สอนเรื่องเพศ = ชี้โพรงให้กระรอก​? เปิดหลักสูตร Sex Education ไทยและต่างประเทศ

Highlight

ท้องไม่พร้อม – ขาดความเข้าใจเรื่องการคุกคามทางเพศ – โรคติดต่อ ฯลฯ

คือปัญหาที่สังคมไทยเจออยู่เรื่อย ๆ 

ลองให้เด็ก 10 ขวบใส่ถุงยาง!! คือคอนเทนท์สัมภาษณ์มุมมองและความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศของเด็กไทยวัย 10 ปี (และสอนไปด้วย) ของเพจช็อคเกอร์บอย 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเด็ก ๆ ยังขาดความรู้ในการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดอยู่ 

จนทำให้เกิดการตั้งคำถามกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ว่า ‘ระบบการศึกษา’ ของเรา ปลูกฝังหรือแนะนำแนวทางให้เด็ก ๆ อย่างไร หรือมีขอบเขต/วิธีไหนบ้าง ที่จะพูดคุยกับเยาวชนในเรื่องนี้ได้อย่างเป็นประโยชน์แก่พวกเขาอย่างแท้จริง

#AGENDA เลยรวบรวมหลักสูตร Sex Education ไทยและต่างประเทศมาฝากกันค่ะ


ไทย – เด็กขาดทักษะจัดการเรื่องเพศ

แม้ไทยจะประสบปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ ด้วยจำนวนและอัตราเกิดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ 

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เจอกับปัญหา ‘ท้องไม่พร้อม’ สูงกว่ามาตรฐานโลก

และมีเคสคุกคามทางเพศเด็กนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ตัวด้วย

การศึกษาไทยแทบทุกแห่งสอนเพศศึกษาไม่รอบด้าน เน้นสอนหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ไม่เน้นการเคารพความหลากหลายและการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ด้วยวิธี ‘บรรยาย’ ไม่ใช่จัดกิจกรรมหรือชวนวิเคราะห์และตั้งคำถาม*

การสอนเพศศึกษาของไทยไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่น

‘พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ นับว่าเป็นพฤติกรรมผิดปกติทางเพศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม บางประเภทก็เป็นความผิดปกติที่ขัดต่อศีลธรรมหรือผิดกฎหมาย’

นี่คือข้อความที่ ‘เคย’ ปรากฎอยู่ในหนังสือเรียนสุขศึกษาชั้นม.1 

สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาไทย ปลูกฝังมุมมองที่ไม่ดีต่อความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด 

นับเป็นข่าวดีที่มีการผลักดันเนื้อหาความหลากหลายทางเพศ ลงหนังสือเรียนป.1 – ม.6 ใหม่แล้ว

และสำหรับปัญหาเกี่ยวกับผู้สอนสพฐ.​ ออกหลักสูตรเน้นพัฒนาการสอนของครู ผ่านชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบออนไลน์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือทัศนคติของที่พึ่งใกล้ตัวที่สุดของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือครู ว่าเปิดรับและมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร จึงจะสามารถถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ได้อย่างเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตของพวกเขา

*รายงานโดยศูนย์นโยบายสาธารณสุข ม.มหิดล องค์การยูนิเซฟ และความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา


เนเธอร์แลนด์ – เริ่มสอนตั้งแต่อายุ 0 ปี แม่วัยใสน้อยสุดในยุโรป

“ครูเป็นหมีตัวใหญ่ที่กำลังมีความรัก แต่ครูไม่ได้ชอบหมีเหมือนกันหรอกนะ ครูหลงรักผีเสื้อแสนสวย แต่ครูก็อายเกินกว่าจะพูดออกไป ช่วยคิดหน่อยสิว่าครูจะทำยังไงดี”

“ดูภาพนี้สิ จิงโจ้สองตัวนี้กำลังทำอะไรกัน”

เนเธอร์แลนด์ เลือกใช้วิธีย่อยเรื่องเพศให้เข้าใจง่าย ด้วย ‘นิทาน’ และ ‘เกมส์’

โดยมีการเริ่มสอนตั้งแต่วัย 0 – 18 ปี เป็นลำดับขั้นตามอายุ

เน้นตอบตั้งแต่โจทย์พื้นฐาน เช่น มนุษย์เกิดมาได้ยังไง ความหลากหลายทางเพศ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย คำพูดคุกคาม หรือเล่นเกมส์เป็นคุณหมอ สอนความแตกต่างของร่างกายชายหญิง

สถิติที่น่าสนใจของเนเธอร์แลนด์ คือมีอัตราการท้องในวัยรุ่นต่ำที่สุดในยุโรป และมีทัศนคติของคนในสังคมที่เปิดกว้างต่อเรื่องเพศศึกษาด้วย


เกาหลีใต้ – แบ่งแยกชายหญิง ไม่เคารพความแตกต่าง

กระแส #Metoo เมื่อปี 2019 ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์แบบเรียนเพศศึกษาของเกาหลีใต้อย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น

> หลักสูตรที่ ‘แบ่งแยกเพศชัดเจน’ 

ในแบบเรียน มีการวางแนวทางว่าผู้ชายควรทำแบบนั้น ผู้หญิงควรทำแบบนี้ เช่น  “ผู้หญิงต้องทำตัวเองให้ดูสวยไว้ ส่วนผู้ชายต้องทำงานหนัก จะได้มีสถานะการเงินที่มั่นคง” 

