5 ประเทศรวยทรัพยากร แต่ประชาชนยังยากจน

Highlight

1. แองโกลา

แองโกลาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ เหล็ก ทองแดง แมงกานีส

และยังมีบ่อเพชรขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เคยขุดเพชรได้ถึงปีละ 2 ล้านกะรัต ส่วนปัจจุบัน แองโกลามีกำลังผลิตมากปีละ 9 แสนกะรัต 

แม้มีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่ประชากรส่วนใหญ่ของแองโกลากลับไม่สามารถมีชีวิตที่สุขสบายได้ ประชากรกว่า 54% ประเทศมีฐานะยากจน รายได้จากการค้าน้ำมันส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นปกครอง

ปี 2556 นิตยสารฟอร์บ จัดอันดับให้ลูกสาวของครอบครัวซันโตสเป็นผู้หญิงที่รวยที่สุดในทวีปแอฟริกา ต่อมาในปี 2563 อัยการของแองโกลาก็ตั้งข้อหายักยอกทรัพย์กับเธอ

เช่นกัน ในปี 2556 กรุงลูอันดา เมืองหลวงของแองโกลา ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองหลวงที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก สูงยิ่งกว่ากรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ค่าอาหารต่อคนต่อมื้อแตะ 3,000 บาท/หัว 

ปัจจุบันค่าครองชีพลดลงแล้ว แต่ก็ยังสูงกว่ากรุงเทพ แต่ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยนั้นเพียงเดือนละ 1,754 บาท

ต้นตอของความเหลื่อมล้ำอันสุดโต่งน้ีเป็นผลมาจากการสู้รบเพื่ออิสรภาพจากโปรตุเกสในยุคสงครามเย็น และการมีสงครามกลางเมืองหลังจากนั้นนานกว่า 27 ปี ก่อนจะสิ้นสุดในปี 2545 

ที่ผ่านมา รายได้จากการขายน้ำมันและเพชร ถูกรัฐบาลนำไปซื้ออาวุธเพื่อทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายกบฏ ทำให้ไม่มีการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศมากพอ และไม่มีอาหารพอเลี้ยงคนในประเทศ จนต้องนำเข้าอาหารถึงร้อยละ 75 

——————-

2. อัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถานมีชะตากรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คล้ายคลึงกับแองโกลา คือมีการต่อสู้กับต่างชาติที่พยายามยึดครอง และจากนั้นก็เป็นการต่อสู้กันเองภายใน

[อ่านเพิ่มเติมได้ที่: สรุปไทม์ไลน์สำคัญ ‘ตาลีบัน-อัฟกานิสถาน’]

ประเทศนี้เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมมากมาย ทั้งน้ำมันดิบ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ 

ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เหล็ก อัญมณี ทองคำ

และคาดการณ์ว่ามี ‘แร่สำคัญ’ เช่น ลิเธียม อีกหลายล้านตัน มูลค่ากว่าล้านล้านดอลลาร์

ทว่าประชากรชาวอัฟกัน มี GDP ต่อหัวเพียง 16,699 บาท/ปี 90% ของชาวอัฟกันมีรายได้น้อยกว่าวันละ 60 บาท (* ประมาณการจากสำนักงานวิจัยของสภาคองเกรสสหรัฐ (ซีอาร์เอส) ปี 2563) ประชากรส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเกษตร เพราะเหมืองแร่ต่าง ๆ มักมีกลุ่มติดอาวุธคอยควบคุม

ในช่วงที่อัฟกานิสถานยังมีกองทัพจากสหรัฐฯ และ NATO ช่วยเหลือเต็มกำลัง เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานฟื้นฟูถึง 30% ต่อปี แต่สถานการณ์ความรุนแรงนั้นทำให้ประเทศขาดเสถียรภาพ และปัจจุบันนานาชาติก็ยังจับตามองท่าทีของกลุ่มตาลีบันอยู่

——————-

3. ไนจีเรีย

ประเทศไนจีเรีย เป็นเสมือนอีกหนึ่งขุมทรัพย์ของทวีปแอฟริกาใต้ ด้วยแหล่งน้ำมันดิบที่มากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ทั้งยังเต็มไปด้วยก๊าซธรรมชาติ, ดีบุก, แร่เหล็ก, ถ่านหิน

