#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร การชุมนุมครั้งใหญ่แห่งปี 2563 ที่มีการปักหลักค้างคืนเป็นครั้งแรก รวมแนวร่วมประชาธิปไตย เช่น กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มนักเรียนเลว อีสานพอกันที ผู้หญิงปลดแอก กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนใต้ นิสิตจุฬาฯ และอีกมากมาย พร้อมใจแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี คาดว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึงหลักแสนคน
.
การชุมนุมครั้งนั้นได้ขยับเพดานข้อเรียกร้อง โดยตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง (หลังจากที่เคยดันเพดานในการชุมนุมวันที่ 16 ส.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต) ผ่านการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองผ่านวัตถุ สถานที่ และการกระทำ
.
สัญลักษณ์ที่ปรากฎขึ้นในวันนั้นจนถึงวันนี้ เปลี่ยนเป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าบางสิ่งรูปร่างจะหายไป แต่นิยามทางความหมายยังตราตรึง และเป็นที่จดจำอยู่ในหัวใจของประชาชน ย้ำเตือนอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นใน ‘พลังประชาชน’ ไม่ได้จางหายไป
.
ผ่านพ้นเวลามาครบ 1 ปีแล้ว ผู้มีอำนาจยังคงเพิกเฉยต่อการเรียกร้องของผู้ชุมนุม นายกฯ ไม่ลาออกจากตำแหน่ง การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้น และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่มีความคืบหน้า
.
การบริหารจัดการโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีมาก่อนชุมนุม 19 ก.ย. 63 ปัจจุบัน สถาณการณ์ยังไม่คลี่คลาย มีความผิดพลาดจนทำให้ประเทศเสียหาย กระแสการชุมนุมจึงยกระดับมากขึ้น ประชาชนลงท้องถนนเพื่อทวงถามความรับผิดชอบของรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลไม่มีท่าทีจะรับฟังข้อเสนอของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
.
#AGENDA พาทุกคนทบทวนสัญลักษณ์ทางการเมือง จาก ‘ราษฎร’ ถึง ‘รัฐ’ สู่ ‘ราชย์’ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีกครั้ง
.
1. จิตวิญญาณธรรมศาสตร์
.
สถานะปัจจุบัน : คลุมเครือ
.
11 ก.ย. 63 รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้นำพวงหรีดสีเหลืองแดง ไปวางหน้ารูปปั้น อ.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฟ้องว่ามหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดการชุมนุม เนื่องจากก่อนหน้าวันชุมนุมไม่ถึงสัปดาห์มีเอกสารจากมหาวิทยาลัยประกาศออกมาว่าปิดการเรียนการสอนและงดใช้พื้นที่
.
ในวันที่ 19 ก.ย. 63 ก็เป็นเช่นนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปิดประตูรั้ว และปิดล็อกด้วยการคล้องโซ่พร้อมแม่กุญแจขนาดใหญ่ ป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปได้ แต่ด้วยพลังของประชาชนก็ได้มีการผลักประตู และบางส่วนใช้คีมตัดกุญแจออก กระทั่งเข้าไปยังบริเวณสนามหญ้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำเร็จ
.
“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ประโยคที่สะท้อนจิตวิญญาณธรรมศาตสตร์ ถูกนำมาตั้งคำถามไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าเหตุใดจึงไม่อนุญาตให้ประชาชนมาชุมนุมในพื้นที่อย่างสงบ ราวกับว่าจิตวิญญาณเพื่อประชาชนได้เลือนหายไปพร้อมกับการยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการ
.
2. สนามหลวง
.
สถานะปัจจุบัน : โบราณสถาน (ไม่ยึดโยงกับประชาชนดังเดิมและห้ามให้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง)
.
การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แนวร่วมได้เปิดทางเข้ามาปักหลักชุมนุมในท้องสนามหลวง ย้ายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะพื้นที่รองรับผู้ร่วมชุมนุมไม่เพียงพอ ถือเป็นการรื้อฟื้นบทบาทสัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์การเมือง สนามหลวงได้เป็นสถานที่สำหรับการต่อสู่ทางการเมืองของประชาชนอีกครั้ง
.
พื้นที่ลานกว้างถูกนิยามใหม่เป็น “สนามราษฎร” ตอกย้ำว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย พึงมีสิทธิในพื้นที่สาธารณะสมบัติ สนามหลวงถูกใช้เป็นสถานที่ปราศรัยถึงปัญหาของประเทศ การเรียกร้องประชาธิปไตย การต่อต้านอำนาจเผด็จการ และตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก่อนที่เช้าตรู่ วันที่ 20 ก.ค. 63 กลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมได้ทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2
.
สนามหลวง เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ตลาดการค้า พื้นที่ประกอบพระราชพิธี รวมถึงพื้นที่แห่งการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหาร ทว่าในยุคของ คสช. ความใกล้ชิดระหว่างสนามหลวงกับประชาชนถูกแยกออกผ่านการกั้นด้วยรั้วเหล็ก และมีความกังวลว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 อาจทำให้ “สนามหลวง” ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์
.
หลังจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ภาครัฐพยายามนำเสนอว่าสนามหลวงเป็นโบราณสถาน การใช้พื้นที่ต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จึงไม่สามารถใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองได้เหมือนในอดีต
.
3. หมุดคณะราษฎร 2563
.
