ฝ่ายธรรมชาติต้องรู้ไว้ 5 ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทย

0
2400

1. #Saveอมก๋อย

ปัญหาเหมืองถ่านหินและสิทธิชุมชนคนอมก๋อย

อำเภออมก๋อย เป็นจุดที่มีชื่อเสียงด้านความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เป็นจุดท่องเที่ยวที่สวยงาม เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน พื้นที่ป่าบริเวณนั้นได้รับการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2518 

ปี 2530 ชาวหมู่บ้านอะเบอะดิน ในอำเภออมก๋อย ได้รับการติดต่อขอซื้อที่ดินจากนายทุน มีการอ้างว่าอนาคตที่ดินจะถูกยึด ถ้าถูกยึดก็คงแย่ ชาวบ้านบางส่วนจึงยอมขาย

- Advertisement -

ต่อมาปี 2543 บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ยื่นขอสัมปทาน 10 ปี เพื่อทำเหมืองถ่านหินบริเวณอมก๋อย เพื่อส่งถ่านหินให้กับปูนซีเมนต์ไทย

ต่อมามีการทำประเมินและรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ขึ้น และทางการเห็นชอบ

แต่เมื่อมีการทบทวนเอกสารรายงาน กลับพบปัญหาหลายจุดที่น่าสงสัย เช่น มีการปลอมลายมือชื่อชาวบ้าน มีการรายงานสภาพพื้นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นต้น

คนรุ่นใหม่ของอมก๋อยและผู้อยู่อาศัยจึงรวมตัวกันคัดค้าน แต่ผลล่าสุด ทางการก็ยังยืนยันเห็นชอบรายงาน EIA ที่น่าสงสัยเมื่อปี 2554 อยู่

ถ้ายังเหมืองอะเบอะดินเกิดขึ้นจริง ชุมชนกังวลว่าจะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกมากเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น

– แหล่งน้ำของชุมชนที่อาจหายไปจากการเปิดทางให้ขุดเจาะ

– ปัญหามลพิษทางน้ำและอากาศ ที่เกิดจากการทำเหมืองถ่าน

– ปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ

ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ชาวอมก๋อยยังเผชิญกับปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อีก คือ

– โครงการผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล ซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ถึง 36 หมู่บ้าน 

– โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่ชาวบ้านกังวลว่าจะต้องผ่าพื้นที่ป่า ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกิน 

———————–

2. #Saveปลาเด็ก #Saveปลาทู

ปัญหาการจับลูกปลาทะเลมาบริโภค

ปลาทะเลกำลังลดลงและมีสิทธิ์หมดไปในอนาคต เพราะมีการจับลูกปลา สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล หากสัตว์น้ำเล็กไม่ได้โต พวกมันก็ไม่ได้ขยายพันธุ์

ปัญหานี้แม้จะมีมาตรการสั่งห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

แต่ก็ยังมีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายทำประมง เช่น เรือปั่นไฟ ใช้ตาอวนที่เล็กกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้สัตว์น้ำที่ไม่โตเต็มวัยติดเข้าอวน

นอกจากนี้ ตามท้องตลาดยังพบว่า มีการนำลูกปลาไปหลอกขายให้ผู้บริโภค โดยตั้งชื่อปลาใหม่ ทำให้ผู้บริโภคซื้อไปโดยไม่รู้ว่าเป็นลูกปลา เช่น ปลาข้าวสาร ปลาสายไหม และปลาจิ้งจ้าง ทั้ง 3 ชื่อล้วนเป็นลูกปลากะตักขนาดเล็ก 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและเห็นชัดก็คือปลาทู

เพราะลูกปลาถูกจับจนปลาทูตัวใหญ่เนื้ออร่อยๆ แทบจะหายไปจากท้องทะเลไทย

อีกผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือผลกระทบต่ออาชีพชาวประมง-ชุมชนทางชายฝั่ง และราคาอาหารทะเลที่สูงขึ้น

———————–

3. #Saveจะนะ

ปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ปี 2562 ครม.อนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นพื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ 16,753 ไร่ โดยที่ไม่ได้พูดคุยกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน

เมื่อมีนิคมอุตสาหกรรม แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็น

– พื้นที่ชายหาด-ทะเลและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย  

– ปัญหาคลื่นกัดเชาะชายฝั่ง 

– ปัญหามลพิษ 

– การสูญเสียแหล่งอาหารและอาชีพชาวประมง เสียพื้นที่เพาะปลูก

โครงการนี้จึงถูกเรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการ และการกระทำที่ไม่ชอบธรรม

– จัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างรอบคอบ นำข้อมูลทางวิชาการมาประกอบการตัดสินใจต่อการพัฒนาโครงการ

———————–

4. #Saveนาบอน

ปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าเชิงขยะชีวมวล

ปัญหาของโครงการโรงไฟฟ้าเชิงขยะชีวมวลที่นาบอน เริ่มต้นขึ้นจากชุมชนได้รับการติดต่อซื้อที่ดินหลายไร่จากนายทุนกลุ่มหนึ่ง โดยแจ้งว่า ต้องการนำไปสร้างตลาดและโรงงานเยื่อกระดาษ

แต่กลายเป็นว่า ปัจจุบันเกิดการถมที่ที่ซื้อไป เพื่อทำโรงไฟฟ้าเชิงขยะชีวมวล โดยโครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องหลักๆ คือบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ที่มีพล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา และยังมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการด้วย

ผลกระทบที่ชุมชนกังวล คือโครงการต้องขุดบ่อ 60 ไร่ ซึ่งอาจกระทบภาคการเกษตรในท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล วัด ใกล้พื้นที่โรงงาน เสี่ยงได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศด้วย 

———————–

5. #Saveบางกลอย #Saveบิลลี่

ปัญหาที่ดินทำกินชาวบางกลอย

รัฐบาลไทยมีการตั้งเป้าขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกภายในปี 2563 

รวมถึงส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อยู่มาตั้งแต่ก่อนก่อตั้งอุทยานแห่งชาติด้วย

ในช่วงปี 2539 กลุ่มชาวบ้านก็ถูกบีบบังคับเพื่อให้ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม (ใจแผ่นดิน) มีการใช้กองกำลังกว่าร้อยนาย มายังพื้นที่ที่ต่อมาเรียกว่าบางกลอยล่าง

ตรงพื้นที่ใหม่นี้เองที่ที่สภาพดินเป็นดินแข็งไม่สามารถปลูกพืชหรือข้าวเพื่อทำกินได้ ชาวบ้านทุกข์ยากจนต้องมีหนี้สินจากการซื้อข้าวและอาหาร 

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้ไม่ได้หยุดแค่ชาวบางกลอยสูญเสียบ้าน แต่ยังมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้นด้วย

นักเคลื่อนไหวเพื่อชาติพันธุ์อย่าง “ปู่คออี้” ผู้อาวุโสแห่งกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่ได้รับผลกระทบจากยุทธการตะนาวศรีในปี 2554 จนต้องอพยพและต่อสู้เพื่อให้ได้กลับบ้านเกิด แต่ต้องจากไปด้วยโรคปอดติดเชื้อก่อนได้กลับบ้านเกิด

และยังมีบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และ ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งคู่ถูกฆาตกรรมเพราะความขัดแย้งในครั้งนี้

มาจนถึงปัจจุบัน การจัดสรรที่ดินทำกินและพิสูจน์สิทธิให้กับชาวบ้านยังคงไม่แล้วเสร็จ 

ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ซับซ้อนกว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะมีวิถีชีวิตเก่าแก่ของผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้อง

หากเราต้องการอนุรักษ์พื้นที่ แต่ถ้าไม่ฟังความคิดเห็นและไม่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แปลว่าต้องปล่อยหลายชีวิตให้อยู่อย่างยากลำบาก นี่เป็นทางเลือกที่ดีแล้วหรือไม่

สิ่งแวดล้อมก็สำคัญ แต่สิทธิมนุษยชนก็ไม่อาจถูกลืมเช่นกัน

———————–

ทั้ง 5 เรื่องนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ยังไม่จบลง 

ถ้าใครอยู่ฝ่ายธรรมชาติในยุคทุนนิยม อย่าลืมร่วมกันติดตามและจับตาความเคลื่อนไหวประเด็นเหล่านี้ 

และอย่าลืมว่า ต่อให้ใช้ชีวิตปลูกผักอย่างพอกินหรือหรูหราบนภูเขาห่างไกลเมือง 

การเมืองก็ยังเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา

ที่มา : Greenpeace, TheMatter, WorkpointToday, Change .org, ThaiPBS, Prachatai, Greennews

บทความก่อนหน้านี้โลกกำลังทิ้งไทย หรือไทยก้าวไม่ทันโลก? 5 ด้านเศรษฐกิจไทยที่น่าห่วง
บทความถัดไป‘อะไรที่ไม่เคยได้เห็น ก็จะได้เห็นบน Tiktok’ รวมความรู้ดี ๆ บนแพลตฟอร์ม Tiktok Part 2