โรงสีปู่เจ้า🌾เรียนรู้วิถีเกษตรดั้งเดิมพังงา กับกลุ่มปลูกข้าวทับปุด

Highlight

เวลาเลือกซื้อสินค้าเกษตรแต่ละครั้ง เชื่อว่าผู้บริโภคอย่างเราคงต้องประเมินปัจจัยหลายอย่าง ในยุคที่สารเคมีแพร่หลาย เทคโนโลยีก้าวหน้า และกระแสของทุนนิยมเติบโต ต่างเร่งเร้าให้ผู้ผลิตเน้นการสร้างผลผลิตมากที่สุดโดยต้นทุนน้อยที่สุด ความกังวลด้านความสะอาด คุณภาพและความปลอดภัยจึงมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมี ‘สินค้าเกษตรอินทรีย์’ ที่ตอบโจทย์ Pain Point ของผู้บริโภคข้างต้น แต่ถึงอย่างนั้น สินค้าปลอดสารก็มาพร้อมราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้บริโภคหลายคนวิตกอีกว่าจ่ายมากกว่าจะคุ้มค่าแค่ไหน เนื่องจาก ตลาดทั่วไปอาจมีสินค้าที่เซฟเงินในกระเป๋ามากกว่าหรือบางรายก็เลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสารตกค้างด้วยความจำใจ

ที่มาของราคาแรง ความคุ้มค่าที่แลกด้วยความปลอดภัย

สินค้าเกษตรอินทรีย์ คือ สินค้าเกษตรที่ผลิตโดยกรรมวิธีทางธรรมชาติบนพื้นที่ปลอดสารพิษและสารตกค้าง ปราศจาการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และมีการควบคุมการปนเปื้อนสารทั้งทางดิน น้ำ และอากาศอย่างเป็นระบบ เพื่อความสมบูรณ์ทางชีวภาพในระบบนิเวศและผลผลิตที่มีคุณภาพ

องค์กรการอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้อธิบายปัจจัยที่ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปในท้องตลาดไว้ 3 ปัจจัย ดังนี้

1.พื้นที่ของเกษตรอินทรีย์มีจำกัด กว่าจะผ่านการประเมินพื้นที่เกษตรสะอาด ปลอดสารแบบ 100% ต้องใช้เวลาฟื้นฟูและดูแลเป็นเวลานาน 

2. การควบคุมคุณภาพต้องใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง การแปรรูป การจัดการมาตรฐาน ซึ่งต้องแยกขาดจากสินค้าทั่วไปส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง 

3. ปริมาณผลผลิตค่อนข้างน้อยสวนทางกับความต้องการของผู้บริโภค ราคาจึงสูงตามกลไกตลาด และเกษตรกรต้องมีใจรักอย่างแท้จริง

เส้นทางจากจุดเริ่มต้นมาเป็นดอก เป็นผล ส่งผ่านไปถึงมือผู้บริโภคได้กิน ได้ใช้ จึงผ่านความอดทน ความเอาใจใส่ และความคิดสร้างสรรค์ของเกษตรกรเพื่อสร้างผลผลิตที่ไร้สารพิษ และเป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย

ทางน้ำสู่ ‘สังคมอินทรีย์’ : ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ
ผนวกการท่องเที่ยวกับวิถีเกษตรด้วยแนวคิดความยั่งยืน

จากที่กล่าวมาดูเหมือนว่า ‘เกษตรอินทรีย์’ กำลังยืนอยู่บนทางแยกระหว่าง ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ข้อดีก็มีมากทั้งประโยชน์ต่อโลกและผู้บริโภค แต่ข้อด้อยก็น่าหนักใจไม่น้อย เนื่องจากปัญหาราคา ความซับซ้อนการผลิตและการแบกรับต้นทุนของเกษตรกร

หากว่าเราจะสร้าง ‘สังคมอินทรีย์’ อาจต้องเริ่มต้นจากแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เน้นการส่งเสริมและสนับสนุนความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งแนวทางดังกล่าวกำลังถูกขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ โดยการผนวกรวมความเป็นเกษตรอินทรีย์กับการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน 

ปัจจุบัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวคิด BCG Model อย่างเป็นรูปธรรมโดยร่วมมือกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (Thai Organic Consumer Association: TOCA) ส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าใจเกษตรอินทรีย์ และสัมผัสกับประสบการณ์ไปกับการท่องเที่ยววิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อปลูกฝังความเข้าใจเรื่องของผลิตภัณฑ์และวิถีเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนเครื่องมือในการเชื่อมโยง Value Chain รวมถึงมีการสร้างเส้นทาง Organic Farm Trip ที่ช่วยสร้างความรู้ และความเข้าใจในวิถีเกษตรอินทร์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่าน TOCA Platform และ Earth Points System อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อน BCG Tourism ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

