เพราะทางเท้าควรปลอดภัยสำหรับทุกคน
แต่มีทางเท้ากี่จุดในประเทศไทยที่สมบูรณ์แบบ กว้างพอ ไม่มีกับระเบิดน้ำเน่า ไม่ตะปุ่มตะป่ำ ไม่มีสิ่งกีดขวาง?
เราแทบนึกภาพทางเท้าแบบนั้นไม่ออก เพราะเรามีปัญหาการจัดการดูแลทางเท้ากันมาหลายปีแล้ว
และเมื่อเทียบการจัดการทางเท้าของเรากับต่างประเทศก็ยิ่งเห็นชัดว่ามีปัญหา
แล้วลองนึกภาพดูว่าการเดินทางด้วยเท้าจะยากลำบากขึ้นขนาดไหน หากคุณเป็นผู้พิการทางสายตา
นอกจากผู้พิการทางสายตาจะต้องเจอปัญหาทางเท้าแบบเดียวกับเราแล้ว
ยังมีคนพบว่า #เบรลล์บล็อก สิ่งที่ผู้พิการทางสายตาอาศัยเป็นตัวช่วยนำทางบนทางเท้า ยังถูกกีดขวางในบางจุด ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริงด้วย
เบรลล์บล็อกเหล่านี้คืออะไร สำคัญแค่ไหนกับผู้ใช้งาน มาดูกัน
——
ทำความรู้จัก #เบรลล์บล็อก
บล็อกลวดลายสีเหลืองสดใส (หรือหม่นๆ จากฝุ่น) บนทางเดินเท้าเหล่านี้ คือ แผ่นปูพื้นที่มีสัญลักษณ์บนทางเท้าสำหรับเตือนและนำทางผู้พิการทางสายตา มีไว้เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ทางเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย
มันมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เบรลล์บล็อก (Braille Block)” คิดค้นโดย Seiichi Meyaki ครูโรงเรียนสอนคนตาบอดชาวญี่ปุ่น พัฒนาต่อยอดมาจากอักษรเบรลล์และทดลองใช้มันที่หน้าโรงเรียน จนกระทั่งเบรลล์บล็อกได้รับการยอมรับและแพร่หลายไปทั่วโลก
ชนิดของเบรลล์บล็อกจะมีลักษณะที่บอกความหมายแตกต่างกันไป
นี่คือเบรลล์บล็อก 6 แบบที่พบเห็นได้ทั่วไป
1. บล็อกหยุด (Blister)
ความหมาย : หยุด ก่อนข้ามถนน
– ปุ่มกลมนูน เรียงเป็นแถวขนานกัน
– ติดตั้งไว้ก่อนถึงทางม้าลาย หรือ ทางข้าม
2. บล็อกชานชาลา (Offset blister)
ความหมาย : สิ้นสุด พื้นที่ปลอดภัย
– ปุ่มกลมนูน เรียงเป็นแถวไขว้กัน
– บริเวณขอบชานชาลา สถานีรถไฟ รถไฟฟ้า รถราง
3. บล็อกป้ายรถเมล์ (Lozenge)
ความหมาย : หยุดรอ รถประจำทาง
– แถบสี่เหลี่ยมปลายมนนูน เรียงแถวกัน
-ติดตั้งบนขอบถนนที่มีการสัญจรไปมา
4. บล็อกเตือนอันตราย (Corduroy)
ความหมาย : ระวัง อันตรายข้างหน้า
– ครึ่งหนึ่งของแท่งกลมยาว เรียงตามกว้างของบล็อก
– ติดตั้งไว้ก่อนทางต่างระดับ บันได
5. บล็อกเส้นทางจักรยาน (Cycleway)
ความหมาย : สิ้นสุด ทางเท้า-จักรยาน
– แท่งแบนยาว เรียงตามกว้างของบล็อก
– แบ่งเขตระหว่างทางเท้าและทางจักรยานที่อยู่ระดับเดียวกัน
6. บล็อกนำทาง (Direction)
ความหมาย : นำทาง อย่างปลอดภัย
– แท่งแบนยาวปลายมน เรียงตามกว้างของบล็อก
– เส้นทางเดินที่ไร้สิ่งกีดขวางใดๆ
——
รู้ไหมว่า ผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย มีทั้งหมด 190,767 คน ที่ต้องประสบปัญหาทางเท้าที่ไม่ปลอดภัย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เรายังเห็นผู้คนเก็บภาพทางเท้าไร้คุณภาพขึ้นมาตั้งคำถาม ว่านี่คือคุณภาพชีวิตที่เราสมควรได้รับกันจริง ๆ หรือ?
ที่มา:
– https://www2.mtec.or.th/th/e-magazine/admin/upload/229_77-80.pdf
– https://www.scholarship.in.th/braille-blocks-and-their-meaning/
– https://dep.go.th/images/uploads/files/situation31mar64.pdf
– https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2079281