แต่ประชากรของไนจีเรียกว่า 83 ล้านคน หรือกว่า 40% ของประชากร มีฐานะยากจน แม้แต่ไฟฟ้าก็ยังมีไม่พอใช้ และน้ำประปามีเพียง 1.4 % ของพื้นที่ทั้งหมด

ถึงแม้สินค้าส่งออกหลักของไนจีเรียจะเป็นน้ำมันดิบ

สินค้านำเข้าสำคัญ กลับเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เพราะไม่มีเอกชนไหนเข้ามาลงทุนทำโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากรัฐบาลกดราคาน้ำมันเอาไว้ 

อีกปัญหาสำคัญ ที่สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับไนจีเรียอย่างหนัก คือ #ปัญหาคอร์รัปชัน เคยมีการประมาณการไว้ว่า การคอรัปชันในไนจีเรีย 12.4 ล้านล้านบาท ในปี 2020 การจัดอันดับความโปร่งใสรัฐบาลของไนจีเรียอยู่ที่อันดับ 149 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ไนจีเรียยังมีปัญหาเรื้อรังจากปัญหาก่อการร้าย และกลุ่มติดอาวุธ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างศาสนาและชนเผ่า 

——————-

4. คองโก

ประเทศคองโก อุดมไปด้วยอัญมณีมีค่าอย่างเพชร ทองคำ และแร่สำคัญอื่น ๆ อย่าง โคบอลต์ ทองแดง ดีบุก รวมถึงแทนทาลัม ที่มีครอบคลุมกว่า 20-50% ของโลก

แต่ก็เกิดความขัดแย้งทางการเมือง การสังหารหมู่ และสู้รบกันภายในประเทศระหว่างรัฐบาลและกบฎ เหมืองแร่ต่าง ๆ ถูกกลุ่มกบฎยึดครอง ส่วนรัฐบาลก็ทุจริต และคอรัปชั่นอย่างรุนแรง

คองโกยังเผชิญกับความขัดแย้งที่ทางชาติพันธุ์ที่ลุกลามมาจากรวันดา จากการสู้รบที่รุนแรงเหล่านี้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตรวมนับล้านคน และชีวิตของผู้หญิงที่นั่นยิ่งไม่ปลอดภัย

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคองโกจึงไม่ต่างจากที่อื่นนัก คือ ขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเหลื่อมล้ำและยากจนติดอันดับที่ 8 ของโลก ผู้คนหิวโหย เด็กและเยาวชนเผชิญภาวะขาดสารอาหารกว่า 1.9 ล้านคน 

——————-

5. ซูดานใต้ หรือสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน

ทรัพยากรที่โดดเด่นของซูดานใต้คือทองคำ แร่เหล็ก ทองแดง ฝ้าย เมล็ดงา พร้อมแหล่งน้ำมันดิบกว่า 1.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศซูดานก่อนที่จะขัดแย้งจนแยกเป็นซูดานเหนือและซูดานใต้

ความขัดแย้งทางศาสนาจนต้องแยกประเทศนี้เองที่เป็นสาเหตุของความยากจนสุดขีดในซูดานใต้ เพราะสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อนานกว่า 30 ปี ทำลายโครงสร้างพื้นฐานไปจำนวนมาก 

ซูดานใต้จึงขาดการพัฒนาสาธารณูปโภค ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าอุปโภค ยารักษาโรค และเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาใช้งาน เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีผลิตใช้เองในประเทศ 

หนี้สาธารณะของซูดานใต้สูงถึง 207% ของ GDP ส่วนประชากรเกินครึ่ง หรือ 67% ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้

ที่มา:

– Worldbank

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

– Posttoday

Corruption Perceptions Index 2020

– VoiceTV

The People

กระทรวงการต่างประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

– สำนักงานวิจัยของสภาคองเกรสสหรัฐ (ซีอาร์เอส)

– เหลาสมอง

Bangkokbiznew

Popular Topics