ให้ป่าโอบกอดคุณ! การอาบป่าแต่ละประเทศเป็นอย่างไร?

Highlight

ให้ธรรมชาติโอบล้อมคุณ เมื่อการอาบป่ามีประโยชน์มากกว่าที่คิด! ทั้งลดความเครียด ลดอัตราการเต้นหัวใจ และช่วยการไหลเวียนเลือด เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการยกระดับสุขภาพของคนในแต่ละประเทศ

.

แต่การอาบป่าในแต่ละประเทศจะเป็นยังไง #Agenda สรุปมาให้แล้ว

.

– ประเทศญี่ปุ่น EPI Rank 10

ประเทศญี่ปุ่นคือ ประเทศแรกที่ค้นเจอถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่าและผู้คน โดยในภาษาญี่ปุ่นเรียกการอาบป่าว่า “shinrin-yoku” ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1982 จากเหล่านักวิจัยนำโดย “Dr. Qing Li” โดยจุดเริ่มต้นมาจากการหาทางรักษาเรื่องภาวะทางจิตใจและความเครียดที่นอกเหนือจากการรักษาแบบทั่วไป นำไปสู่การศึกษาเรื่องป่าและสิ่งแวดล้อมรอบตัว 

.

การอาบป่า เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสธรรมชาติผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การรับกลิ่น และการรับรส ช่วยยกระดับตั้งแต่ร่างกายไปจนถึงจิตใจ ทั้งช่วยการไหลเวียนโลหิต ลดอัตราการการเต้นหัวใจ ไปจนถึงช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์ NK (Natural Killer) และลดการปล่อยฮอร์โมน Cortisol ฮอร์โมนความเครียด ส่งผลดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้การอาบป่าแพร่กระจายไปยังหลายประเทศทั่วโลกเพื่อนำไปใช้พัฒนาสุขภาพของผู้คนในแต่ละประเทศ

.

จากความสำเร็จในการวิจัยครั้งนี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเดินหน้าเรื่องการค้นคว้าเกี่ยวกับ shinrin-yoku อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้ง “International Society of Nature and Forest Medicine” และการจัดทำการทดลองที่ทันสมัยมากขึ้นที่ Nippon Medical School ในโตเกียว นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมจากทางภาครัฐในการทำให้การอาบป่ากลายเป็นโปรแกรมสุขภาพระดับชาติ โดยมีระบบการรับรองป่าที่สามารถทำการอาบป่าได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้การอาบป่ากลายเป็นโปรแกรมขั้นพื้นฐานที่นักเดินป่าทุกคนจะต้องทำในประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว

.

– ประเทศเกาหลีใต้ EPI Ranl 61

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ การอาบป่ารู้จักกันในชื่อ “salim yok” โดยในปี 2014 รัฐบาลลงทุนมากถึง 4 พันล้านบาทในการก่อตั้ง “National Forest Healing Centre” และได้มีการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้เป็นการเฉพาะในปี 2015 อีกด้วย ป่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในการอาบป่าของประเทศเกาหลีใต้คงหนีไม่พ้นอุทยานแห่งชาติ “Sobaeksan” ที่มีกิจกรรมให้เลือกทำมากมาย ทั้งสวนสมุนไพร พื้นที่นั่งเล่นท่ามกลางธรรมชาติ สะพานเดินป่าระยะเวลากว่า 50 กิโลเมตร ไปจนถึงศูนย์บำบัดด้วยน้ำ (aquatic centre)

.

ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องการอาบป่าเป็นอย่างมาก โดยมุ่งมั่นเพิ่มจำนวนของ “healing forests” ให้มากขึ้น ซึ่งตั้งใจให้ทุกเมืองใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงการอาบป่าได้ รวมทั้งยังมีการฝึกฝนผู้นำด้านการอาบป่ามากกว่า 500 คนเพื่อเผยแพร่การอาบป่าอีกด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ 82% ของคนเกาหลีใต้มักไปเที่ยวป่ามากกว่า 1 ครั้งต่อปี แต่เมื่อรัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังทำให้ผู้คนเห็นประโยชน์ของการอาบป่ามากขึ้น และทำให้ตัวเลขในการเยี่ยมชมป่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งยังมีการแนะนำจากทางภาครัฐว่า การเดินป่า 1 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ คือสิ่งจำเป็นสำหรับคนเกาหลีอีกด้วย

.

ไม่เพียงเท่านั้นในปัจจุบัน “ป่า” กลายเป็นสถานที่ที่อยู่ในแนวคิดที่สำคัญของการพัฒนาประเทศหลายอย่างทั้งการออกแบบโรงเรียน การออกแบบหลักสูตรสำหรับเด็ก ที่พาเด็ก ๆ เข้าไปเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติมากขึ้น และกลายเป็นพื้นที่บำบัดสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการเสพติด ปัญหาความเครียด ภาวะโรคซีมเศร้า รวมทั้งยังนำมาเป็นพื้นที่บำบัดของเจ้าหน้าที่ที่สภาวะจิตใจโดนกระทบจากการทำงาน อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิง อีกด้วย

.

