บำนาญไทยรั้งติดอันดับ 44 จาก 44 ประเทศจากการจัดอันดับระบบบำนาญทั่วโลก สังคมสูงวัยเสี่ยงทำระบบบำนาญไม่พอ
เมื่อนานาประเทศเริ่มทยอยเข้าสู่สังคมผู้อายุ ความท้าทายที่จะตามมา คือ ‘การดูแลคุณภาพชีวิตคนสูงวัย’ ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านที่พัก ด้านสวัสดิภาพ รวมไปถึงด้านรายได้ หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการสร้างระบบบำเน็จบำนาญที่มีคุณภาพและมั่นคงเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากเกษียณไปจะไม่ลำบาก ส่วนรัฐจะไม่ต้องพะวงว่าจะเกิดภาระผูกพันที่จะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ
จะเห็นว่า ‘ระบบบำเน็จบำนาญ’ ที่ดี ทั้งนโยบายจากรัฐ การสนับสนุนของเอกชน รวมถึงการวางแผนการเงินของประชาชนเองเป็นเครื่องมีที่จะช่วยผู้สูงอายุใช้ชีวิตเกษียณอย่างสบายใจ ทว่าการดูแลควบคุมของรัฐ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดคุณภาพชีวิตของคนสูงวัยช่วงเกษียณอยู่ไม่มากก็น้อย
อ้างอิงจากผลสำรวจของ Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ประจำปี ครั้งที่ 14 โดย Mercer บริษัทบริหารสินทรัพย์จากสหรัฐอเมริกา ได้ทำการจัดอันดับระบบบำนาญจาก 44 ประเทศทั่วโลกคิดเป็น 65% ของประชากรโลก แสดงให้เห็นประสิทธิภาพมิติหนึ่งของการดูแลรายได้ผู้สูงอายุ
ดัชนีที่นำมาประเมินประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ
1) Adequacy ความพอเพียง ระดับรายได้และค่าครองชีพ เงินบำนาญที่มอบให้เพียงพอที่คนจนหรือผู้สูงอายุใช้ดำเนินชีวิตหรือไม่ ?
2) Sustainability ความยั่งยืน คือ ระบบจัดการบำนาญมีความมั่งคงยั่งยืนในระยะยาว เงินที่สะสมและเงินที่จะแจกออก ความเสี่ยงของเงินกองทุน และการปรับเบี้ยตามสัดส่วนประชากร
3) Integrity ความครบถ้วน พิจารณาเรื่องกฎระเบียบและธรรมาภิบาล การคุ้มครองและการสื่อสารสำหรับสมาชิก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
จากการสำรวจ 44 ประเทศพบว่า 10 อันดับแรกที่มีระบบบำเหน็จบำนาญดีที่สุดในโลกปี 2022 ประกอบด้วย 1.ไอซ์แลนด์ (คะแนน 84.7) 2.เนเธอร์แลนด์ (คะแนน 84.6) 3.เดนมาร์ก (คะแนน 82.0) 4.อิสราเอล (คะแนน 79.8) 5.ฟินแลนด์ (คะแนน 77.2) 6.ออสเตรเลีย (คะแนน 76.8) 7.นอร์เวย์ (คะแนน 75.3) 8.สวีเดน (คะแนน 74.6) 9.สิงคโปร์ (คะแนน 74.1) 10.สหราชอาณาจักร (คะแนน 73.7)
อันดับ 1 ตกเป็นของ ‘ไอซ์แลนด์’ อยู่ในทำเนียบต้น ๆ มาตลอดหลายปี ระบบบำนาญของไอซ์แลนด์ประสบความสำเร็จเพราะปลูกฝังให้คนในประเทศมีค่านิยมที่ ‘พร้อมจ่าย’ จากทั้งพนักงานและนายจ้าง มีการเรียกเก็บเงินสมทบที่มีประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำรายได้ของชนชั้นกลางและเพศต่ำ ผู้คนมีความรู้เรื่องการออมและการลงทุน จึงมีเงินระบบบำนาญสาธารณะที่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุระยายาว
รายงานฐานข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เคยคาดการณ์ว่าผู้สูงอายุชาวไอซ์แลนด์อาจได้เงินบำนาญเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 103,010 บาท และอาจเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของ GDP
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีระบบบำนาญเข้มแข็งส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรปและสแกนดิเนเวียที่ขึ้นชื่อเรื่องความโปร่งใสของรัฐ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง เป็นประเทศที่สงบสุข และหลายประเทศมีอัตราภาษีที่ค่อนข้างสูง เช่น เนเธอร์แลนด์ 136,520 บาท/เดือน, ลักเซมเบิร์ก 128,111 บาท/เดือน, เดนมาร์ก 121,144 บาท/เดือน, อิตาลี 78,439 บาท/เดือน, สวิตเซอร์แลนด์ 67,499 บาท/เดือน, ฝรั่งเศส 69,360 บาท/เดือน เป็นต้น (ข้อมูลของ OECD ปี 2018)
ด้านทวีปเอเชีย ยืนหนึ่งตกเป็นของประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 9 ของการจัดอันดับปี 2022 ประเทศอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง อันดับ 19, มาเลเซีย อันดับ 23, ญี่ปุ่น อันดับ 35, จีน อันดับ 36, ไต้หวัน อันดับ 37, เกาหลี อันดับ 38, อินโดนีเซีย อันดับ 39, อินเดีย อันดับ 41, ฟิลิปปินส์ อันดับ 43 และที่น่าเป็นห่วง คือไทยรั้งท้ายอยู่อันดับ 44 โดยการสำรวจชี้ว่าระบบบำเหน็จบำนาญของไทยถือว่ายังอ่อนแออย่างยิ่ง
