งบประมาณแผ่นดินควรจัดสรรแบบ ‘จ่ายภาษีเยอะได้เยอะ’ หรือ จัดสรรเพื่อ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ ?
.
ข้อถกเถียงที่เป็นประเด็นหลายต่อหลายครั้ง ว่าทำไมจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญถึงไม่ได้รับงบประมาณที่พอเพียงต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิต แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพกลับได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
.
ในอีกมุมมอง การได้รับการจัดสรรงบประมาณตามภาษีที่จ่ายรัฐก็เหมาะสมดีแล้ว
.
ทั้ง 2 มุมมองนี้ถูกต้องหรือไม่ แล้วตามจริงงบประมาณแผ่นดินถูกจัดสรรภายในประเทศยังไงบ้าง?
.
#AGENDA สรุปมาให้แล้ว
.
จากข้อมูลของสำนักงบประมาณแสดงให้เห็นว่า งบประมาณแผ่นดินส่วนใหญ่กว่า 2 ใน 3 นั้นกระจุกตัวอยู่ที่ กรุงเทพฯ ซึ่งมีอัตราส่วนที่มากกว่าทุกจังหวัดในประเทศรวมกันเสียด้วยซ้ำ แถมยังพบว่า งบประมาณบุคลากรกว่า 97% กระจุกอยู่ในกรุงเทพและนนทบุรี ที่เป็นแหล่งที่ตั้งของสถานที่ราชการจำนวนมากอีกด้วย
.
นอกจากนี้เมื่อพิจารณา ‘งบประมาณ’ ที่ถูกแบ่งไปให้ยังจังหวัดต่าง ๆ แล้วจะพบว่า งบประมาณได้ถูกแบ่งไปยังจังหวัดที่พัฒนาแล้วหรือจังหวัดใหญ่มากกว่าจังหวัดเล็ก โดยงบประมาณที่แบ่งไปยังจังหวัดเล็กนั้นมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงมิติพื้นที่ขึ้นภายในประเทศไทยนั่นเอง
.
ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่นี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาทั้ง สถานการณ์ความยากจน การขาดโอกาสในการสร้างอาชีพ การเข้าถึงการศึกษาและบริการสาธารณสุขที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แถมงบประมาณลงพื้นที่นั้นยังมีความสัมพันธ์กับจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจเป็นอย่างมากอีกด้วย การที่จังหวัดที่รวยกว่ามักได้งบประมาณมากกว่า ยังแสดงให้เห็นถึงการรวมศูนย์และการรักษาสถานะความสำคัญของจังหวัดใหญ่อีกด้วย
.
จังหวัดที่มีจำนวนงบประมาณต่อประชากร 1 คน สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
– กรุงเทพมหานคร ที่มีสัดส่วนส่วนงบประมาณ 316,430 ต่อประชากร 1 คน
– จังหวัดนนทบุรี ที่มีสัดส่วนงบประมาณ 173,447 ต่อประชากร 1 คน
– จังหวัดนครปฐม ที่มีสัดส่วนงบประมาณ 29,653 ต่อประชากร 1 คน
.
สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีสัดส่วนส่วนงบประมาณเพียงแค่ 4,739 ต่อประชากร 1 คน
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณแบบนี้
.
1. ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ
.
แม้จะมีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ปัญหาดังกล่าวกลับไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญเมื่อเทียบกับเป้าหมายในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากแนวทางการจัดสรรงบประมาณของประเทศที่มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า
.
ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีลักษณะการเติบโตแบบกระจุกตัวในบางจังหวัดและบางพื้นที่ จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ตามมา ทำให้จังหวัดยากจนไม่สามารถพัฒนาและเติบโตได้เท่าทันจังหวัดร่ำรวย
.
ผลเสียก็คือ จังหวัดเหล่านี้ไม่สามารถเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ และต้องพึ่งพาพื้นที่เศรษฐกิจหลักไม่กี่จุดไปเรื่อยๆ
.
2. ไม่กระจายอำนาจ เลยกระจายงบฯได้ไม่ตรงจุด
.
งบประมาณที่ลงไปยังจังหวัดต่าง ๆ ถูกรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจใช้งบประมาณ เพราะผู้จัดงบประมาณส่วนใหญ่เป็นราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซึ่งควบคุมงบประมาณ 93% ในขณะที่ท้องถิ่นควบคุมงบประมาณเพียงแค่ 7%
.
ผู้จัดการงบประมาณเหล่านั้นก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ที่จะรับทราบถึงปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง แถมงบประมาณ 7% ก็ต้องถูกใช้เพื่อทำงานฝากจากรัฐบาลส่วนกลาง และยังต้องให้การสนับสนุนการดำเนินงานของส่วนกลางและภูมิภาคอีกด้วย
.
การกระจายอำนาจบริหารจัดการงบประมาณที่ผ่านมาจึงไม่ใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริง ยังมีการควบคุมจากราชการส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งต้องรีบดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
.
เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกกันอยู่แล้วถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ที่ทำให้เมื่อไปต่างจังหวัดแล้วรู้สึกว่าหลายจังหวัดนั้นยังไม่ได้ถูกพัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเป็นคำถามต่อไปว่า การที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณแบบเดิมต่อไปอย่างนี้เรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่?
.
ที่มา: สำนักงบประมาณ, The 101 .World, สถาบันพระปกเกล้า, กรมการปกครอง