ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาความยากจนจริงหรือไม่?
สถานการณ์ปัญหาความยากจนในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร?
.
วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูสัดส่วนจำนวนคนจนในแต่ละจังหวัดกัน
.
สำหรับข้อมูลสัดส่วนจำนวนคนจนในแต่ละจังหวัดนั้น วัดมาจาก เส้นความยากจน (Poverty Line) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการใช้วัดภาวะความยากจนในประเทศ โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของปัจเจกบุคคลในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าบริการที่จำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
.
โดยเส้นความยากจนปี 2564 อยู่ที่ 2,802 บาทต่อเดือน ทำให้บุคคลที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 2,802 บาท ถูกนับว่าเป็นคนจนทันทีตามข้อมูลนี้
.
โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่
1. จังหวัดปัตตานี มีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 31% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในจังหวัด
2. จังหวัดกาฬสินธุ์ มีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 25% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในจังหวัด
3. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 25% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในจังหวัด
.
จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนน้อยสุดได้แก่ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจากข้อมูลสถิติไม่พบว่ามีคนจนในจังหวัดเลย สำหรับกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 1% เท่านั้น
.
โดยสถานการณ์ความยากจนในปี 2564 มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น โดยมีจำนวนคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 6.32 ของประชากรทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2563 ที่มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.83ของประชากรทั้งประเทศ
.
การที่ตัวเลขมีแนวโน้มที่ดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลายลงจนประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างปกติมากขึ้นนั่นเอง
.
แต่ทั้งนี้แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ปัญหาความยากจนก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อยู่ควบคู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานและดูเหมือนจะไม่สามารถจัดการให้หมดไปได้เสียที ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
.
– ปัจจัยภายใน
ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ประชาชนขาดความรู้หรือความสามารถที่มากพอสำหรับการทำงานในโลกยุคใหม่ ประกอบกับการเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ส่งผลให้เกิดอัตราการว่างงานและขาดรายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นผลมาจากปัญหาของระบบการศึกษาของประเทศไทยเช่นกัน
.
อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดมาจากวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศไทยเอง ที่มักใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งของไม่จำเป็นต่าง ๆ อย่างเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น รวมทั้งการขาดการวางแผนในเรื่องการใช้เงินของคนไทยเองก็เป็นผลให้เกิดปัญหาความยากจนเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าปัญหาเรื่องอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นเองก็ส่งผลต่อสถานการณ์การใช้จ่ายของคนไทยไม่น้อย (วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์; บทความเรื่องปัญหาความยากจนในสังคมไทย)
.
– ปัจจัยภายนอก
โดยในส่วนนี้อาจเน้นไปที่นโยบายจากทางภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากปัญหาความยากจนในประเทศไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมของประเทศไทย ดังนั้นรัฐจึงควรออกนโยบายหรือกฎหมายที่เข้ามาช่วยส่งเสริมหรือแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างนี้เสียมากกว่า
.
ปัญหาแรกคือสวัสดิการของทางรัฐที่ไม่ครอบคลุมและไม่ทั่วถึงคนทั้งประเทศ เมื่อรัฐไม่สามารถให้คนทั้งประเทศสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้ ประชาชนจึงต้องเสียรายได้บางส่วนในการเข้าถึงสวัสดิการชั้นพื้นฐานเอาเอง ยกตัวอย่างเช่น สวัสดิการในสุขภาพ เป็นต้น ส่งผลให้รายได้ของคนไทยลดน้อยลงไปอีก
.
สวัสดิการอีกอย่างหนึ่งที่รัฐไม่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้อีกอย่างหนึ่งคือ การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นแรงงานหรือพัฒนาคุณภาพของตนเองให้สามารถประกอบอาชีพเพื่อทำให้ครอบครัวสามารถยกระดับทางเศรษฐกิจได้
.
รวมทั้งนโยบายมุ่งเน้นไปที่การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา มากกว่าลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ทั้ง ๆ ที่ สองสิ่งนี้ ควรต้องได้รับการแก้ไขไปพร้อมกันมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่สัมพันธ์และส่งผลซึ่งกันและกัน
.
ปัญหาต่อมาคือระบบภาษีของไทยที่ยังขาดความเป็นธรรม โดยจากรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย พบว่ามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาในปัจจุบันยังเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนที่รายได้สูงมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางและต่ำอย่างชัดเจน อย่างเช่น การอนุญาตให้นำเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพมาเป็นส่วนหนึ่งในการลดหย่อนได้ ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้น้อยมักไม่มีเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าว จึงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้
.
รวมทั้งระบบการจัดการรายได้ยามชราของทางภาครัฐด้วยเช่นกัน ระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้น มีการออกแบบที่ขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพให้เท่าทันต่อโลกยุคปัจจุบัน ไม่ได้ปรับตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กองทุนเหล่านี้ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าผู้เข้าร่วมจะยังคงมีรายได้ที่เพียงพอภายหลังจากเกษียณอายุ
.
ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่า ครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่ไม่มีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจ หรือครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่การทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัย และระบบรายได้หลังเกษียณที่ไม่ได้ประสิทธิภาพของรัฐบาลนั่นเอง
.
ปัญหาสุดท้ายคือการกระจายอำนาจ ระบบปกครองของไทยไม่ได้กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทำให้เกิดปัญหาในด้านการจัดการงบประมาณขึ้น โดยจากสถิติที่ผ่านจะเห็นได้ว่า จังหวัดที่ประสบปัญหาความยากจนนั้น ก็ยังคงเผชิญปัญหาเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคที่ดี การคมนาคมที่ดี และปัญหาอื่น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปี ยิ่งส่งผลให้คนจนต้องแบกค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่สูง เช่นการเดินทาง การเข้าถึงสาธารณสุขที่ดี
.
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564; สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม, มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์