สถานะปัจจุบัน : ถูกถอดเป็นของกลาง (แต่ถูกทำซ้ำและฝังอยู่ในหัวใจประชาชน)
.
หมุดคณะราษฏรที่ 2 หรือ หมุดคณะราษฎร 2563 เป็นหมุดทองเหลืองรำลึกถึงหมุดคณะราษฎรเดิมที่หายสาบสูญไป ส่วนประกอบของหมุดสื่อความหมายการต่อสู้ ได้แก่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 11.6 นิ้ว แสดงถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมีความหนา 2.563 นิ้ว ซึ่งหมายถึงปีที่ทำการฝังหมุด คือ พ.ศ.2563
.
ด้านบนหมุดเป็นภาพมือที่ชูสามนิ้วและมีรัศมีเปล่งเป็นเส้นตรงจำนวน 10 เส้น ซึ่งหมายถึงข้อเรียกร้อง 10 ประการของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่เกี่ยวกับการแก้ไขพระราชอำนาจและกฎหมายความผิดต่อพระมหากษัตริย์ไทย
.
หมุดถูกฝังลง ณ สนามหลวงในเหตุการณ์ชุมนุมเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2563 และมีข้อความที่สลักอยู่บนหมุด คือ “20 กันยายน เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” ส่งสัญญาณความหวังให้ “อำนาจจะกลับมาที่ราษฎรอีกครั้ง”
.
หลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง หมุดดังกล่าวถูกถอนออกไป โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชนะสงคราม นำไปเป็นของกลางในคดีการทำลายโบราณสถาน ซึ่งไม่ได้เกินความคาดหมายของแกนนำชุมนุม วัตถุของจริงอาจหายไป แต่ความหมายได้ถูกฝังลงในหัวใจของพี่น้องประชาชน
.
หลังจากนั้น หมุดถูกทำซ้ำและดัดแปลงไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นับว่าหลัง #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หมุดคณะราษฎรก็กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการต่อสู่เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน
.
4. จดหมายปิดผนึกยืนต่อองคมนตรี
สถานะปัจจุบัน : ไม่ปรากฎการได้รับจดหมาย
.
ช่วงกลางคืนของ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แกนนำประกาศว่าเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2563 จะมีการเดินทางไปยื่นจดหมายปิดผนึกว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อเสนอ 10 ข้อ และ 3 ร้องเรียกร้องต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่เช้าวันรุ่งขึ้นไปเปลี่ยนเป้าหมายไปทำเนียบองคมนตรีแทน
.
รถปราศรัยและขบวนผู้ชุมนุมมุ่งเดินทางสู่พระราชอุทยานสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังปิดกั้นถนนบริเวณหน้าศาลฎีกา ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถผ่านไปได้ รุ้ง ปนัสยาจึงเป็นตัวแทนไปเจรจาซึ่งมี พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์
.
ท้ายที่สุด พล.ต.ท.ภัคพงศ์ เป็นตัวแทนรับจดหมายเปิดผนึกของผู้ชุมนุม และให้คำสัญญาว่าจะไปยื่นที่ทำเนียบองคมนตรีให้ตามความประสงค์ของผู้ชุมนุม รุ้ง ปนัสยาจึงได้อ่านเนื้อหาของจดหมายปิดผนึกให้ ผบช.น. ฟัง ต่อหน้าสื่อมวลชนและผู้ชุมนุม ก่อนส่งมอบจดหมาย นำมวลชนกลับมาที่สนามหลวง และประกาศชัยชนะของการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
.
ยังไม่มีการยืนยันว่าจดหมายปิดผนึกดังกล่าวไปถึงประธานองคมนตรีหรือไม่ แต่กระแสการชุมนุมแสดงออกว่าผู้ชุมนุมให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ทางด้านแกนนำชุมนุมกล่าวว่า “ข้อเรียกร้องหาได้เสนอเพื่อล้มล้างสถาบันฯ ไม่ หากแต่ให้สถาบันดำรงอยู่เป็นมิ่งขวัญของประชาราษฎร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป”
.
5. 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล
.
สถานะปัจจุบัน : นายกฯ ไม่ลาออก / รธน. มีความพยายามแก้ไข / สถาบันกษัตริย์ไม่มีการปฏิรูป
.
ข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ประกอบด้วย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
.
จากวันนั้นจนวันนี้ ยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญของรัฐต่อข้อเรียกร้อง ความคืบหน้าล่าสุด คือ การแก้รัฐธรรม ซึ่งไม่ใช่ร่างตามความประสงค์ของผู้ชุมนุมขณะนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของการเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบและการคิดคะแนน สส. เท่านั้น
.
อุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้รับการตอบสนอง ประชาชนเพียงแค่ต้องการส่งเสียงความต้องการจาก “ราษฎร” ถึง “รัฐ” สู่ “ราชย์”
.
ด้วยความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ดึงประเทศไทยหลุดพ้นจากหล่มความอยุธิธรรมและความเหลื่อมล้ำ #ให้มันจบที่รุ่นเรา และต้องการให้ผู้มีอำนาจจะยอมรับฟังมากขึ้น โดยไม่ต้องเผชิญหน้าหรือเกิดความสูญเสียอย่างอดีตที่เป็นมา
——-
“ศักดินาจงพินาศ ประชาชาติจงเจริญ”
——-
#ม็อบ19กันยา
.
ที่มา : The Standrad, The Matter, The Momentum, The101.world, BBC Thai, Matichon Online, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw, ThaiPBS