ระบบบำนาญของสิงคโปร์มีลักษณะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง CPF (Central Provident Fund) แบบกองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution หรือ DC) แตกต่างจากประกันสังคมหรือบำเหน็จบำนาญของไทย เข้าใจง่าย ๆ คือ เก็บเงินออมมาไว้กองกลางโดยรัฐ เมื่อเกษียณหรือเลิกทำงานจะได้เงินคืนบวกผลประโยชน์จากการลงทุน สร้างความมั่นใจว่าเงินของแต่ละคนจะไม่ถูกคนอื่นใช้
เมื่อได้เงินคืน CPF เป็นระบบบังคับที่รัฐให้สมาชิกนำเงินมาจัดสรรเป็นรายจ่ายเป็นกรณี เช่น ซึ่งครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาล ทุพพลภาพ ตาย ที่อยู่อาศัย บำเหน็จบำนาญชราภาพ มีการแบ่งบัญชีตามวัตถุประสงค์ คือ บัญชีธรรมดา (Ordinary Account) บัญชีพิเศษ (Special Account) บัญชีรักษาพยาบาล (Medisave Account) ซึ่งทำให้รัฐมีส่วนจัดสรรเงินของประชาชนให้ยังดูแลตัวเองได้
มุมของการบริหารจัดการ ระบบบังคับการันตรีว่าผู้คนจะมีเงินเก็บไว้สำรองยามเกษียณ ทำให้ระบบจัดการบำนาญมั่นคง ไม่เสี่ยงต่อการล่มสลายของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบสมัครใจ (ของไทย) แต่ก็สร้างความกดดันให้ประชาชนอย่างมากที่ให้ต้องทำงานอย่างหนัก มีวินัยทางการเงิน พึ่งพาตัวเอง จนเคยมีการออกมาเรียกร้องให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมและดีต่อผู้มีรายได้น้อยมากกว่าเดิม
ตัดภาพมาที่ ‘ไทย’ ลักษณะของบำนาญเป็นแบบกองทุนแบบกำหนดประโยชน์ทดแทน (Defined Benefit หรือ DB) เช่น เงินประกันสังคมกรณีชราภาพ คนที่อยู่ในระบบถึงเกณฑ์จะได้รับเงินบำนาญสูงสุดที่เดือนละ 6,375 บาท กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเฉลี่ยตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉลี่ยต่อคนประมาณ 3 แสนบาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท/เดือน
แม้จะมีทางเลือกหลากหลาย แต่การศึกษาชี้ว่าระบบบำเหน็จบำนาญไทยยังอ่อนแอและขาดความชัดเจน โดยเฉพาะการดูแลคนที่อยู่นอกระบบและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการเข้าสู่ระบบบำนาญต้องพึ่งพาระบบสมัครใจ เช่น การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) หรือการเก็บเงินฝากด้วยตนเองในธนาคาร แต่เมื่อมีรายได้น้อย การบริการสภาพคล่องก็ไม่เอื้อต่อการลงทุนอยู่ดี
นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาสะสมต่อการจัดระบำนาญหลายอย่าง เช่น ผู้ที่จะได้รับบำนาญจำเป็นต้องเป็นแรงงานในระบบที่มีจำนวนเงินสะสมถึงเกณฑ์ ปัจจุบันคิดเป็นแค่ 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด กลุ่มแรงงานอิสระที่ไม่ได้เข้าร่วมกองทุนของรัฐจะสุ่มเสี่ยงจะขาดรายได้เมื่อเข้าสู่ชีวิตวัยเกษียณ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 2 เท่า นอกจากนี้ คนไทยมีองค์ความรู้ด้านเงินน้อย ขาดวินัยทางการเงิน มีรายได้ต่ำ หลายคนเลือกที่จะไม่ลงทุนหวังผลประโยชน์ระยะยาว ที่สำคัญ คือ ผลประโยชน์ของกองทุนยังต่ำ ไม่จูงใจให้คนทำงานเกิดการออมมากเท่าที่ควร
ข้อสังเกต คือ เงินบำนาญที่จ่ายออกเป็นเงินสมทบของสมาชิกที่ยังทำงานอยู่ ปัญหาจะเกิดเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย คนอายุยืนและจำนวนคนรอบรับบำนาญมากขึ้น ขณะที่คนทำงานส่งเงินเข้าระบบน้อยลง อาจทำให้สภาพคล่องมีปัญหา ขาดความมีเสภียรภาพ และนำไปสู่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด นั่นคือ ‘กองทุนเงินหมด’
เมื่อสังคมสูงอายุกำลังก้าวเข้ามา หลายประเทศ องค์กร นายจ้าง จึงเริ่มมีการปฏิรูประบบบำนาญไปเป็นกองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (DC) มากขึ้น มีการขยับอายุเกษียณเพื่อเพิ่มสัดส่วนแรงงาน เพิ่มค่าเฉลี่ยฐานเงินเดือนในสูตรบำนาญ และมีโอกาสเก็บเงินสมทบมากขึ้น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากไทยที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี 2568 ยังไม่เตรียมพร้อม สังคมผู้สูงอายุอาจเป็นภาระทางสังคมที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ไหนจะปัญหาเงินเฝ้อ ค่าครองชีพ โรคผู้สูงอายุ การลดลงของวัยแรงงาน และอื่น ๆ จะรวมกันเป็น ‘ระเบิดเวลา’ ที่นับถอยหลังไปสู่ปัญหาระดับประเทศ
คำถาม คือ ตอนนี้คุณเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตวัยเกษียณไว้ดีแค่ไหนแล้ว ?
แหล่งที่มา : Mercer, Visualcapitalist, OECD-ilibrary, ฺBrandinside, Workpointtoday, Themomentum, Office of Labour Affairs Royal Thai Embassy – Singapore, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), กรมกิจการผู้สูงอายุ, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)