึ่งยังเหลือระยะเวลาของการช่วยเหลืออีก 1 เดือน
หลังจากนี้แล้วภาครัฐจะมีนโยบายไปในทิศทางไหน ประชาชนจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระอันหนักอึ้งต่อไปหรือไม่ ต้องจับตาดูกัน