93% ของคนไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก
จำนวนวัดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 200 แห่ง ต่อปี
แต่จำนวนพระกลับลดลงเฉลี่ย 10,000 รูป ต่อปี
.
พุทธศาสนากำลังเฟื่องฟูหรือถดถอย?
จำนวนพระกับวัดทำไมถึงสวนทางกัน สาเหตุเป็นอะไร?
#Agenda สรุปมาให้แล้ว
.
“ศาสนาพุทธ” ถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติของคนไทยไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะจากผลสำรวจของศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านศาสนา พบว่าคนไทยจำนวนมากถึง 93% นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก ทำให้จำนวนวัดในประเทศไทยมีจำนวนเยอะและกระจายตัวอยู่กันทั่วประเทศ แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ จำนวนพระสงฆ์ที่มีจำนวนลดน้อยลงสวนทางกับจำนวนวัดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
.
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 5 ปีหลังสุด แสดงให้เห็นว่าจำนวนพระในประเทศไทยลดลงมากกว่า 80,000 รูป แต่กลับมีจำนวนวัดสร้างใหม่มากถึง 1,300 แห่ง ทำให้สัดส่วนพระและวัดของทั่วประเทศลดลงจากเดิมที่เคยมีพระ 8 รูป ต่อวัด 1 แห่ง เหลือเพียงพระ 5 รูป ต่อวัด 1 แห่งเท่านั้น
.
โดยจังหวัดที่มีจำนวนพระสงฆ์ต่อ 1 วัดมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
– จังหวัดกรุงเทพฯ มีพระสงฆ์ต่อ 1 วัด ถึง 32 รูป โดยมีจำนวนวัด 457 แห่ง และพระสงฆ์ทั้งหมดในจังหวัด 14,729 รูป
– จังหวัดสมุทรปราการ มีพระสงฆ์ต่อ 1 วัด 19 รูป โดยมีจำนวนวัด 127 แห่ง และพระสงฆ์ทั้งหมดในจังหวัด 2384 รูป
– จังหวัดปทุมธานี มีพระสงฆ์ต่อ 1 วัด 16 รูป โดยมีจำนวนวัด 196 แห่ง และพระสงฆ์ทั้งหมดในจังหวัด 3171 รูป
.
สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนพระสงฆ์ต่อ 1 วัด น้อยที่สุดคือ จังหวัดยโสธร ที่มีพระสงฆ์ต่อ 1 วัด เพียงแค่ 2 รูปเท่านั้น โดยมีจำนวนวัด 706 แห่ง และพระสงฆ์ทั้งหมดในจังหวัด 1260 รูป
.
ทำไมจำนวนวัดเยอะขึ้นสวนทางกับจำนวนพระที่ลดลง?
.
สาเหตุของการที่วัดเยอะขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นเพราะ
.
– วัดยังคงเป็นศาสนสถานที่สำคัญต่อชาวพุทธ
“วัด” เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับชาวพุทธ และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธมาอย่างช้านาน ทั้งงานบวช งานศพ หรือแม้กระทั่งงานแต่ง รวมทั้งวัดบางแห่งยังเป็นสถานศึกษาให้แก่ชุมชนละแวกนั้น ๆ อีกด้วย
.
– หลักเกณฑ์ในการสร้างวัด
เงื่อนไขในการสร้างวัดตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้การสร้างวัดเป็นไปได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่มีทุนและมีเหตุผลที่สนับสนุนได้ว่าการสร้างวัดตรงพื้นที่นั้นเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นก็สามารถตั้งวัดตามกระบวนการได้แล้ว รวมทั้งกฎหมายยังไม่บังคับให้ต้องมีพระสงฆ์ประจำวัดอีกด้วย
.
สาเหตุที่ทำให้จำนวนพระลดลงอย่างต่อเนื่องสวนทางกับวัด อาจเกิดมาจาก
.
– คนรุ่นใหม่เริ่มไม่สนใจในศาสนาพุทธ
แม้วิถีชีวิตของคนไทยจะผูกพันกับวัดมาก และสิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อกันมาผ่านรุ่นสู่รุ่น แต่คนรุ่นใหม่กลับไม่สนใจในเรื่องของศาสนามากนัก เนื่องจากอุปนิสัยที่ชอบตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมเก่า ๆ ประกอบกับประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่ได้เห็นการใช้ศาสนาเป็นสัญลักษณ์ในเชิงอำนาจ การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และพฤติกรรมที่น่าผิดหวังของพระสงฆ์บางกลุ่ม ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่เบนหน้าหนีจากศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้น และทำให้การบวชลดน้อยตามลงไปด้วยนั่นเอง
.
– จุดประสงค์ของการบวชเปลี่ยนไป
นิยาม “การบวช” ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในปัจจุบันการบวชแทบจะกลายเป็นประเพณี อย่าง การบวชเพื่อทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ มากกว่าการบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมเป็นหลัก ทำให้ช่วงระยะเวลาการบวชนั้นสั้นลงจากที่เมื่อก่อนการบวชคือช่วงระยะเวลา 3 เดือน แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้พระสงฆ์มีจำนวนที่น้อยลงนั่นเอง
.
ผลกระทบที่ตามมา?
การขาดแคลน “พระภิกษุ” ที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุด ทำให้ในชุมชนต่างจังหวัดที่ห่างไกลยังคงต้องนิมนต์พระจากท้องที่อื่นหรือวัดอื่นเพื่อมาประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่ชุมชนของตนเองแทน รวมทั้งพระที่อยู่ในวัดที่ห่างไกลส่วนมากมักเป็นพระที่มีหน้าที่ด้านการปกครองเป็นหลัก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจกรรมทางศาสนาอีกด้วย
.
เมื่อขาดผู้ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาไป การเผยแพร่ศาสนาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับแนวคิดของคนยุคใหม่ ยิ่งทำให้ความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเริ่มจะสั่นคลอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
อนาคตของพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อไปว่า จะดำเนินต่อไปในทิศทางอย่างไร จะมีการกระตุ้นหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์อย่างไรหรือไม่เพื่อเป็นการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจมากยิ่งขึ้น และทำให้พุทธศาสนาผลิบานได้เทียบเท่ากับเมื่อยุคสมัยก่อน
.
ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านศาสนา, Thaipublica, Brandbuffet, Brandthink