ถุงยางและผ้าอนามัย เมื่อของจำเป็น มีราคาที่ต้องจ่าย สิทธิ์อนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานที่ถูกมองข้าม

Highlight

ถุงยางและผ้าอนามัย สิทธิ์อนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานที่ถูกมองข้าม

อนามัยเจริญพันธุ์ หมายถึง ​​ภาวะความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและจิตใจ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ รวมถึงภาวะวัยทอง 

ภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดีหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ประชากรมีคุณภาพ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ให้ทุกคนเข้าถึงได้ จึงเป็นการลงทุนทางสังคมขั้นพื้นฐานที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและมีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจ

ในทางกลับกัน การเรียกเก็บภาษีถุงยางและผ้าอนามัย ทำให้คนต้องควักเงินจ่ายเพื่อของใช้จำเป็นในราคาที่แพงขึ้น ใน 1 เดือน ประชาชนต้องหักรายได้จากค่าแรงเพื่อนำไปจ่ายในส่วนนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง คนทำงานหาเช้ากินค่ำ ที่บางครั้งต้องยอมหักค่าข้าวเพื่อไปซื้อผ้าอนามัย

#AGENDA พาไปสำรวจ ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ของถุงยางและผ้าอนามัยกัน

——–

🔶ถุงยางอนามัย 🔶

ถุงยางอนามัยมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98% ป้องกันการติดเชื้อ HIV 70 – 90% และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ 50 – 90% 

ถุงยางในปัจจุบันราคาประมาณ 50 – 100 บาท/กล่อง อาจแพงสำหรับกลุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่มีรายได้ และส่วนใหญ่มีขายตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาในตลาด ทำให้ไม่สะดวกต่อคนที่อยู่ไกลเมือง 

เมื่อวัยรุ่นเข้าไม่ถึงถุงยางอนามัย หลายคนอาจเลือกที่จะไม่ใส่ ทำให้เสี่ยงต่อการติดโรค ตั้งครรภ์ก่อนวัย ปัญหาการทำแท้ง เด็กเกิดมามีปัญหา ครอบครัวแตกแยก กลายเป็นปัญหาสังคมในระยะยาว

ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย เผยว่าในปี 2562 วัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน และวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน แม้จำนวนจะลดลงจากสมัยก่อน แต่ก็ยังเป็นปัญหาในสังคม นอกจากนั้นอัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นก็เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 5 เท่า 

#สวัสดิการถุงยางอนามัย

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ด้านกระทรวงสาธารณสุขมีการแจกถุงยางฟรีตามสถานพยาบาลใกล้บ้านมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการรณรงค์การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือ Save Sex ตัวอย่างเช่น โครงการวัยรุ่น 2020 รู้จักป้องกันท้อง ป้องกันโรค ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

และล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มช่องทางให้บริการถุงยางอนามัยแก่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้สามารถแอดไลน์ สปสช. แล้วสแกน QR code รับฟรีที่คลินิก ร้านขายยา และสถานพยาบาลที่เข้าร่วม มี 4 ไซส์ให้เลือก รับได้ครั้งละ 10 ชิ้น สัปดาห์ละ 1 ครั้ง คาดว่าจะเริ่มในเดือนเมษายนปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มที่ซื้อใช้เองก็ยังคงเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% การซื้อถุงยาง 1 กล่องคิดเป็น 0.5% ของรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน หากต้องการส่งเสริมการใช้ถุงยางให้ครอบคลุมที่สุด การลดหรือยกเลิกภาษีในส่วนนี้ อาจช่วยให้อัตราการใช้ถุงยางสม่ำเสมอของคนไทยดีขึ้น

———-

🔶 ผ้าอนามัย 🔶

ผ้าอนามัย 1 ห่อราคาประมาณ 30 – 60 บาท แบบสอด 80 – 200 บาท ใน 1 เดือน ผู้หญิงมีประจำเดือน 5 – 7 วัน ต้องใช้ผ้าอนามัยวันละประมาณ 4 – 7 ชิ้น เฉลี่ยแล้วผู้หญิงต้องเสียเงินซื้อผ้าอนามัยประมาณ 350 – 400 บาทต่อเดือน หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสรีระและลักษณะประจำเดือนของแต่ละคนที่มามากมาน้อยไม่เท่ากัน

ค่าใช้จ่ายนี้คิดเป็น 4% ของรายได้ขั้นต่ำ ถ้ามองในรายวัน คนที่ได้ค่าแรงวันละ 400 – 500 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าข้าว แล้ว อาจเหลือเงินไม่พอซื้อผ้าอนามัย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในวัยรุ่นอาจเลือกที่จะขาดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้ ในวัยทำงานอาจลางาน ใช้วัสดุอื่นแทน หรือทนใส่ผ้าอนามัยซ้ำเพื่อไม่ให้โดนหักค่าแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด

#ผ้าอนามัยปลอดภาษี

แม้กระทรวงพาณิชย์จะขึ้นทะเบียนให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ทำให้ไม่เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย และกำหนดให้มีการชี้แจงต้นทุนกรณีจะขึ้นราคา แต่ผ้าอนามัยก็ยังคงถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% 

ประจำเดือนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทุกเดือน หรือการที่ปัญหาผ้าอนามัยถูกมองข้ามมันถูกต้องแล้วหรือไม่ ?

การเรียกร้องให้ลดภาษีผ้าอนามัย ไม่ได้มีแค่ในไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างแคมเปญ #FreePeriods ในประเทศอังกฤษ แคมเปญ #StopTaxingMyPeriod ในออสเตรเลีย หรือการร่วมลงชื่อเรียกร้องกว่า 4 แสนคนในอินเดียต่อภาษีผ้าอนามัยที่คนอินเดียเรียกว่า Lahu ka Lagaan แปลว่า ภาษีเลือด

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย เช่น เคนยา (ประเทศแรก) มาเลเซีย 18 รัฐในอเมริกา ไอร์แลนด์ เลบานอน แคนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย อังกฤษ (ประเทศล่าสุด)

ส่วนสกอตแลนด์มีการผ่านกฎหมายให้ผู้มีประจำเดือนใช้ผ้าอนามัยฟรีเป็นประเทศแรกของโลก โดยเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนในประเทศ

———-

การผลักดันเรื่องการลดภาษีหรือสวัสดิการถุงยางและผ้าอนามัยไม่ใช่หน้าที่ของเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราควรช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิ์อนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม

Popular Topics