เรามีตำรวจไว้ทำไม?
คำนิยามของตำรวจที่กำหนดไว้ในหลาย ๆ ประเทศ มักจะหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ ปกป้อง ดูแล รักษาความปลอดภัยของประชาชน และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สังคมนั้นน่าอยู่
และคำถามที่ว่า ‘เรามีตำรวจไว้ทำไม?’ เป็นคำถามที่นำไปสู่การปฏิรูปองค์กรตำรวจในหลายประเทศ แม้แต่ประเทศที่ตำรวจมีภาพลักษณ์ดีอย่างญี่ปุ่น ก็ยังปฏิรูประบบตำรวจมาแล้ว
เพราะอาชีพที่มีเกียรติในฐานะผู้พิทักษ์สันติของ ‘ราษฎร์’ อย่างตำรวจ คือหนึ่งในเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
ส่วนของไทยเองก็มีการถกเถียงในประเด็นนี้หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถหาทางออกที่ลงตัวได้
#AGENDA ชวนมาคุยประเด็นที่อยากให้ตำรวจไทยปรับปรุงกัน พร้อมส่องโครงสร้างตำรวจแต่ละประเทศ ว่ามีการออกแบบและจัดการอย่างไร จะน่าสนใจแค่ไหน มาดูกันค่ะ
————-
ตำรวจไทย – ตำรวจมีความเป็นทหาร มากกว่าพลเรือน
✏️ระบบและโครงสร้างของตำรวจไทยมีการกระจายอำนาจแบบแนวดิ่ง ต้องทำตามคำสั่ง รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ตามมาซึ่งการโยกย้ายปรับ เปลี่ยน ปลด ออกจากตำแหน่งได้อย่างง่ายดาย ซึ่งคล้ายกับระบบของทหาร ทำให้ตำรวจไทยมีความเป็น ‘ทหาร’ ทั้งในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม
✏️ถ้ามองเฉพาะโครงสร้างองค์กร แม้จะเป็นแนวดิ่ง แต่ก็ยังแบ่งสายบังคับบัญชายิบย่อย ทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่าง ‘ #ตั๋วช้าง ’ 🔖 ตั๋วที่ขอสนับสนุนการขอรับตำแหน่งและเลื่อนตำแหน่งนายตำรวจ ง่ายๆก็คือ ‘การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งด้วยเงิน’ เกิดขึ้นโดยที่หากส่วนบนไม่จัดการ ส่วนล่างก็ได้แต่ถูกกดทับให้เป็นไปตามระบบ จนเกิดคำติดปากว่า นายสั่งมา
✏️ในขณะเดียวกัน หากมองระบบตำรวจไทยเทียบเคียงกับต่างประเทศจะพบว่า ตำรวจส่วนใหญ่มีความเป็น ‘พลเรือน’ มากกว่า และเน้นเข้าถึงชุมชนและประชาชนมากกว่าตำรวจไทย มีระบบที่ไม่โยกย้ายเจ้าหน้าที่บ่อย เน้นทำงานร่วมกับท้องถิ่น ทำให้เจ้าหน้าที่กับประชาชนเข้าใจกันและกันมากขึ้น
✏️ต่างกับตำรวจไทยที่มักมีปัญหาร้องเรียนเรื่องความสุภาพกับประชาชน และมีภาพลักษณ์ที่ทำให้ต่อกับประชาชนไม่ติด
✏️ อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘ค่าตอบแทน’ ของอาชีพนี้
ตามลักษณะงานแล้ว อาชีพตำรวจมีความเสี่ยงสูงกว่าราชการทั่วไปหลายเท่า แต่ค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือนนั้นเริ่มต้นที่ 4,870 บาท (ไม่รวมสวัสดิการอื่น ๆ) และตามลำดับขั้นแล้ว ต้องมีอายุงานอีกหลายปี จึงจะได้รับเงินเดือนสูงสุดที่ 76,800 บาท (ไม่รวมสวัสดิการอื่น ๆ)
✏️ค่าตอบแทนที่ดูแล้วไม่คุ้มค่าเสี่ยงแบบนี้ ทำให้มีการยกประเด็นเพิ่มเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นมาหลายครั้ง โดยหวังว่าจะลดการคอรัปชันลงได้
✏️ไม่ว่าทิศทางของตำรวจไทยจะเป็นอย่างไร
ก็เห็นได้ว่าองค์กรตำรวจต้องการการปฏิรูป เพื่อให้เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
