ไทยวิกฤตแค่ไหน? เมื่อขยะกำลังจะล้นเมือง!

Highlight

#Agenda พาทุกคนสำรวจปริมาณขยะของแต่ละจังหวัดไปพร้อมกัน

.

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2021 ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 24.98 ล้านตัน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 31.6 หรือคิดเป็นขยะ 7.89 ล้านตันที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ในขณะที่มีขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องอยู่อีกมากกว่า 7.81 ล้านตัน สร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมเป็นอย่างมาก

.

โดยจังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยในปี 2021 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ : 

– กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอย 4,458,110 ตัน

– ชลบุรี มีปริมาณขยะมูลฝอย 1,003,750 ตัน

– สมุทรปราการ มีปริมาณขยะมูลฝอย 917,975 ตัน

.

สำหรับจังหวัดที่มีปริมาณขยะมูลฝอยน้อยที่สุด ได้แก่ สิงห์บุรี ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยในปี 2021 อยู่ที่  56,210 ตันเท่านั้น
.
เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พบว่าเกิดจากหลายปัจจัย 

.

จัดการไร้ประสิทธิภาพ

โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องและได้มาตรฐานไม่เพียงพอ ซึ่งมีจำนวนเพียง 115 แห่งเท่านั้น ประกอบกับการบริหารจัดการขยะของรัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ที่รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะ แต่กลับไม่มีสถานที่และวิธีการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม สุดท้ายแล้วก็ฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งสร้างมลพิษสะสม และใช้งบประมาณในการจัดการขยะสูงถึง 13,000 ล้านบาทต่อปี

.

ตัวอย่างการจัดการที่มีประสิทธิภาพได้แก่ ประเทศไต้หวัน ที่มีการอำนวยความสะดวกในการแยกขยะควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยประชาชนจะต้องซื้อถุงขยะจากเทศบาล และต้องนำมาทิ้งที่รถขนขยะแต่ละสีที่แตกต่างกันตามแต่ละประเภทของขยะภายในเวลาที่กำหนดเท่าน้ัน

.

วิธีนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาการคัดแยกขยะได้อย่างมาก แถมยังเป็นการเก็บค่าจัดการขยะจากประชาชนทางอ้อมอีกด้วย

.

นโยบายที่คลุมเครือ

อีกปัจจัยสำคัญคือ การวาง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ตั้งแต่ปี 2018-2030 ของประเทศไทย ที่มี 2 เป้าหมายหลัก คือ 1) ลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 2) นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ร้อยละ 100 ภายในปี 2027 ซึ่งนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้

.

ปัญหาขยะล้นเมือง ต่อเนื่องด้วยผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรง เช่น

.

เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

ขยะมูลฝอยมีทั้งความชื้นและสารอินทรีย์ที่ตกค้าง เมื่อเกิดการเน่าเปื่อยจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน หนู หรือแมลงสาบ ซึ่งเป็นพาหะที่อาจนำโรคมาสู่คนได้

.

ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทั้งในน้ำ ดิน หรือทางอากาศ โดยขยะโลหะหนัก เช่น ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว อาจปนเปื้อนต่อระบบนิเวศไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งหากคนนำไปบริโภคก็จะได้รับสารพิษเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกายด้วย ในขณะที่การเผาขยะจะสร้างควันพิษซึ่งจะลอยอยู่ในอากาศ เมื่อสูดดมเข้าไปเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจได้ 

.

ดังนั้น ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย จึงไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐในการรณรงค์หรือส่งเสริมให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกด้วยวิธีที่ ‘เห็นผล’ ชัดเจน 

.

ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ประสบปัญหาขยะมากกว่า 200 กิโลกรัมต่อวัน จึงมีการหาทางแก้ปัญหาโดยการเริ่มสร้างระบบและโรงแยกขยะขึ้น เพื่อ ‘เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร’ โดยนับสถิติปริมาณขยะของแต่ละชั้นเพื่อประเมินหากมีขยะมากเป็นพิเศษ ทำให้ภายในหนึ่งปีสามารถลดปริมาณขยะจาก 200 กิโลกรัมต่อวัน เหลือเพียง 29 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น

.

หรืออีกกรณีที่มีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและเห็นปัญหาพลาสติกล้นเมือง จึงเกิดไอเดียว่าจะเปิดร้านค้าแบบเติม (Bulk Store) แบบในต่างประเทศ เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการใช้ชีวิต Zero Waste ให้กับคนไทย จึงเกิดเป็นธุรกิจ ‘Refill Station’ ร้านขายสินค้าลดบรรจุภัณฑ์ที่ให้ลูกค้านำภาชนะมาเติมเองเต็มรูปแบบ โดยมีสบู่ แชมพู ครีมนวด โลชั่น ยี่ห้อทั่วไป จนถึงผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ควบคู่กับอุปกรณ์ที่ช่วยลดขยะพลาสติก เช่น หลอดดูดน้ำซิลิโคน หลอดไม้ แปรงทำความสะอาดหลอด แปรงสีฟันไม้ไผ่ เป็นต้น

.

Sources : ระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ, สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, School of Change Makers

Popular Topics