ปีหน้า เราจะยังมีงานทำอยู่ไหม?
เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร?
จะลงทุนทำร้านค้ากับเพื่อนดีไหม?
ทำสินค้าส่งออก จะไปต่ออย่างไร?
จะปล่อยคนงานให้กลับบ้าน หรือพยุงต่อไปอีกหน่อย?
…
ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับคำถามเดียว คือ
…
..
แล้วโควิดจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน?
..
ถ้าประเมินแล้วว่าแย่ เม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจก็ยุบหาย อัตราว่างงานผุดเพิ่มทีละจุดสองจุด
.
แต่ถ้าอนาคตดูมีหวัง มีวัคซีนมากพอ มีการตระเตรียมป้องกันและรับมือการระบาด คำตอบของคำถามด้านบน ก็อาจเป็นไปในทิศทางบวก
.
นี่คือเหตุผลที่ ‘ความหวัง’ และ ‘ความเชื่อมั่น’ ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเดินหน้า หรือพับแผนของเหล่าเจ้าของร้านค้าเล็กๆ เจ้าของกิจการขนาดกลาง นักลงทุน ไปจนถึงเจ้าสัวใหญ่
.
ทำให้เราสนใจในวิธีการที่ผู้นำหรือฝ่ายรัฐบาลในแต่ละประเทศใช้ ในการสร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางวิกฤต covid-19 นี้ และรวบรวมมันออกมาเป็นอินโฟชุดนี้
ไทย
ผู้นำที่มีบทบาท: นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เกิดประเด็นร้อนในไทย เมื่อในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ความกลัวในการระบาด ‘ระลอกใหม่’ เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพราะมีการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่รวมแล้วกว่า 1,247 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2563) และยังจะมีเพิ่มอีก
จนทั่วโซเชียล เกิดกระแสติดแฮชแท็ก #ถอดถอนอนุทิน หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากความไม่พอใจในการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการระบาดของโควิด 19 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ประกอบกับเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้น
ส่วนวัคซีนที่ไทยเราสั่งซื้อมา ตามเงื่อนไขของสัญญาแล้วอาจได้กลางปี 64 ขึ้นอยู่กับผลการวิจัย และจะนำมาฉีดส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนำมาวิจัยพัฒนาต่อเพื่อผลิตเองในประเทศ
ส่วนมาตรการรับมือต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่น
– สนับสนุน อสม. เดือนละ 500 บาท
– ใช้ ‘สิงคโปร์โมเดล’ ตั้งรพ.สนาม 100 เตียง ใกล้กับตลาดกลางกุ้ง รองรับผู้ติดเชื้อ
– จากข้อมูลล่าสุด ไทยยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ แม้จะมีการให้ผ่านเสนอแก้พรบ.โรคติดต่อของนายอนุทิน โดยเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ และกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน แต่ก็คาดการณ์กันว่า น่าจะประกาศใช้ได้หลังปีใหม่
นิวซีแลนด์
ผู้นำที่มีบทบาท: นางเจซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
นิวซีแลนด์ พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ล่าสุดเมื่อสองวันก่อน 5 ราย ส่วนในวันนี้ไม่มีประกาศพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่พรมแดนของประเทศก็ยังคงปิด ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างมาก ทำให้ภาครัฐหาทางจัดการเพื่อให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
มาตรการรับมือต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่น
– ฉีดวัคซีนฟรี ให้ 5 ล้านคน โดยเริ่มต้นฉีดกลุ่มที่มีความจำเป็นในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 64
– ขยายสู่ประชาชน ในครึ่งหลังปี 64
– และยังใจดีสั่งวัคซีนเผื่อหมู่เกาะเพื่อนบ้านอีก 6 แห่งด้วย
สิงคโปร์
ผู้นำที่มีบทบาท: นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
แม้จะมียอดผู้ติดเชื้อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 148 คน ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนโครงการ Travelbubble กับฮ่องกงไปปีหน้า แต่ก็ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเจาะกลุ่มนักธุรกิจที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ด้วยการประกาศโครงการ Connect@Singapore ให้นักธุรกิจที่ผ่านการคัดกรองโรค เดินทางเข้ามาพักได้สูงสุด 14 วัน
นอกจากนี้ รัฐยังทุ่มงบ 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (22,574.28 ล้านบาท) ฉีดวัคซีนฟรี ให้ประชากร 5.8 ล้านคน ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 64
มาตรการรับมือต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่น
– กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
เช่น “สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส” สายการบินนานาชาติของสิงคโปร์ เปิดร้านอาหารในเครื่องบิน ให้เสมือนขึ้นบินจริง
ญี่ปุ่น
ผู้นำที่มีบทบาท: นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้ติดเชื้อรวม 1.99 แสนราย หายแล้ว 1.65 แสนราย และมีมาตรการรับมือต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่น
– ฉีดวัคซีนฟรี ให้ 126 ล้านคน ภายในครึ่งแรกปี 64
– ถ้าเกิดผลข้างเคียงรุนแรง รัฐจะรับผิดชอบค่ารักษา
– มีบำนาญให้ถ้าได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนถึงขั้นพิการ
โมร็อกโก
ผู้นำที่มีบทบาท: พระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 กษัตริย์โมร็อกโก
โมร็อกโกมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 4.17 แสนราย หายแล้ว 3.78 แสนราย และไม่มีมาตรการกักตัว
ล่าสุด พระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 กษัตริย์โมร็อกโก มีพระราชโองการให้สำนักพระราชวังฉีดวัคซีนให้ประชาชนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยจะเริ่มต้นจากกลุ่มที่มีความจำเป็น แล้วขยายสู่ประชาชนทั่วไป