ไม่ว่าจะเป็นตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเองที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างภาคภูมิ และภาคประชาชน ที่จะสามารถมองตำรวจไทยได้อย่างอุ่นใจอีกครั้งหนึ่ง
————-
ตำรวจญี่ปุ่น – ยึดหลัก ‘ตำรวจเพื่อประชาชน’ เงินเดือนมากกว่าราชการอื่น
✏️ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านตำรวจ เริ่มต้นตั้งแต่หัวใจโครงสร้างองค์กร ที่เป็น ‘อิสระจากการเมือง’ อย่างแท้จริง ก่อให้เกิดตำรวจที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีความชัดเจนของอำนาจหน้าที่ และเน้นการกระจายอำนาจ
✏️ปัจจุบัน ตำรวจญี่ปุ่นภายหลังการปฏิรูปล่าสุด มีรูปแบบตำรวจท้องถิ่น 47 จังหวัด โดยจะมีกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นหน่วยงานอิสระ ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานรัฐ คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นควบคุมอีกที
✏️อำนาจหน้าที่เองก็จะถูกกำหนดแยกจากกันอย่างชัดเจน การสืบสวนคดีอาชญากรรม การจัดการการจราจร จะเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีหน้าที่วางนโยบาย ปรับปรุงกฎหมาย หรือหากมีคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ หรือภัยพิบัติขนาดใหญ่ก็จะทำหน้าที่ควบคุมสั่งการ
✏️นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะประจำจังหวัด และคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติที่มาจากประชาชน ทำหน้าที่ ’ตรวจสอบ ถ่วงดุล’ การทำงานของตำรวจในภาพใหญ่ โดยที่นักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ได้
✏️หากพูดถึงตำรวจญี่ปุ่น เป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความไว้ใจและเชื่อถือเป็นอย่างมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกในปี 2018 ในหลายๆประเทศ ยกตำรวจญี่ปุ่นให้เป็นโมเดลแห่งการพัฒนา เพราะหลักการทำงานที่ออกแบบมาเพื่อให้ตำรวจ ‘เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน’ อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น
– ป้อมตำรวจที่ติดตั้งไว้แทบทุกพื้นที่
– การเปิดโอกาสให้ประชาชนแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน
– ไม่ว่าคดีจะเล็กน้อยแค่ไหน ต้องไม่ล่าช้า
– เมื่อพูดคุยกับเด็กๆ หรือผู้สูงอายุ ตำรวจจะย่อตัวลงให้อยู่ในระดับสายตา เพราะเชื่อว่าเป็นการสร้างความอุ่นใจให้ประชาชน
– เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดับจังหวัด ระหว่างประชาชนกับกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด
– ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนการทำงานของตำรวจได้ ซึ่งทุกคำร้องจะได้รับการตอบกลับเป็นเอกสารชัดเจน
“ตำรวจญี่ปุ่น 70% จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และมีเงินเดือนมากกว่าประมาณ 10% หากเทียบกับข้าราชการทั่วไป เพราะเชื่อว่าเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายมากกว่า ทำงานหนักกว่า จึงทำให้สถานะทางสังคมและคุณภาพชีวิตของตำรวจดีขึ้น”
