ย้อนรอย 4 เหตุการณ์ สารเคมีรั่วไหล เดือดร้อนแค่ไหนเยียวยาอย่างไรบ้าง?

Highlight

อันตรายถึงชีวิต สารพิษรั่วไหล วิกฤตใหญ่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ☢

พาย้อนรอย 4 เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล เดือดร้อนแค่ไหน และมีการเยียวยาอย่างไรบ้าง?

.

การใช้สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ระบบการผลิตและการควบคุมคุณภาพเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนการผลิตต่างๆ สร้างผลบวกให้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้การควบคุมและบริหารจัดการอย่างเข้มงวด

.

แต่ในทางกลับกัน การใช้สารเคมีบางประเภทในอุตสาหกรรม อาจมีอันตรายหากเกิดการรั่วไหลหรือปนเปื้อนไปสู่แหล่งที่พักอาศัยหรือชุมชน ซึ่งการรั่วไหลของสารเคมี นอกจากจะเป็นอันตรายโดยตรงแก่ผู้ที่ได้รับสัมผัสแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมส่วนรวมอีกด้วย

.

#Agenda พาย้อนรอยไปดู 4 เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลครั้งใหญ่ สร้างผลกระทบเสียหายแค่ไหน ? และที่มาผ่านมีแนวทางรับมืออย่างไรมาแล้วบ้าง ? 

.

1) น้ำมันรั่ว Deepwater Horizon (2010) – สหรัฐอเมริกา 

.
ปี 2010 แท่นจุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ของบริษัท บริติช ปริโตเลี่ยม จำกัด เกิดการรั่วไหลลงสู่ทะเลในอ่าวเม็กซิโก นับว่าเป็นหนึ่งอุบัติเหตุที่ถูกบันทึกว่าเป็น ‘มหันตภัยจากน้ำมือมนุษย์ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์’ เพราะปริมาณน้ำดิบที่รั่วออกมาสูงเฉลี่ยถึงวันละ 6 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
.
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคราบน้ำมันไหลสู่ทะเลและตกค้างตามแนวชายหาดกินพื้นที่กว่า 176,100 ตารางกิโลเมตร ยังพบ “PAHs” (Polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งจัดเป็นสารพิษรุนแรงทำให้ออกซิเจนในท้องทะเลลดลงจนสิ่งมีชีวิตเกือบ 8,332 สายพันธุ์ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนคราบน้ำมัน คาดว่าอาจมีสัตว์ราว 900,000 ตัวต้องตายจากการรั่วไหลครั้งประวัติศาสตร์นี้
.
บทสรุปของเหตุการณ์น้ำมันรั่ว กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงกับบริษัท บริติช ปริโตเลี่ยม จำกัดให้ชดใช้ค่าปรับและรับผิดชอบคิดเป็นเงินกว่า 4.525 พันล้านเหรียญ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้สารเคมีช่วยดักจับคราบน้ำมันและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปีให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์

.

2) โคลนพิษ Ajka Alumni (2010) – ฮังการี

ในปี 2010 กำแพงอ่างกักเก็บของเสียจากโรงงาน Ajka Alumni เกิดการทรุดตัวและพังลง ส่งผลให้ของเสียที่มีส่วนผสมของโลหะหนักต่าง ๆ อาทิ สารตะกั่ว แคดเมียม สารหนู กว่า 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงสู่บริเวณใกล้เคียง เข้าท่วมหมู่บ้านในละแวกนั้นอย่างรวดเร็ว โดยมีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายโคลนสีแดง ระดับความสูงกว่า 2 เมตร พัดพาข้าวของเครื่องใช้ รถยนต์ และคร่าชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก

.

นอกจากนั้น โคลนพิษดังกล่าวยังไหลไปจนถึงแม่น้ำสายย่อยของแม่น้ำดานูบ ทำให้ค่าความเป็นด่างในแม่น้ำพุ่งสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์ในแม่น้ำ โดยผู้เชี่ยวชาญต้องทำการปรับสภาพความเป็นด่างของน้ำ เพื่อไม่ให้ส่งกระทบไปยังประเทศอื่น ๆ ที่แม่น้ำดานูบไหลผ่าน

.

ภายหลังจากโคลนพิษเข้าท่วมหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ได้ทำการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยและขนย้ายไปยังสถานที่หลบภัยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการทำเขื่อนจากปูนปลาสเตอร์เพื่อเป็นแนวกั้นไม่ให้โคลนพิษไหลลงสู่แม่น้ำ และสร้างเครือข่ายในการกระจายข่าวสารเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้ถึงเหตุต่าง ๆ อย่างรวดเร็วอีกด้วย

.

3) สึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (2011) – ญี่ปุ่น

เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ในทะเล และทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูงมากกว่า 10 เมตร เข้าถล่ม ‘โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ’ โดยทลายแนวป้องกันคลื่นที่มีความสูงเพียง 5 เมตร สร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ส่งผลให้แท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดการหลอมละลาย และเกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้ง 

.

ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง โดยรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และสั่งให้มีการอพยพผู้คนในระยะ 10 กิโลเมตรออกจากพื้นที่ในทันที ส่งผลให้ผู้คนมากกว่า 300,000 คนต้องอพยพเป็นการเร่งด่วน

.

หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับบริษัท TEPCO ในการคิดค้นและออกแบบหุ่นยนต์เพื่อเข้าเก็บกู้แท่งกัมมันตภาพรังสีที่อยู่ในเตาปฏิกรณ์ เเต่เนื่องจากหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นนั้นไม่สามารถทนทานต่อสารกัมมันตภาพรังสีในโรงไฟฟ้าได้ จึงทำให้ปฏิบัติการล้มเหลว ซึ่งยังคงมีความพยายามในการสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทนปริมาณสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณสูงขึ้นมาอีกครั้ง

.

มีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดสารกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อเป็นการระบายน้ำจากแท็งก์น้ำในโรงไฟฟ้าที่มีความจุใกล้เต็ม แต่ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยหารือถึงแนวทางเพื่อหาข้อสรุปกันต่อไป ซึ่งคาดว่าอาจใช้ระยะเวลานานถึง 40 ปี ในการกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีให้หมดไปจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้

.

4) โรงงานระเบิด Chempark (2021) – เยอรมนี 

โรงงานเผาขยะในนิคมอุตสาหกรรม Chempark ชานเมืองเลเวอร์คูเซ่นได้เกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง เกิดกลุ่มควันลอยขึ้นท้องฟ้าซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากระยะไกล จากการสืบสวนพบว่า เกิดการระเบิดขึ้นตรงพื้นที่ตั้งของโรงงานเผาขยะเคมี โดยคาดว่าเกิดจากขยะบางชนิดที่รับความร้อนเป็นระยะเวลานานและเกิดการระเบิดออกมา

.

เหตุระเบิด ได้ถูกแจ้งเตือนแก่ประชาชนในละแวกใกล้เคียงผ่านแอปพลิเคชัน NINA ถึงสถานการณ์อันตรายดังกล่าว และแนะนำให้ประชาชนทุกคนอยู่ภายในบ้าน ปิดประตู หน้าต่างอย่างมิดชิด หลีกเลี่ยงการรับประทานพืชผักต่าง ๆ ที่มาจากสวนของตนเอง รวมทั้งประกาศปิดสถานที่สาธารณะบางแห่ง เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญกลัวถึงอันตรายจากสารเคมีที่อาจปนเปื้อนไปกับอากาศอีกด้วย

.

ก่อนที่ช่วงกลางคืนจะมีประกาศจากทางเมืองว่า ระดับมลพิษในอากาศอยู่ในระดับปกติแล้ว และทยอยลดระดับการเฝ้าระวังลง แต่ยังคงแนะนำให้ประชาชนระวังถึงคราบเขม่าที่มาจากควันไฟ ห้ามทำการสัมผัสหรือทำความสะอาดเขม่าควัน จนกว่าจะมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญว่าไม่เป็นอันตรายเท่านั้น

.

ทั้ง 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนผลกระทบของการรั่วไหลของสารเคมี ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได่แก่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งความเสียหายที่เกิดในแต่ละครั้งต่อชีวิตมนุษย์คิดเป็นมูลค่ามหาศาลและอาจประเมินค่าไม่ได้กับสิ่งแวดล้อมที่อาจเสื่อมสภาพลงไป 

.
การป้องกันที่ดีจะช่วยลดอุบัติเหตุจากสารเคมีรั่วไหล แต่หากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วในที่สุด ทำอย่างไรจึงจะลดผลกระทบให้น้อยที่สุด การควบคุมและกำกับดูแลการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรม การวางมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และกำหนดนโยบายระยะยาวเพื่อป้องกันเหตุสารเคมีรั่วไหลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตอย่างจริงจังผ่านการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน 

.

ที่มา : World Nuclear Association, Britannica, Discover, The Atlantic, IFRC, Al jazeera, wsws, Royal Society of Chemistry, EPA

Popular Topics