เกษตรพันธสัญญา รากเหง้าปัญหาเกษตรกรไทย

Highlight

เกษตรกรไทยกับปัญหาความยากจนที่ไม่เคยหมดไป 

ไม่ว่าราคาสินค้าเกษตรจะสูงขนาดไหน เกษตรกรไทยก็ยังคงประสบกับปัญหาความยากจนอยู่เช่นเดิม

วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “เกษตรพันธสัญญา” อีกหนึ่งรากเหง้าปัญหาของเกษตรกรไทยกัน

“เกษตรพันธสัญญา” คือ การทำสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับบริษัทหรือหน่วยธุรกิจ ซึ่งตกลงกันในเรื่องการผลิต จำหน่าย หรือรับจ้าง ผลิตผลทางการเกษตรตามเงื่อนไขที่บริษัทต้องการ เช่น จำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลา โดยบริษัทตกลงที่จะรับซื้อหรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้

.

โดยในประเทศไทยเกษตรพันธสัญญาที่ถือเป็นหัวใจหลักได้แก่การปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่มีนโยบายออกมาสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำกันมากมาย เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

.

การทำเกษตรพันธสัญญาถือว่าเป็นการเปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิมเป็นเกษตรอุตสาหกรรม แม้จะทำให้เกิดข้อดีมากมาย เช่น เป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเกษตรเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็ตามมาด้วยข้อเสียที่มากมายเช่นกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้น คือ 

.

– ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างบริษัทและเกษตรกร

เกษตรพันธสัญญามีลักษณะเป็นข้อตกลงระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจ โดยอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบทางการที่มีบันทึกในระบบ รูปแบบลายลักษณ์อักษรอย่างไม่เป็นทางการ หรือในรูปแบบวาจาก็ได้ แต่ส่วนใหญ่นั้นมักจะไม่ได้อยู่ในระบบหรือเป็นเพียงการตกลงปากเปล่าเสียมากกว่า ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นระหว่างบริษัทและเกษตรกร

.

การตกลงที่ไม่เป็นทางการ เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทอุตสาหกรรมลอยตัวจากปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดข้ึนและปล่อยให้เกษตรกรเป็นคนต้องรับผลแต่เพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ตนเองได้ประโยชน์ทางการค้าและผลผลิตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเกิดปัญหา รวมท้ังบริษัทยังมีอำนาจในการควบคุมการทำงานของเกษตรกร และเข้ามาทำการแทรกแซงได้อีกด้วย

.

นอกจากนี้บริษัทสามารถใช้อำนาจในรูปแบบอื่นในการเอาเปรียบเกษตรกรได้อีกต่างหาก เช่น การขึ้นราคาของปัจจัยในการผลิต ซึ่งโดยปกติเกษตรกรมักจะซื้อปัจจัยในการผลิตต่าง ๆ จากตัวแทนของบริษัทอยู่แล้ว ดังนั้นหากบริษัทจะปรับขึ้นราคาสินค้าเหล่านั้น เกษตรกรก็ไม่สามารถต่อรองได้เลย เช่นเดียวกันกับที่เกษตรกรไม่สามารถต่อราคารับซื้อผลผลิตให้สูงขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

.

ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรกลายเป็น “ผู้ใช้แรงงานในการผลิตบนที่ดินของตนเอง”  ซึ่งต้องแบกรับความเสี่ยงด้านการผลิต ด้านกฎหมาย รวมทั้งในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดลอมและตนเอง ซึ่งสุดท้ายความเป็นอิสระของเกษตกรในการผลิตและการขายก็จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมนั่นเอง

.

– วงจรหนี้สินของเกษตรกรไทย

ปัญหาที่เกิดสืบเนื่องต่อกันมา ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเกษตรกรและบริษัททำให้เกษตรกรตกอยู่ในวังวนการกู้ยืมและหนี้สินไปตลอดทั้งปี เพราะเกษตรกรต้องแบกรับราคาเมล็ดพันธุ์ ราคาปุ๋ย ราคาสารเคมีต่าง ๆ รวมถึงแรงงานและค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวที่ราคามีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับผลผลิตที่สร้างรายได้น้อยลงทุกปี เพราะคุณภาพที่ดินที่เสื่อมสภาพลงจากการทำพืชเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีในการปลูกข้าวโพด

.

รวมทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่มักกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้เป็นทุนในการเพาะปลูกอีกด้วย ถ้าหากกู้ยืมเงินในระบบไม่ได้ ก็จะหันไปพึ่งการกู้นอกระบบที่มีการเก็บดอกเบี้ยมากกว่าแทนและทำเป็นวงโคจรอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดน่าน ที่จากรายงานของ Greenpeace แสดงให้เห็นว่า ช่วงปีที่เกษตรกรในจังหวัดน่านหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น สัดส่วนประชากรที่มีปัญหาความยากจนกลับเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

.

นอกจากปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรของไทยแล้วนั้น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศเช่นกัน 

.

– พื้นที่ป่าถูกทำลาย 

รายงานจาก Greenpeace แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 1,926,229 ไร่ โดยจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่ามากที่สุดคือจังหวัด น่าน เชียงราย และเชียงใหม่

.

– ปัญหามลพิษและฝุ่นควัน

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มักจะมีเศษที่เหลือหลังจากการเก็บเกี่ยวอยู่เสมอ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นจะต้องกำจัดทิ้งเพื่อที่จะได้เตรียมการเพาะปลูกสำหรับฤดูกาลถัดไป การใช้ไฟจึงเป็นวิธีแรกที่พวกเขานึกถึงเนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด โดยมีรายงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุไว้ว่าในจังหวัดเชียงใหม่เคยมีการเผาซังข้าวโพดกลางแจ้งประมาณ 213,624 ตันทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดอนุภาคขนาดเล็กมากถึง 7.28 ตัน

.

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเกษตรพันธสัญญาจะไม่มีข้อดีเลย เกษตรพันธสัญญาจะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อ มีการตกลงที่เท่าเทียมกันสองฝ่ายทั้งทางบริษัทและเกษตรกร โดยมีรัฐเข้ามาควบคุมกำกับและดูแล ทั้งในเรื่องของการตกลงและผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมา แต่จากปัญหาจากทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นก็คงต้องย้อนกลับไปดูว่า ในตอนนี้เกษตรพันธสัญญาของประเทศไทยนั้นเป็นเช่นนั้นแล้วหรือยัง?

.

ที่มา: กรีนพีซ ประเทศไทย, ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Popular Topics