✏️นอกจากนี้ ส่วนมากจะไม่มีการโยกย้ายตำแหน่งตำรวจ มักจะทำงานอยู่ในพื้นที่เดิมจนถึงวัยเกษียณ แต่ถ้าคนไหนตำแหน่งสูงขึ้น สามารถย้ายเข้าทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ และหากพบว่ามีคนกำลังติดสินบน ตำรวจจะต้องจับกุมทันที ไม่ปล่อยผ่าน
————-
ตำรวจสิงคโปร์ – ประชาชนเชื่อมั่นในตำรวจ เป็นอันดับ 3 ของโลก
✏️ องค์กรตำรวจของสิงคโปร์มีลักษณะรวมศูนย์ องค์กรตำรวจของสิงคโปร์ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบไปด้วย 7 หน่วยงาน โดยจะมีระบบตำรวจชุมชนที่มาจากญี่ปุ่น ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ดูเป็นมิตร เข้าถึงประชาชนได้ง่าย โดยสวมแค่กางเกงขาสั้น เสื้อยืดสีขาวขี่จักรยานปฏิบัติงาน และยังมีการใช้ Facebook ให้ความรู้แก่ประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันชุมชนของตนเอง
✏️ ‘เทคโนโลยี’ คือตัวช่วยที่ขับเคลื่อนให้ตำรวจสิงคโปร์ทำงานได้ง่ายขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น
– ติด CCTV ทั่วประเทศ 62,000 จุด และมีศูนย์ควบคุม 24 ชั่วโมง
– เครื่องสแกนภาพสถานที่เกิดเหตุแบบ 3D กรณีที่ที่เกิดเหตุแคบเกินกว่าจะเข้าถึงได้แบบเรียลไทม์
– หุ่นยนต์ลาดตระเวน ได้เองอัตโนมัติ Live Video ไปยังจุดรับคำสั่งได้
และในช่วงโควิด-19 ยังมีการใช้หุ่นยนต์ลาดตระเวน เตือนให้ประชาชนเว้นระยะห่างและสวมหน้ากาก
✏️ความไฮเทคยังไม่จบแค่นี้ แต่ยังมีการแจกสมาร์ทโฟนให้เจ้าหน้าที่ ที่มีแอปพลิเคชันเฉพาะติดมากับเครื่อง เช่น ส่งข้อความที่มีความปลอดภัยระดับสูง, เข้าถึงฐานข้อมูลของหน่วยงาน SPF, หรือตรวจสอบสถานที่และรายละเอียดของกล้อง CCTV เป็นต้น
✏️ในปี 2019 กองบัญชาการตำรวจสิงคโปร์ ได้เปิดตัวตู้ e-Kiosk ที่รับแจ้งเหตุร้ายง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว ผ่านตู้ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับตู้ e-Kiosk จะครอบคลุมการรับแจ้งเหตุขั้นพื้นฐาน เช่น การแจ้งอุบัติเหตุจราจร, การจ่ายค่าปรับ, การติดตามของหายหรือของที่ถูกขโมย เป็นต้น
✏️ค่าตอบแทนและสวัสดิการสูงของตำรวจสิงคโปร์ ยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ข้อมูลจากเว็บไซต์ payscale ระบุว่ารายได้ของตำรวจสิงคโปร์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 75,000 บาทต่อเดือนหรือเกือบ 1 ล้านบาทต่อปี
————-
ตำรวจสหราชอาณาจักร – ตำรวจฐานะพลเรือน ไม่มียศแบ่งชนชั้น
✏️‘ปรัชญาวิชาชีพ’ คือสิ่งที่ทำให้ตำรวจอังกฤษแตกต่างจากตำรวจประเทศอื่นๆ เห็นได้จากการบริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนออกชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ตามรัฐธรรมนูญ ตำรวจไม่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินว่าใครผิดใครถูกหรือให้ท้ายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะจะเป็นการทำลายศักดิ์ศรี
✏️ปรัชญาวิชาชีพของตำรวจอังกฤษ คือกรอบปฏิบัติรักษากฎหมาย ที่ดำเนินภายใต้ความยินยอมพร้อมใจของ ’สาธารณชน’ มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนตรงไปตรงมามีมาตรฐานเดียวกันตามกฎหมาย ไม่ใช่การใช้กฎหมายบังคับข่มขู่ประชาชนให้หวาดกลัว