‘ต้นน้ำ’ หมายถึง เกษตรกร ในที่นี้ หากเกิดความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรหวนกลับสู่เกษตรกรรมปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์มากขึ้น พื้นที่เกษตรจะสามารถพัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ชูจุดเด่นเรื่องความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมได้ สินค้าและผลผลิตทางการเกษตรยังเป็นสินค้าคุณภาพที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ขณะที่ ‘กลางน้ำ’ คือ การร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก เพื่อส่งเสริมการนำสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปสร้างเป็นสินค้าและบริการแก่นักท่องเที่ยว ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณค่าของสินค้าเกษตรอินทรีย์อีกขั้น ท้ายที่สุด ‘ปลายน้ำ’ คือ นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคที่จะเข้าใจองค์ประกอบของเกษตรอินทรีย์นำไปสู่การเปิดใจยอมรับและหันมาสนับสนุนสินค้าเกษตรกรต่อไป

เมื่อการยอมรับสินค้าเกษตรอินทรีย์มีมากขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการผลิตมากขึ้น สินค้าเกษตรอินทรีย์จะสามารถสร้างตลาดที่การแข่งขันด้านคุณภาพ ซึ่งจะมาเติมเต็มช่องโหว่เรื่องของราคา สะท้อนให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความคุ้มค่าทางด้านโภชนากรและการส่งเสริมความยั่งยืนในลำดับต่อไป

โรงสีปู่เจ้า – ข้าวไร่ดอกข่า 🌾 สินค้าอินทรีย์จากแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตร

โรงสีปู่เจ้าเป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยววิถีเกษตรที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก อู๋-โรจนินทร์ ม่วงเพชร อดีตพนักงานเงินเดือนที่หวนคืนสู่บ้านไร่และผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวจากความชอบ (หรือที่วัยรุ่นมักจะพูดกันว่า ‘Passion’) ในเรื่องข้าว นำไปสู่การจัดการพื้นที่เกษตรเดิมของครอบครัวกว่า 14 ไร่ ใหม่กลายเป็นแหล่งที่อยู่ โรงสีข้าว และทำเกษตรสวนผสม ได้แก่ นาข้าว แหล่งสะสมสายพันธุ์ไผ่ แปลงไม้ผล แปลงผัก 

พื้นที่ของโรงสีปู่เจ้าเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรเพื่อความยั่งยืนตามแนวทางต้นแบบการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism) เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว เรื่องการปลูกข้าวพื้นถิ่น คือ ‘ข้าวไร่ดอกข่า’ ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมของ จ.พังงา โดดเด่นด้วยสีม่วงอมน้ำตาล และอุดมด้วยกาบามากกว่าข้าวจากแหล่งอื่น

‘ข้าวไรดอกข่า’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างคนท้องถิ่นและธรรมชาติในการสร้างผลผลิตที่มีความเฉพาะตัว แตกต่างจากสินค้าทั่วไปในตลาด และเป็นสิ่งการันตรี ‘คุณภาพ’ ‘ชื่อเสียง’ หรือ ’คุณลักษณะเฉพาะ’ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ อีกด้วย 

รูปแบบการท่องเที่ยววิถีเกษตรของโรงสีปู่เจ้าขับเคลื่อนไปบนพื้นฐาน Gastronomy Tourism ร่วมกับการทำวิสาหกิจชุมชนแบบครบวงจร ปลูกข้าวเอง มีโรงสีข้าวเอง และขายข้าวเอง รวมไปถึงการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ขนมจีนกึ่งสำเร็จรูป คุกกี้ หรือข้าวหลาม เพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและลดบทบาทจากพ่อค้าคนกลาง

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ TOCA Platform เชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ของชุมชนกลุ่มปลูกข้าวทับปุด จ.กระบี่ วางจำหน่ายบนออนไลน์ และประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวที่สนใจกรรมวิธีการปลูกข้าว การพัฒนาพื้นที่เกษตรแบบสวนผสม ให้สามารถเข้ามาเยี่ยมชม เรียนรู้ และทำกิจกรรมแบบสไตล์ชาวบ้านทับปุด ที่ได้ทั้งความสนุกสนาน และเพลินเพลิดกับอาหารสุดอร่อยจากข้าวไร่ดอกข่าที่หาไม่ได้ที่ไหนในไทยแน่นอน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอินทรีย์กับ TOCA

#TOCA #เกษตรอินทรีย์ #โรงสีปู่เจ้า #earthpoint #organictourism 

ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย, TOCA Platform, กรีนเนท, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), กรมทรัพย์สินทางปัญญา, ข่าวสด

Popular Topics