– ประเทศสวีเดน EPI Rank 65

การอาบป่าก็ได้รับความนิยมในประเทศสวีเดนอย่างมากเช่นกัน ถึงขั้นมีการบัญญัติคำขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยใช้คำว่า “skogsbad” ที่แปลว่าการอาบป่าในภาษาสวีเดน สวีเดนเองได้นำธรรมชาติเข้ามาเพื่อรักษาภาวะเครียดจากการทำงานของผู้คนภายในประเทศ ทั้งการเดินป่าและการทำสวนสาธารณะภายในเมือง ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายเพราะพื้นที่ 70% ของประเทศถูกปกคลุมไปด้วยป่า ทั้งยังมีอุทยานแห่งชาติที่ถูกดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย

.

นอกจากนี้ยังมีโครงการ “The Alnarp Rehabilitation Garden” ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้คนใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น โดยเป็นโครงการนานกว่า 12 สัปดาห์ ที่ผู้เข้าร่วมต้องเข้าร่วมเป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจนถูกต่อยอดไปใช้เพื่อเป็นการบำบัดของผู้ป่วยที่ภาวะทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรงและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทางสมอง แถม 60% ของผู้เข้าร่วมมักกลับมาเข้าร่วมหลังจากผ่านไป 1 ปี ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการบำบัดในรูปแบบอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในโปรแกรมนี้เป็นอย่างมาก

.

แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็ไม่แปลกเพราะในประเทศสวีเดนมีแนวคิดว่า ธรรมชาติมีส่วนสำคัญในการเติบโตของเด็ก ดังนั้นสวีเดนจึงเป็นประเทศแรกที่พัฒนาแนวคิดเรื่อง “nature school” ที่สนับสนุนเรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งยังมีมหาวิทยาลัย Linköping ที่ใช้ระบบ “Outdoor Environmental Education and Outdoor Life” เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ ทำให้ผู้คนภายในประเทศได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติตั้งแต่เด็กอีกด้วย

.

– ประเทศสหรัฐอเมริกา EPI Rank 74

หนึ่งในแนวคิดที่แพร่หลายในวงการการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมากคือ “nature prescription” หรือการที่แพทย์หลายคนภายในประเทศเริ่มนำป่าเข้ามาเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาคนไข้ เช่น การแนะนำให้คนไข้ใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเดินป่าหรือการเดินสวน ซึ่งแพทย์กว่า 13 เมืองภายในประเทศเริ่มใช้วิธีนี้ในการรักษาคนไข้มากขึ้น ทั้งกับคนไข้กลุ่มที่มีปัญหาทางด้านร่างกายและสุขภาพจิต ไปจนถึงกลุ่มคนไข้โรคเบาหวานหรือโรคอ้วน

.

แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายทั้ง โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน กระทั่งบริษัทประกัน และหน่วยงานจากภาครัฐ อาทิ “National Park Service” และ “The Centres for Disease Control and Prevention” นอกจากนี้ยังได้รับความสนับสนุนจากสวนหรืออุทยานกว่า 8,000 แห่งในการเก็บรวบรวมการเข้าใช้ของผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อทำเป็นฐานข้อมูลกลางอีกด้วย 

.

โดยในปี 2012 ได้มีการก่อตั้ง the Association of Nature and Forest Therapy Guides and Programs (ANFT) ขึ้นเพื่อพัฒนาเรื่องการอาบป่าเป็นการเฉพาะ และยังเป็นสถานที่สำหรับการอบ

รมและฝึกฝนผู้นำด้านการอาบป่าเพื่อส่งออกไปเผยแพร่ในหลายประเทศทั่วโลก โดยในช่วงเริ่มแรกมีผู้เข้าร่วมมากถึง 600 คนจาก 46 ประเทศทั่วโลก

.

นอกจากนี้การอาบป่ายังถูกนำเข้ามาใช้ในการรักษาเรื่องสุขภาพจิตและพัฒนาเด็ก ๆ มากยิ่งขึ้น โดยมีโปรเจกต์ เช่น Kids in Parks ที่กระตุ้นให้ครอบครัวออกมาใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาสุขภาพของเด็ก และช่วยยกระดับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว หรือ SOAR Academy ที่นำเอาธรรมชาติมาออกแบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นหรือออทิสติกภายในโรงเรียน

.

สำหรับประเทศไทยน้ันได้ EPI Rank 24 จาก 130 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของป่าภายในประเทศ แต่การนำเรื่องป่ามาเป็นจุดเด่นในการรักษาหรือการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังมีไม่มากนัก จึงเป็นเรื่องน่าสนใจต่อไปว่า ประเทศที่มีป่าสวยและอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของโลก จะดึงจุดแข็งนี้มาใช้อย่างไรในอนาคต

.

ที่มา: National Library of Medicine, Dose of Nature, Association of Nature & Forest Therapy, Forest Therapy India Connect, Visit Sweden, Korea Tourism Organization, MAPFRE, Japan Rail Club

Popular Topics