✏️ความยินยอมพร้อมใจของสาธารณชน จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากพฤติกรรมและมารยาทของตำรวจ หลักการนี้นอกจากตำรวจอังกฤษแล้วยังมีในประเทศแคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่นำแบบอย่างไปใช้
✏️ระบบโครงสร้างและการบริหารองค์กรเป็นอิสระจากการเมือง แท้จริงแล้ว ตำรวจอังกฤษมีฐานะเป็น ‘พลเรือน’ เหมือนประชาชนทั่วไป เรียกว่า police constable ส่วนหัวหน้าตำรวจแต่ละพื้นที่เรียกว่า chief constable ไม่มียศชั้นนายสิบ นายพล คล้ายลำดับขั้นทหารในบางประเทศ
✏️แบ่งเขตพื้นที่ดูแลทั่วประเทศ 45 พื้นที่ บริหารกันเองภายในเขตโดยมีคณะกรรมการแต่งตั้งและประเมินผลงานที่เป็นอิสระ ‘ไม่มีการโยกย้ายข้ามเขตจนมีการซื้อขายตำแหน่งกัน’
✏️หากถามถึงต้นตอของปรัชญาวิชาชีพของตำรวจในสหราชอาณาจักรมาจากนโยบายของ Sir Robert Peel รัฐมนตรีมหาดไทยสหราชอาณาจักร ในปี 1822 เป็นคัมภีร์ที่ใช้อบรมสั่งสอนในวิทยาลัยการตำรวจมาจนถึงปัจจุบัน เป็นพื้นฐานที่ดีในการสร้างวัฒนธรรมตำรวจเป็นอย่างยิ่ง
✏️ล่าสุดวิทยาลัยตำรวจประกาศยกระดับคุณสมบัติบุคคลที่สมัครสอบตำรวจต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีโดยเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะทำให้ตำรวจมีความทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันวงการตำรวจได้รับเงินสนับสนุนการอบรมน้อยกว่าในอาชีพอื่นๆ เช่นการอบรมแพทย์หรือทหาร ซึ่งทำไห้เห็นความเหลื่อมล้ำ
————-
ตำรวจสหรัฐอเมริกา – กระจายอำนาจได้ดี แต่ยังมีปัญหาที่ต้องปฏิรูป
✏️สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบตำรวจที่ซับซ้อน และกระจายอำนาจได้มากที่สุดในโลก เพราะไม่มีระบบตำรวจแห่งชาติ แต่จะเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ตามพื้นที่ ทุกชุมชนจะมีสิทธิ์ดำเนินงานภายในเขต แต่ไม่สามารถขัดอำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางหรือรัฐไม่ให้สอบสวนในท้องถิ่นเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นในเขตได้ และยังเป็นการ ‘ลดทอนอำนาจ’ ของตำรวจได้อย่างดี
✏️โดยจะมีหน่วยงานหลัก 5 ประเภท และหน่วยงานย่อยนับหมื่น มีชั้นยศที่น้อย เน้นการแบ่งความรับผิดชอบตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยมีหน้าที่หลัก 3 ด้าน คือ
- รักษาความสงบและดูแลความปลอดภัย
- บังคับใช้กฎหมาย
- ให้บริการฉุกเฉิน
✏️ รายได้ของตำรวจสหรัฐฯ อยู่ที่ราว ๆ 100,000 บาทต่อเดือน โดยแตกต่างต่างกันตามแต่ละรัฐ และตามหน้าที่ที่รับผิดชอบในโครงสร้าง
✏️แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดเหตุการณ์ตำรวจใช้วิธีการโหดร้ายกับผู้คน โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยและคนสีผิวอย่างไม่หยุดยั้ง ดังกรณีของ ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ผู้ต้องผิวสี ที่โดนตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดลงบนคอจนนำมาซึ่งความสูญเสีย
✏️โศกนาฏกรรมนี้นำมาสู่การประท้วงที่ลุกลามไปทั่วโลกหรือ #Blacklivesmatter และเกิดการปฏิรูปวงการตำรวจในสหรัฐฯ
ที่มา : Rethinkthailand, The101, BBC, Thaipublica, Mathichon, Thestandard, Techhub, Parliament, Marketingoops