ถ้าจู่ๆ มีคนมาบอกว่า ‘นี่ รักฉันสิ’ เราก็คงสวนกลับทันทีว่าทำไมต้องรัก?
แต่ถ้าคนๆ นั้น ชี้ปลายกระบอกปืนมาที่เราด้วย เราก็อาจจะต้องยอมตอบว่ารัก แต่ในใจรู้ว่าถูกบังคับ
วิธีการบีบบังคับแบบนี้ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับแน่นอนในสังคมและระดับสากลโลก
แต่ถ้าเรามีเครื่องมือที่ช่วยให้คนมีความรัก ความชอบ ยอมเปย์เรา โดยที่ไม่ได้ใช้กำลังหรืออำนาจบีบบังคับล่ะ?
ศาสตราจารย์ Joseph Nye แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเครื่องมือนี้โดยเรียกว่า Soft Power หรือพลังละมุน
Soft Power คืออะไร?
สำหรับประเทศหนึ่ง ๆ พลังแบบซอฟต์ ๆ นี้ ก็คือวัฒนธรรม สังคม ค่านิยม นโยบายต่าง ๆ ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ
อย่างในงานเปิดโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น ก็มีการนำเอา Soft Power หรือเราเรียกกันว่า ‘ความญี่ปุ่น’ มานำเสนอในหลาย ๆ จุดได้อย่างน่าประทับใจ เช่น โชว์ Pictogram ที่ทั้งดูเพลินและลุ้นว่าจะพลาดไหม การใช้เพลงประกอบจากการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดัง อุปกรณ์ที่ใช้ในงานออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งหมด เป็นต้น
จากการจัดอันดับโดย brandfinance.com ประเทศที่มีการใช้ Soft Power มากที่สุดในปี 2021 ได้แก่ อันดับ 1 เยอรมัน อันดับ 2 ญี่ปุ่น อันดับ 3 อังกฤษ สังเกตได้ว่า สหรัฐอเมริกาที่มักจะมีการใช้ Soft Power อยู่อันดับต้น ๆ นั้นตกไปอยู่อันดับที่ 6 เนื่องจากนโยบาย American First ของอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์
ส่วนประเทศไทย อยู่อันดับที่ 33 ลดลงมา 1 อันดับจากปีก่อน
ที่น่าสนใจก็คือ Soft Power บางอย่าง สามารถนำมาผลักดัน ปลุกปั้น ส่งเสริม จนสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย
มาดูกันว่าแต่ละประเทศมี Soft Power อะไรบ้าง และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน?