ทำไม 6 ตุลาฯ ถึงถูกลืม รำลึก 44 ปี สังหารหมู่ธรรมศาสตร์

Highlight

รำลึก 44 ปี 6 ตุลา หรือการ สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ (Thammasat Massacre)

ผ่านมา 44 ปี เหตุการณ์นี้เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น เนื่องด้วยจากกระแสทางการเมืองอันเข้มข้น

เพราะวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองที่โหดร้ายและนองเลือดที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

แต่ความเข้าใจของคนหมู่มากกลับเลือนราง

หากหันไปถามคนรอบตัว เราจะพบว่าหลายรายสับสนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 กับวันที่ 14 ตุลาคม 2516 (หรือเหตุการณ์ 14 ตุลา,​ วันมหาวิปโยค)
หรือเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ในช่วงปีเดียวกัน
หรือจำได้เพียงคำอธิบายสั้นๆ
เช่น ปราบชุมนุมนักศึกษา ภาพเด็กชายหัวเราะ เป็นต้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
คนไทยหมู่มาก ‘ลืม’ จริงหรือ?

จริงๆ ใช้คำว่าลืมอาจไม่ถูกต้องนัก
แต่ใช้คำว่า ไม่ถูกพูดถึง / ถูกอธิบายแบบกะทัดรัด
จนในที่สุดสังคมวงกว้างก็รู้จักเหตุการณ์นี้เพียงสังเขป
อาจจะถูกต้องกับบริบทมากกว่า

มีประเด็นอะไรบ้าง
ที่เป็นไปได้ว่าทำให้ “6 ตุลา” ถูกเข้าใจอย่างเลือนรางมาตลอด

– ห้ามทำข่าวในช่วงนั้น

การห้ามพูดถึง หรือห้ามทำข่าวเหตุการณ์นี้
เริ่มตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ คณะรัฐประหารในขณะนั้นสั่งห้ามสื่อหนังสือพิมพ์ถูกห้ามออกข่าวใดใด เป็นระยะเวลา 3 วัน (6-8 ตุลาคม 2519)
แต่ระยะแค่สามวัน คงยากที่จะไม่ทำให้คนลือ
สิ่งท่ีทำให้เรื่องนี้คลุมเครือต่อมาคือ การเรียนการสอนสังคมศึกษา

– แบบเรียนหมวดสังคมศึกษา

พูดถึง 6 ตุลา เพียงน้อยนิด หรือไม่พูดถึงเลย

แม้ว่าหลายคน รู้จักเหตุการณ์นี้ครั้งแรกจากการศึกษาในโรงเรียน
แต่ก็ได้ข้อมูลเพียงหนึ่งย่อหน้าเท่านั้น

จากการสำรวจแบบเรียนหมวดสังคมศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 23 เล่ม โดยเว็บไซต์ประชาไท พบว่าแบบเรียน 17 เล่ม ไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้เลย ในขณะที่อีก 6 เล่ม มีการอธิบายเล็กน้อยถึงปานกลาง

– ชื่อเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ตรงไปตรงมา

ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองช่วงเดือนตุลาถึงสองเหตุการณ์
มีผู้วิเคราะห์ว่า การเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 6 ตุลา ทำให้เกิดความสับสนกับ 14 ตุลาได้ง่าย
ทำให้มีการเรียกร้องให้เรียกชื่อเหตุการณ์นี้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้นว่า ‘สังหารหมู่ธรรมศาสตร์’

– ไม่มีผู้ถูกดำเนินคดี จากการสังหาร ทำร้ายและคุกคามทางเพศ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น

แม้จะมีผู้เสียชีวิตถึง 45 ราย ผู้บาดเจ็บ 145 ราย
แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการสะสาง ชำระความเอาผิด หรือสืบสาวผู้บงการแต่อย่างใด

แล้วคุณล่ะ คิดว่าอะไร ที่ทำให้เหตุการณ์นี้ถูกลืมเลือน?

ขอบคุณภาพจาก
ชุดภาพถ่ายขาวดำจากคุณปฐมพร ศรีมันตะ | โครงการบันทึก 6 ตุลา

Popular Topics