หรือแม้แต่ “ผู้หญิงจะมีเพศสัมพันธ์ได้แค่กับผู้ชายที่ตัวเองเลือกแล้ว เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงคนไหนก็ได้ไม่จำกัด”

> มุมมองต่อการคุกคามทางเพศที่น่าตกใจในแบบเรียน เช่น

“ถ้าหากผู้หญิงถูกลวนลามทางเพศบนรถไฟใต้ดิน ให้แกล้งเหยียบเท้าผู้ชายคนนั้น โดยทำให้เหมือนเป็นอุบัติเหตุ”

“ผู้ชายจ่ายเงินจีบผู้หญิงไปมาก เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ชายต้องได้ของชดเชยจากเงินที่เสียไป การหลอกนัดข่มขืนจึงเกิดขึ้น”

และแน่นอนว่าไม่มีการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในสังคม

ปัจจุบัน สังคมเกาหลีใต้มีประเด็นปัญหาเรื่องการยอมรับเพศที่หลากหลาย มีคนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อการ Bully การคุกคามทางเพศ

ส่วนชั่วโมงการเรียนเรื่องนี้ในระดับประถมศึกษา มีเพียง 15 ชั่วโมงต่อปี น้อยจนผู้ปกครองควักกระเป๋าส่งลูกเรียนพิเศษ ‘เพศศึกษา’ เพิ่มเติม ส่วนอายุเฉลี่ยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของเยาวชนเกาหลีคือ 13 ปี 


สหราชอาณาจักร – เดินหน้าสอน LGBTQ+ แม้มีการประท้วง

สหราชอาณาจักร เริ่มใช้หลักสูตรความหลากหลายทางเพศบรรจุเข้าสอน ในปี 2020 แม้จะมีเสียงต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม

โดยมีการใช้หนังสือภาพ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่เด็ก ๆ ชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ ในหนังสือพูดถึงสัมพันธภาพที่ดีและเพศศึกษาและความเสมอภาคของ LGBTQ+ ผ่านตัวละครและนิทาน เช่น 

– คู่เพนกวินเกย์ที่ช่วยกันเลี้ยงลูก
– เด็กชายที่อยากแต่งตัวเป็นนางเงือก
– คู่เลสเบี้ยนกับลูกของพวกเธอ


แอฟริกา – ผู้ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ เป็นปัญหาเรื้อรัง

“ถ้ามีอารมณ์ทางเพศ ให้เตะบอล” คือข้อสอบโด่งดังของไทย

แต่ในแอฟริกา กีฬาฟุตบอลถูกเอามาใช้เป็นสื่อกลางการเรียนรู้เรื่องเพศ

ปัญหาผู้ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานของแอฟริกา จากปัญหาทัศนคติทางเพศของคนในประเทศ การเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาที่จำกัด ทำให้เด็กๆ กลัวที่จะเอ่ยปากถาม และไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับผู้ปกครอง

จึงเริ่มมีการปรับแนวทางการสอน โดยนำเอากีฬามาเป็นสื่อ เพื่อเปลี่ยนเรื่องเพศให้คุยง่ายขึ้นด้วย ‘ฟุตบอล’

ทำไมต้องฟุตบอล?

แนวคิดนี้เปรียบเทียบการสื่อสารระหว่างผู้รับ-ส่งลูกบอล เหมือนความสัมพันธ์ทางเพศที่ต้องสื่อสารและตัดสินใจร่วมกับคู่ของตน

การสื่อสารผ่านกีฬาที่เรียบง่าย ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัย เป็นกันเอง และกล้าจะถามคำถามเรื่องเพศมากขึ้น 


กัมพูชา – เพิ่มความก้าวหน้าทางเพศ เริ่มด้วย ‘ปฏิรูปการศึกษา’

ถ้าพูดถึงความ ‘ล้าหลังทางเพศ’ กัมพูชายังประสบปัญหานี้อยู่มาก 

มีคนจำนวนมากที่ถูกบังคับให้แต่งงานแบบชาย-หญิง ตามขนบธรรมเนียม ในขณะที่เพศทางเลือกจะถูกส่งไป ‘บำบัดเพศวิถี’ เพื่อรักษา

กัมพูชา จึงปฏิรูปการศึกษา ด้วยการเพิ่มการเรียนการสอนให้สากลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง

– การคุมกำเนิด

– การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

– การป้องกันโรคติดต่ออย่าง HIV

– ความหลากหลายทางเพศ

และยังมีการเทรนนิ่งครูกว่า 3,100 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และปูแนวทางการสอนเพศศึกษาใหม่ด้วย

ที่มา : 

https://voicetv.co.th/read/1XRJ4-II9

https://prachatai.com/journal/2019/06/83010

https://rhdata.anamai.moph.go.th/

https://www.bbc.com/thai/international-48509936

https://spectrumth.com/2020/09/23/เปิดเทอมใหม่นี้-ทุกโรง/

https://www.youtube.com/watch?v=C5naIR7lsEk

https://www.komchadluek.net/news/edu-health/390660https://www.facebook.com/showyourspectrum/photos/a.276495186375492/324006408291036

Popular Topics