จากรายงานทรัพยากรสาธารณสุข ที่มีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ในปี 2562 พบว่า ไทยมีจำนวนแพทย์ทั้งสิ้น 38,988 ราย ในขณะที่ประชากรไทยมีจำนวน 66 ล้านคนทำให้ไทยมีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์ อยู่ที่ 1,674 คน ต่อแพทย์ 1 คน
แต่ถ้ามองดูรายจังหวัดจะพบว่าจังหวัดที่แพทย์มีภาระต้องแบกรับมากที่สุดนั้นมากกว่าจังหวัดที่น้อยที่สุดถึง 8.4 เท่าตัว
โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์สูงที่สุด 5 จังหวัดได้แก่
1. หนองบัวลำภูมีประชากร 4,740 คนต่อแพทย์ 1 คน มีจำนวนแพทย์ 108 คน
2. บึงกาฬมีประชากร 4,503 คนต่อแพทย์ 1 คน มีจำนวนแพทย์ 94 คน
3. นครพนมมีประชากร 4,146 คนต่อแพทย์ 1 คน มีจำนวนแพทย์ 173 คน
4. กาฬสินธุ์มีประชากร 3,643 คนต่อแพทย์ 1 คน มีจำนวนแพทย์ 270 คน
5.กำแพงเพชรมีประชากร 3,590 คนต่อแพทย์ 1 คน มีจำนวนแพทย์ 202 คน
และจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรต่อแพทย์น้อยที่สุด 5 จังหวัดได้แก่
1. กรุงเทพมีประชากร 565 คนต่อแพทย์ 1 คนมีจำนวนแพทย์ 9,839 คน
2. ภูเก็ตมีประชากร 861 คนต่อแพทย์ 1 คนมีจำนวนแพทย์ 467 คน
3. สมุทรสาครมีประชากร 1,055 คนต่อแพทย์ 1 คนมีจำนวนแพทย์ 518 คน
4. พิษณุโลกมีประชากร 1,063 คนต่อแพทย์ 1 คนมีจำนวนแพทย์ 813 คน
5. นครนายกมีประชากร 1,098 คนต่อแพทย์ 1 คนมีจำนวนแพทย์ 236 คน
ซึ่งนั่นอาจตีความได้ว่า ไทยกำลังมีปัญหาการกระจายบุคลากรแพทย์ รวมถึงการกระจายทรัพยากรอื่นๆ ทางการแพทย์ด้วย
เพราะในทางปฏิบัติแล้ว สถานพยาบาลใหญ่ๆ ของไทยมักจะอยู่ตามหัวเมือง จังหวัดใหญ่ของแต่ละภูมิภาค ทำให้ผู้ที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง หลั่งไหลเข้าไปหาหมอในบริเวณนั้น ด้วยความพร้อมของสถานพยาบาลที่มากกว่า
ทำให้แพทย์ในจังหวัดเหล่านั้นต้องดูแลผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมาจากจังหวัดรอบๆ ด้วย
นั่นแปลว่านอกจากปัญหาการจัดการและดูแลบุคลากรแพทย์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจไม่ทำรับภาระที่หนักเกินไปแล้ว การกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง และลดภาระในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จำเป็น เพื่อลดปัญหาและแบ่งเบาภาระของกลุ่มอาชีพนี้ด้วย