ที่ผ่านมาไทยใช้ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจหลัก
ก่อนจะคลอดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG มา
แล้วนอกจาก ‘ไทยแลนด์ 4.0’ จะมีโมเดลเศรษฐกิจอะไรอีกบ้างที่น่าสนใจ
จีนใช้โมเดลอะไร ทำไมรอดจากวิกฤตโควิด 19
#Agenda สรุป ‘ 5 โมเดลเศรษฐกิจ’ ที่น่าสนใจ มาฝากกัน
———
#1 โมเดลเศรษฐกิจแบบโดนัท
(Doughnut Economics)
โมเดลนี้คิดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ Kate Raworth
และได้มีการนำมาใช้จริงกับเมือง Amsterdam เมืองหลวงของ Netherlands
โมเดลเศรษฐกิจแบบโดนัท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ รูตรงกลาง พื้นที่นอกเหนือจากเนื้อโดนัท และเนื้อโดนัท
รูตรงกลาง คือ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งหมด 12 ด้าน
ได้แก่ สุขภาพ, อาหาร, น้ำ, พลังงาน, การศึกษา, รายได้, ความยุติธรรม, สิทธิในการแสดงความคิดเห็น, ความเป็นธรรมทางสังคม, ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ, ที่อยู่อาศัย และเครือข่ายทางสังคม
พื้นที่นอกเหนือจากเนื้อโดนัท คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น วิกฤติโลกร้อน และมลพิษในบรรยากาศ
เนื้อโดนัท เปรียบเสมือน “จุดสมดุล” เป็นเป้าหมายของเศรษฐกิจแบบโดนัท
คือทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล
‘เติบโต’ แบบเคารพธรรมชาติและข้อจำกัดของทรัพยากรบนโลก
โดย Amsterdam ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2050 ทรัพยากรที่นำมาใช้ทั้งหมด 100% จะต้องเป็นการรีไซเคิล
———
#2 โมเดลเศรษฐกิจ ‘สามสี’
โจทย์ของโลกอนาคต คือโลกทุนนิยมจะอยู่ให้ได้ ต้องตอบโจทย์ 3 อย่าง คือ Planet, People และ Platform
โมเดลเศรษฐกิจ ‘สามสี’ ที่จะมาตอบโจทย์นี้ จึงมาจาก เทคโนโลยีสีเขียว + ตลาดสีเงิน + แพลตฟอร์มสีทอง
เทคโนโลยีสีเขียว:
เทคโนโลยี ที่ใส่ใจผลลัพธ์และการส่งผลกระทบต่อโลก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า การใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น
ตลาดสีเงิน: การสร้างสังคมที่เอื้อกับผู้สูงวัย ด้วยตลาดสินค้าและบริการใหม่ๆ เพราะอนาคตข้างหน้า เราจะต้องเผชิญกับภาวะสังคมสูงอายุในหลายภูมิภาค
แพลตฟอร์มสีทอง คือโอกาสทางเทคโนโลยี และความยืดหยุ่นในการปรับตัว ยิ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้ ‘เข้าถึงจิตใจ’ คนใช้งานมากเท่าไหร่ ยิ่งเปิดโอกาสให้กับเรามากเท่านั้น
ที่มา: หนังสือ เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
———
#3 โมเดลเศรษฐกิจ BCG
(Bio-Circular-Green Economy:BCG Economy)
ในช่วงแรก รัฐบาลไทยนำโดยนายประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเอาโมเดลเศรษฐกิจ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ
ส่วนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ก็คือวาระแห่งชาติเรื่องที่ 2 สำหรับระยะเวลาต่อไปอีก 5 ปี
คือตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2569 เราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยโมเดลนี้นั่นเอง
โมเดลเศรษฐกิจ BCG มีแนวคิดหลัก คือ พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่
1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
โดยเน้นนำมาใช้กับ 4 อุตสาหกรรมหลัก ที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่
อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยว
และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
เป้าหมายของโมเดลเศรษฐกิจนี้ เช่น
– เพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน 240,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปีภายใน 5 ปี
– เกิดสตาร์ทอัพและ IDEs (Innovative Driven Enterprises) ที่เกี่ยวข้องกับ BCG 10,000 ราย
– ลดการใช้ทรัพยากรลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน
———
#4 โมเดลเศรษฐกิจโรคระบาด
(Pandemic Economy)
ถ้าถอยออกมาจากความวุ่นวายของโรคระบาด จะเห็นภาพกว้างขึ้นว่า การตัดสินใจทางเศรษฐกิจควรจะเป็นอย่างไรได้บ้าง
โมเดลนี้เกิดจากการตั้งคำถามในวงการเศรษฐศาสตร์ (และอาจจะวงการอื่นด้วย) ว่า เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะเป็นยังไง?
