คุณเปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยแค่ไหน?
การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน ไม่ได้เพียงปฏิวัติวงการเทคโนโลยี แต่ยังมาพร้อมโมเดลธุรกิจที่ทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนโทรศัพท์บ่อยขึ้น จากเดิมที่เปลี่ยนเมื่อเก่าเกินใช้งาน ก็มีการใส่ระยะเวลา Support ของระบบปฏิบัติการ การอัพเดทซอฟแวร์ และฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมถึงการเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม ทั้งหมดนี้เป็นการกระตุ้นให้เปลี่ยนเมื่อมีรุ่นใหม่ออกมาทุก ๆ 1-2 ปี
European Commission คาดว่าปี 2022 มีโทรศัพท์ถูกโยนทิ้ง 5.3 พันล้านเครื่อง
และวงจรชีวิตที่สั้นลงของสมาร์ทโฟน เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่เพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ให้มากยิ่งขึ้น
📱 ปริมาณขยะ E-Waste แต่ละปี หนักกว่ากำแพงเมืองจีน
ปริมาณขยะ E-Waste ทั่วโลกในปี 2019 อยู่ที่ 53.6 ล้านตัน หรือเท่ากับรถสิบล้อบรรทุกเต็ม 2 ล้านคัน ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากกว่ากำแพงเมืองจีนเสียอีก
คาดการณ์กันว่าก่อนถึงปี 2030 ขยะ E-Waste ในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้น จนมากถึงปีละ 74 ล้านตัน หรือเท่ากับรถสิบล้อบรรทุกเต็ม 3 ล้านคัน
📱วัตถุดิบขาดแคลน แต่กองขยะเติบโต
ของใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ถูกทิ้งกองเป็นภูเขา ในขณะที่แร่ธาตุสำคัญในการนำมาผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ตาม demand ในระหว่างปี 2021 – 2022 ลิเธียมมีราคาเพิ่มขึ้นถึง 500% และแร่ที่เป็นองค์ประกอบสมาร์ทโฟนหลายชนิด ถูกคาดการณ์ว่าจะหมดลงใน 100 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นแกลเลียม อาร์เซนิก เงิน อินเดียม แทนทาลัม เป็นต้น
📱เก็บลืม มือสอง ค้นกองขยะ
หนทางในการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ หนีไม่พ้นการรียูสและรีไซเคิล เพราะในปัจจุบัน มีขยะ E-waste ไม่ถึง 20% ที่ถูกนำมารีไซเคิล
การรียูส หรือเลือกใช้ของมือสองมากขึ้นกำลังเป็นกระแสในอังกฤษ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ไปจนถึงคนสูงอายุ ที่ต้องการเพียงฟังก์ชันพื้นฐานของมัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตที่สูงขึ้น การเลือกใช้โทรศัพท์มือสองนั้นช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
ส่วนบริษัทที่รับซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสองอย่าง Music Magpie ก็ชี้ให้เห็นว่า ปีที่ผ่านมาซ่อมและขายโทรศัพท์มือสองไปแล้วมากกว่า 4 แสนเครื่อง และจากการสำรวจยังพบอีกว่า มีคนจำนวนมากเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วไว้ที่บ้าน รวมแล้วมูลค่ากว่า 64,000 ล้านปอนด์ทั่วอังกฤษ ทั้งที่สามารถนำมาขายเพื่อรีไซเคิลได้
และจากกองขยะมหาศาลบนโลกตอนนี้ The Royal Society of Chemistry (RSC) ก็แนะนำว่า เราควรขุดคุ้ยแร่ธาตุเก่าๆ จากกองขยะ E-waste แทนที่จะขุดเจาะโลก เพื่อความยั่งยืนและลดปริมาณขยะ
ที่มา:
– งานสัมนาสิ่งแวดล้อม European Commission
– https://www.bbc.com/news/science-environment-63245150
– https://www.bbc.com/news/science-environment-61350996
– https://www.bbc.com/news/business-63779342