Recycle กำลังทำร้ายประเทศไทย? หรือการรีไซเคิลสร้างผลกระทบกว่าที่คิด

Highlight

Recycle กำลังทำร้ายประเทศไทย?

หรือการรีไซเคิลสร้างผลกระทบกว่าที่คิด

.

การรีไซเคิล อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการรักษ์โลกกลับกลายเป็นการทำลายโลกอีกทางหนึ่ง เพราะแม้จะมีข้อดีมากมายแต่ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน แต่จะมีข้อเสียอย่างไรและทำไมระบบ Recycle ถึงกำลังทำร้ายประเทศไทย วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูคำตอบเหล่านั้นกัน

.

กระบวนการรีไซเคิล ต้องอาศัยพลังงานเพื่อให้ความร้อนแก่พลาสติก และผ่านกระบวนการทางเคมีต่าง ๆ ทำให้ในระหว่างกระบวนการนั้นเกิดมลพิษขึ้นมา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ อากาศ น้ำ และดินในบริเวณใกล้เคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

พลาสติกนั้นเกิดมาจากน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ เมื่อหลอมหรือเผาจะเกิดปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนที่สามารถทำลายปอด ระบบประสาน หรือแม้กระทั่งไตได้เลยทีเดียว 

.

นอกจากนี้ในสมัยใหม่ยังมีการเติมแต่งที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การใส่สารเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น อีกด้วย ทำให้เมื่อผ่านกระบวนการแล้ว สารเหล่านี้ถูกหลอมรวมกันออกมาเป็นสารพิษที่มากกว่าเดิม รวมทั้งยังก่อสารไดออกซินที่มีความเป็นพิษ สามารถสะสมตัวภายในดินและน้ำได้ จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้

.

การจะรีไซเคิลให้เกิดคุณภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดนั้น โรงงานจำเป็นต้องมีระบบการจัดการบำบัดอากาศและบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน ต้องทำให้แน่ใจว่าสามารถกำจัดสารเคมีได้อย่างถูกต้อง และต้องตรวจสอบการปล่อยของเสียจากกระบวนการต่าง ๆ ว่าไม่ตกค้างและสร้างผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม

.

แต่ตามสถิติจากกรมโรงงานเมื่อปี 2561 ระบุไว้ว่าประเทศไทยมีโรงงานรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า 148 โรงงาน รวมทั้งยังมีโรงงานรีไซเคิลเถื่อนอีกจำนวนมากที่ยังคงแอบดำเนินการอยู่ด้วยเช่นกัน ทำให้บางครั้งการรีไซเคิลไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควร และสร้างผลร้ายมากกว่าที่คิด

.

ปัญหาที่เห็นชัดสุดคือชุมชนในละแวกใกล้เคียงกับโรงงานจะต้องทนอยู่กับกลิ่นของสารเคมีหรือมลพิษทางอากาศที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงาน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของคนและสัตว์ในละแวกนั้น จนบางคนถึงกับต้องย้ายที่อยู่เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพของตนเองไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษที่มาจากโรงงาน

.

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เห็นว่า กระบวนการรีไซเคิลที่ยังขาดมาตรฐานในประเทศไทยกำลังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนภายในประเทศอย่างเงียบ ๆ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นภายในอนาคตอีกด้วย

.

– ระบบขาดคุณภาพ แต่รับขยะเข้าประเทศเพิ่ม? 

.

จากผลกระทบของการรีไซเคิลประกอบกับขั้นตอนที่ยุ่งยากทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเลือกที่จะส่งขยะพลาสติกในประเทศตนเองมายังประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาเพื่อเป็นการตัดปัญหาทิ้ง ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกเลือกให้เป็นปลายทางของขยะเหล่านั้นเช่นกัน

.

โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้นำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศมามากถึง 158,000 ตัน แถมการนำเข้าขยะพลาสติกเหล่านี้ในบางครั้งไม่ได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบางครั้งได้มีการแปลงเอกสารรายงานให้เข้าใจว่าขยะเหล่านี้เป็นเศษพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือถูกนำเข้ามาพร้อมกับสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งในบางครั้งยังมีการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ในการนำเข้ามาอีกด้วย

.

แต่เมื่อตรวจพบขยะพลาสติกเหล่านี้ก็มักพบกับปัญหาที่ไม่สามารถส่งคืนไปยังต้นทางได้ เพราะขยะพลาสติกดังกล่าวนั้นเป็นขยะที่ถูกส่งมาจากหลากหลายบริษัท จนไม่สามารถย้อนรอยไปยังต้นทางได้ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับขยะเหล่านั้นเข้ามาอย่างไม่เต็มใจนักและหาทางจัดการต่อไปนั่นเอง

.

การส่งขยะพลาสติกไปยังประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนานั้น ทำให้กระบวนการการรีไซเคิลไม่ได้ถูกดำเนินการด้วยระบบการจัดการและทรัพยากรที่มีคุณภาพมากพอ และยิ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

.

– รีไซเคิลคือทางออกของปัญหา?

.

จากรายงานของกรีนพีซพบว่ามีพลาสติก 9% จากทั่วโลกเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล และเมื่อผ่านการรีไซเคิลไปแล้วหนึ่งครั้ง พลาสติกเหล่านั้นจะมีคุณภาพที่ต่ำลงจนไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Down cycle ส่งผลให้จำนวนพลาสติกที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิลยิ่งน้อยลงไปอีก

.

อีกทั้งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษยังแสดงให้เห็นว่าในปี 2561 มีขยะพลาสติกเพียง 500,000 ตันเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิลจากขยะทั้งหมด 27.8 ล้านตัน และมีขยะที่นำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 7.15 ล้านตันโดยการเผากลางแจ้ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหามลพิษและฝุ่นควันอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย

.

ดังนั้นการรีไซเคิลจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาขยะพลาสติก เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจึงควรเป็นการลดการใช้พลาสติก หรือการหาวัสดุอื่นที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั่นเอง

.

ที่มา: Bloomberg, Greenpeace, กรมควบคุมมลพิษ

Popular Topics