Joshua Gans นักเศรษฐศาสตร์ จึงนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจโรคระบาด ด้วยการผสมเศรษฐศาสตร์และระบาดวิทยา โดยยืนบนหลักที่ว่า ‘สุขภาพต้องมาก่อนเศรษฐกิจ’ เพราะถ้าเลือกเศรษฐกิจก่อน ผู้คนที่ล้มตายจำนวนมาก ก็ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่ดี
โมเดลเศรษฐกิจโรคระบาด แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะควบคุมโรค (containment) ระยะเริ่มใหม่ (reset) ระยะฟื้นฟู (recovery) และระยะยกระดับ (enhance)
โดยแต่ละระยะจะเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจในภาวะโรคระบาด การหาทางกลับมาใช้ชีวิตหลังโรคระบาด จะเปิดประเทศเมื่อไหร่? จะฉีดวัคซีนใครก่อน? และจะป้องกันการระบาดใหม่ในระยะยาวได้อย่างไร?
———
#5 โมเดลเศรษฐกิจ Xinomics
Xinomics คือโมเดลที่สี จิ้นผิง ใช้ในกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน และเห็นผลอย่างมาก
ในช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายคาดว่าจีน ที่ถูกมองว่าเป็นต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 น่าจะเจอกับความลำบาก เมื่อการส่งออกต้องหยุดชะงัก การนำเข้าสินค้าจากจีนและการลงทุนของต่างชาติในจีนร่วงลงอย่างน่าหวาดเสียว
แต่เรื่องเหล่านี้กลับไม่กระทบกับจีน และเศรษฐกิจภายในไตรมาส 2 กลับโตขึ้นด้วยซ้ำ
เพราะ Xinomics คือโมเดลที่ออกแบบมาเพื่อผลักดันจีนให้เติบโตได้แบบไม่พึ่งพาโลกภายนอก โดยยึดหลัก 3 ข้อ
หลักการแรกของ Xinomics คือ ลดการกระตุ้นเศรษฐกิจเกินตัว ปรับนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดการก่อหนี้ ลดการเกิดเงินเงา
หลักต่อมา คือการปฏิรูปเชิงสถาบัน รีดไขมันให้กับรัฐวิสาหกิจ ปรับกฎหมายธุรกิจให้เป็นสากลมากขึ้น อนุญาตให้เอกชนฟ้องภาครัฐได้ การปลอดล็อคตรงนี้ ทำให้มีการฟ้องล้มละลายเยอะขึ้น ไม่ยื้อโปรเจ็คที่ไม่เวิร์ค และมีการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้นด้วย
หลักที่ 3 คือโมเดล “Mixed Ownership” โดยให้ ‘ตัวแทนรัฐ’ เข้าไปนั่งในบอร์ดของบริษัท เพื่อ ‘ลดพรมแดน’ ระหว่างการเป็นรัฐวิสาหกิจ-เอกชน และคอย ‘ช่วยเหลือ’ ถ้าธุรกิจนั้นมีศักภาพมากพอ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มจากรัฐบาลอีกด้วย เช่น Tencent, Huawei รวมถึง Alibaba ก็อยู่ในโมเดลนี้เช่นกัน
———
พออ่าน ๆ ดูแล้ว คุณคิดว่าโมเดลเศรษฐกิจไหนน่าสนใจ หรือน่าเอามาใช้ผลักดันเศรษฐกิจไทยได้จริงมากกว่ากัน?
#เศรษฐกิจ #โควิด19 #ไทยแลนด์4.0
ที่มา:
– https://www.nstda.or.th/home/wp-content/uploads/2020/03/images_file-pdf_20200306-bcg-in-action.pdf
– https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894840
– หนังสือ เศรษฐกิจสามสี – เศรษฐกิจแห่งอนาคต โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
– หนังสือ 9 แนวโน้มใหม่ในอนาคตการท่องเที่ยว ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
– https://www.the101.world/pandemic-economy/
– Economics in the Age of COVID-19 by Joshua Gans | https://economics-in-the-age-of-covid-19.pubpub.org/– https://www.amsterdam.nl/en/policy/sustainability/circular-economy