จะเกิดอะไรขึ้นกับ ‘เศรษฐกิจไทย’ ในปีหน้า?

Highlight

จะเกิดอะไรขึ้นกับ 'เศรษฐกิจไทย' ในปีหน้า? #AGENDA ลองสรุป 6 ประเด็นน่าสนใจ ว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นกับ ' #เศรษฐกิจไทย ' ในปี 2021 ได้บ้าง

ปี 2020 เป็นปีที่ใครหลายคนบันทึกไว้ในความทรงจำเพราะวิกฤติการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อันเป็นเสมือนคลื่นยักษ์ที่ซัดเศรษฐกิจโลกในช่วงซบเซา ให้ป่วยหนักยิ่งกว่าเดิม

โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว การบิน การเดินทาง อาหาร ที่ต้องปรับตัวหาวิถีใหม่กันยกใหญ่ เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง

และตอนนี้ก็ผ่านพ้นมาถึงครึ่งท้ายของปีแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายเพราะยังมีระลอกสอง ระลอกสาม มาให้หวั่นใจเรื่อยๆ

สิ่งที่เราทำได้ก็คือมองหาความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์จะฟื้นคืนได้ไหมจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร ถ้าหากผลกระทบครั้งนี้ยังทำให้ทุกอย่างซบเซาอยู่

#AGENDA จึงลองสรุป 6 ประเด็นน่าสนใจว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นกับ ‘ #เศรษฐกิจไทย ‘ ในปี 2021 ได้บ้าง

1. คาดการณ์ GDP 2021

– เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5.2% แต่จากแนวโน้มความซบเซา ทำให้มีการปรับคาดการณ์ GDP ลงมาเหลือแค่เติบโต 3.4% ,(NESDC, KKP Research)

– ถ้าหากการระบาดของไวรัสทั่วโลกไม่ดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่กลับมาฟื้นตัว อาจโตได้ในระดับ 0%-1% เท่านั้น เนื่องจากปกติแล้ว ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 12% ของ GDP

– และเป็นไปได้ว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี ความคึกคักของเศรษฐกิจถึงฟื้นตัวสู่ระดับปกติจากสถานการณ์สงครามการค้าโลก และเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงมาตั้งแต่ก่อน COVID-19

—————

2. ท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะยังไม่กลับมา

– จากเดิมประมาณการนักท่องเที่ยวที่อาจกลับมาได้หากสถานการณ์คลี่คลาย อยู่ที่ 17 ล้านคน

– แต่ตอนนี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่การระบาดจะยืดเยื้อกว่าที่คาด เพราะสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น

– การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นที่ถกเถียง รวมถึงไทยเองก็ยังขาดระบบรองรับ การกักตัว การติดตามตัว หากเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

– ทำให้คาดการณ์นักท่องเที่ยวเหลือเพียง 6.4 ล้านคนในปีหน้า

– รายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2564 จะอยู่ที่ 675,700 ล้านบาท หรือติดลบ 78% หากเทียบกับก่อนเกิดการระบาด Covid ในปี 2562 ที่มีรายได้ 3.01 ล้านล้านบาท (ททท.)

– แม้รัฐจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวในประเทศ แต่มาตรการรัฐอย่าง #เราเที่ยวด้วยกัน ยังมีการใช้สิทธิ์จองที่พักเพียง 1 ล้านจาก 5 ล้านสิทธิ์ หรือ 20% เท่านั้น

—————

3. ธุรกิจกลางและเล็กอาจต้องเลิกกิจการ

– แน่นอนว่าสภาวะวิกฤติยิ่งยืดเยื้อ ธุรกิจขนาดเล็กและกลางที่มีสายป่านไม่ยาวก็ไม่สามารถทนต่อกระแสเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้

– ผลการศึกษางบการเงินของสถานประกอบการจำนวน 4 แสนแห่ง ของธนาคารเอกชนรายหนึ่งพบว่ากว่า 38% อาจมีปัญหาสภาพคล่องภายในปี 2564 (Posttoday)

– เรียกได้ว่า แต่ก่อน SME กู้มาลงทุนแต่ตอนนี้ กู้มาพยุงกิจการ

– และที่น่าเป็นห่วงคือ #มาตรการพักชำระหนี้ กำลังจะหมดลง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจทำให้หนี้เสียของ SME มากถึง 9% หรือ 4 แสนล้านบาท (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

– และจะกระทบถึงการว่างงานอย่างแน่นอน

– โดยกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ประมง สวนสนุกจะน่าเป็นห่วงที่สุด

—————

4. คนตกงานอาจมากกว่าวิกฤติปี 40

– จากวิกฤตของธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่เลิกกิจการ ในข้อ 3. ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 11.8 ล้านคนเสี่ยงตกงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เพราะวิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างกว่ามาก

– นอกจากนี้ ในปี 2564 จะมีบัณฑิตจบใหม่ เกือบ 500,000 คน ซึ่งเสี่ยงตกงานเช่นกัน (กรมการจัดหางาน)

– และจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการกว่า 70% พบว่าไม่มีแนวโน้มจ้างงานเพิ่ม

– ชั่วโมงทำงานลดลงถึง 12%และหดตัวในแทบทุกกลุ่มอาชีพ (KKP Research)

—————

5. บางธุรกิจ ยังฟื้นตัวได้บ้าง

– ค้าปลีก ค้าส่ง ICT และภาคการผลิต ยังอยู่ได้

– การก่อสร้างยังฟื้นตัวได้ เพราะโครงการก่อสร้างของภาครัฐไม่สะดุด

– การบริโภคในประเทศยังขยายตัว เพราะยังมีการใช้จ่ายของใช้จำเป็น

—————

6. ภาคครัวเรือนชะลอใช้จ่ายหนี้เสียอาจสูงสุดในรอบหลายปี

– หนี้ครัวเรือนอาจไปถึง 116.90% ต่อ GDP (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

– หนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น และหนี้เสียอาจสูงที่สุดในรอบหลายปี

– มาตรการเยียวยาเริ่มหมดลง และการจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานในระบบอย่างประกันสังคมยังคงล่าช้า

– การบริโภคสินค้าคงทน (บ้านและรถ) ปกติจะคิดเป็นมูลค่า 18% ของการบริโภคทั้งหมดจะลดลง ทำให้ภาวะการฟื้นตัวของการบริโภคเป็นไปได้ช้าเช่นกัน

Popular Topics