สำหรับคนไข้ นอกจากรักษาร่างกาย การอยู่กับธรรมชาติก็ช่วยเยียวยาจิตใจได้ไม่แพ้กัน “Hospital in a garden, a garden in a hospital” คือแนวคิดสำคัญของโรงพยาบาลคูเต็กพวตในสิงคโปร์ ที่ต้องการสร้างโรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้างสีขาวชวนนึกถึงกลิ่นยาฆ่าเชื้อ
.
แนวคิดนี้ทำให้โรงพยาบาลคูเต็กพวต กลายเป็นโรงพยาบาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 4 เท่าของพื้นที่การรักษาพยาบาล มีต้นไม้มากกว่า 5,000 ต้น มีสัตว์และแมลงมากถึง 1,000 ชนิดในพื้นที่ของโรงพยาบาล
.
แค่ปลูกต้นไม้ให้เยอะ ๆ เหมือนจะง่าย แต่จริง ๆ คูเต็กพวตมีแนวคิด นวัตกรรม ที่ออกแบบมาอย่างตั้งใจ เพื่อให้โรงพยาบาลสีเขียวเป็นจริง จะมีอะไรบ้าง #Agenda สรุปมาให้แล้ว
.
– Biophillic Design เหมือนยกอาคารมาวางในป่า
สิ่งที่ทำให้โรงพยาบาลกูเต็กพวตโดดเด่นไม่เหมือนใครนั้นเริ่มต้นตั้งแต่แนวคิดในการก่อสร้าง “Hospital in a garden, a garden in a hospital” ห้อมล้อมทุกพื้นที่ของโรงพยาบาลด้วยพื้นที่สีเขียวในทุกมุมมอง ทำให้ผู้คนที่มองเข้ามารู้สึกเหมือนพืชพันธุ์ต่าง ๆ นั้นมีอยู่ก่อนแล้วที่จะมีการสร้างโรงพยาบาลขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงทุกอย่างถูกสร้างขึ้นพร้อมกันทั้งหมด
.
จากแนวคิดดังกล่าวนี้เองที่ส่งผลให้ในปี 2017 โรงพยาบาลคูเต็กพวตได้รับรางวัล Stephen R. Kellert Biophilic Design Award ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลที่มีการออกแบบอาคาร การตกแต่งภายใน และพัฒนาพื้นที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยอดเยี่ยม
.
นอกจากนี้การออกแบบอาคารเป็นรูปตัว V ยังทำให้กระแสลมพัดพาความเย็นจากทะเลสาบอี้ชุนเข้ามายังพื้นที่ภายในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแสงธรรมชาติ ลมเย็น และทิวทัศน์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานด้านได้มากถึง 50% ประหยัดทุนไปได้ถึง 27 ล้านบาท
.
– Biodiversity โรงพยาบาลที่มีระบบนิเวศของตัวเอง
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ทั่วด้วยพืชเขตร้อนมากกว่า 5,000 ต้น ปกคลุมบริเวณกว่า 108,000 ตารางเมตร โรงพยาบาลคูเต็กพวตจึงกลายเป็นเมืองสีเขียวเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตมากมาย อาทิ นก ผีเสื้อ สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก ไก่ ปลา ท่ีมีรวมกันมากกว่า 1,000 ชนิด
.
นอกจากนั้นภายในโรงพยาบาลยังใช้พันธุ์พืชที่สามารถหาได้เฉพาะในประเทศเท่านั้นมาปลูกภายในสวนอีกด้วย ได้ประโยชน์ทั้งช่วยผู้ป่วยในการฟื้นฟู และช่วยอนุรักษ์พันธุ์ต้นไม้เฉพาะถิ่นไม่ให้สูญพันธุ์ไปพร้อมกัน และยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางด้านชีวภาพให้แก่ธรรมชาติบริเวณรอบ ๆ อีกด้วย
.
– Community Rooftop สวนผักบนหลังคาเพื่อชุมชน
ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของประเทศสิงคโปร์ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โรงพยาบาลคูเต็กพวตจึงเปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าของโรงพยาบาล ให้กลายเป็นสวนเพาะปลูก แปลงผัก ผลไม้ มากกว่า 130 ชนิด นำผลิตผลที่ได้มาใช้ประกอบอาหารให้แก่ผู้ป่วยและนำเศษอาหารที่เหลือนั้นกลับมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อปลูกผักและผลไม้อีกครั้ง
.
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดง วิธีการปลูกที่เหมาะสมในแต่ผักและผลไม้แต่ละพันธุ์เพื่อให้ชุมชนโดยรอบสามารถนำกลับไปปลูกยังพื้นที่ตนเองได้ แถมยังเปิดรับอาสาสมัครในการเข้ามาช่วยดูแลแปลงผักและผลไม้นี้ ทำให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างคนในชุมชนโดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุอีกด้วย
.
– Renewable Energy System น้ำ, ความร้อนนำกลับมาใช้ใหม่
ประเทศที่ได้ชื่อว่าขาดแคลนทรัพยากรด้านน้ำมากที่สุดอย่างสิงคโปร์ ทำไมโรงพยาบาลคูเต็กพวตถึงกล้าที่จะปลูกต้นไม้มากถึงขนาดนี้ คำตอบคือเพราะโรงพยาบาลคูเต็กพวตยังมีการออกแบบระบบรองรับน้ำฝนและระบบในการดึงน้ำจากทะเลสาบมาเพื่อหมุนเวียนใช้สำหรับการรดน้ำต้นไม้ การดูแลบ่อปลา และการทำความสะอาดพื้นที่
.
นอกจากนี้ในช่วงฤดูร้อนยังมีการนำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ในการฉีดบริเวณอาคารเพื่อลดอุณหภูมิบริเวณของพื้นผิวอาคารให้เย็นลง แถมภายในโรงพยาบาลยังมีระบบในการนำความร้อนที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาผลาญพลังงานกลับมาทำให้เป็นลมเย็นเพื่อปล่อยไปในสวนอีกด้วย
.
– Public Stress Relief พื้นที่สาธารณะลดความเครียด
โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ใช่แค่เพียงโรงพยาบาลอีกต่อไปแล้ว จากแนวคิดในการนำพื้นที่สีเขียวเข้ามาภายในโรงพยาบาลทำให้คูเต็กพวตกลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่ในการทำกิจกรรมทั้งแก่ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล ไปจนถึงชุมชนโดยรอบ โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 15% ของผู้คนที่มาเยือนโรงพยาบาลคูเต็กพวตนั้นมาเพื่อพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกันไม่ใช่มาเพื่อทำการรักษา ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของชุมชนโดยรอบไปด้วยเช่นกัน
.
ที่มา: CPG Consultants, Hyundai Engineering Construction, The Straits Times, Greenroofs, Issuu, Goodnet.