สิงคโปร์จัดการขยะอย่างไร? ให้ลดขยะ เพิ่มประโยชน์

Highlight

ข้อมูลจาก National Environment Agency (NEA) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า ประเทศสิงคโปร์มีขยะมากถึง 6.86 ล้านตันในปี 2022 จากจำนวนประชากร 6 ล้านคน ดังนั้นโดยเฉลี่ยแล้วคนในประเทศสิงคโปร์ผลิตขยะมากถึง 1 ตันต่อคน

.

แต่ประเทศสิงคโปร์กลับไม่มีปัญหาในการกำจัดขยะที่เกิดขึ้นเลย แถมระบบการจัดการขยะของประเทศสิงคโปร์ยังถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำจัดขยะในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย อีกทั้งข้อมูลจาก statista ยังแสดงให้เห็นอีกว่า จาก Yale Environmental Performance Index สิงคโปร์ถูกนับว่าเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 

.

ประเทศสิงคโปร์มีระบบจัดการขยะภายในประเทศอย่างไร? ให้ขยะ 6 ล้านตันหมดไปในพริบตา #Agenda สรุปมาให้แล้ว

.

– ขยะทั่วประเทศมุ่งสู่ศูนย์กำจัดที่เหมาะสม

จุดเริ่มต้นในระบบการจัดการขยะของประเทศสิงคโปร์นั้นไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากของประเทศอื่นมากนัก โดยจะมีพนักงานและรถเก็บขยะออกไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อดำเนินการรวบรวมขยะจากแต่ละจุดทั่วประเทศ แต่สิ่งที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ คือรถเก็บขยะทุกคนนั้นมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ศูนย์กำจัดขยะที่เหมาะสมต่อขยะแต่ละประเภทนั่นเอง

.

โดยข้อมูลจาก NEA แสดงให้เห็นว่าขยะที่ถูกเก็บมานั้น 55% ถูกนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลและนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ในขณะที่ขยะอีก 42% จะถูกนำไปยังศูนย์เผากำจัดขยะผ่านรถบรรทุก 600 คัน รวมเป็นขยะกว่า 2 ล้านกิโลกรัม และขยะที่เหลืออีก 3% ที่ไม่สามารถเผาได้จะถูกดำเนินการกลบฝัง

.

– เผาขยะแต่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

ขยะที่ถูกนำไปยังศูนย์เผาขยะจะถูกเผาแบบปิดในอุณหภูมิ 850-1,000 องศา จนกลายเป็นเถ้าถ่าน โดยโครงสร้างของศูนย์เผาถูกสร้างด้วยวัสดุที่สามารถทนความร้อนได้เป็นอย่างดี แถมยังลดเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจากการเผาเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนในบริเวณโดยรอบอีกด้วย

.

นอกจากนี้มลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะจะถูกกรองผ่านปล่องควันที่สูงถึง 120 เมตร พร้อมระบบทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ และระบบติดตามที่ทำการวิเคราะห์แบบออนไลน์ตลอดเวลา เพื่อจำกัดปริมาณมลพิษที่จะปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุด

.

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นเพราะไอร้อนที่เกิดจากการเผาขยะภายในโรงงานนั้นยังถูกนำไปใช้เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าส่งออกไปทั่วประเทศอีกด้วย โดยพลังงานไฟฟ้าที่ศูนย์เผาขยะสร้างขึ้นนั้นคิดเป็น 3% จากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั่วประเทศ ครอบคลุมถึง 240,000 ครัวเรือน แถมยังครอบคลุมพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดภายในโรงงานอีกด้วย

.

– NEWSand เถ้าถ่านความหวังใหม่

ภายหลังจากการเผาอย่างต่อเนื่อง ขยะจะกลายเป็นเถ้าถ่านหรืออีกชื่อหนึ่งคือ NEWSand โดยเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาไหม้คิดเป็นแค่ 10% จากปริมาตรขยะทั้งหมดเท่านั้น ภายหลังจากเผาเสร็จสิ้นจะมีกระบวนการในการแยกสสารที่เป็นเหล็กออกจากเถ้าถ่านอีกครั้ง เพื่อนำเหล็กไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป

.

– จากของเสียสู่แผ่นดินใหม่

ภายหลังจากผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนเสร็จสิ้นแล้ว เถ้าถ่านทั้งหมดจะถูกลำเลียงไปยังเกาะ Semakau เพื่อนำไปถมเพิ่มพื้นที่ภายในเกาะให้มากขึ้น เถ้าถ่านที่ถูกส่งไปถมยังเกาะนั้นมีจำนวนมากถึง 2,000 ตันต่อวันเลยทีเดียว 

.

โดยเถ้าถ่านจะถูกถมลงในทะเลสาบที่มีการล้อมรอบด้วยวัสดุที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ ซึ่งเมื่อมีการถมเถ้าถ่านหรือฝนตกจนทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น น้ำส่วนที่ล้นนั้นจะถูกดึงเข้าไปยังเครื่องบำบัดน้ำและจึงปล่อยออกลงสู่ทะเล ซึ่งกระบวนการเช่นนี้จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในทะเลนั่นเอง

.

นอกจากนี้ภายในเกาะยังมีกระบวนการตรวจสอบหลายอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าการถมเถ้าถ่านนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนเกาะนั้น ซึ่งภายในเกาะ Semakau ยังเต็มไปด้วยป่าชายเลน และแนวปะการัง แสดงให้เห็นว่าการถมเถ้าถ่านนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อระบบนิเวศ

.

– เถ้าถ่านสร้างเมือง

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ในปัจจุบันเถ้าถ่านบางส่วนได้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างคอนกรีต และนำไปใช้สร้างทางเดินและไหล่ทางภายในเมือง แถมยังอยู่ในระหว่างการวิจัยในการนำเถ้าถ่านเหล่านี้ไปเป็นส่วนสำคัญในการสร้างถนนในอนาคตอีกด้วย

.

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบจัดการขยะของประเทศสิงคโปร์จะมีความโดดเด่น แต่ประเทศสิงคโปร์เองก็ประสบปัญหาในเรื่องของประชากรเช่นกัน โดย NEA ได้กล่าวว่า ชาวสิงคโปร์นั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการแยกขยะ รวมทั้งขาดความตระหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการแยกขยะ รวมถึงเรื่องของการลดการสร้างขยะด้วยเช่นกัน

.

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ทางรัฐบาลถึงกับต้องสร้างองค์กรแยกออกมาโดยเฉพาะทำงานร่วมกับโรงเรียนและองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้งดึงภาคธุรกิจเข้ามาให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้แก่ประชาชนให้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งจากมุมมองของหลายประเทศเชื่อว่า การจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ต้นเหตุจะทำให้สามารถจัดการปัญหาเรื่องขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านั่นเอง

.ที่มา: CNBC, National Environment Agency, SG101, Medium, The Wall Street Journal, Worldometers, Europe of Cities, Statista

Popular Topics