สิงคโปร์บำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดื่ม เยอรมันบำบัดน้ำเสียเป็นเบียร์ ท่อน้ำทิ้งญี่ปุ่นสะอาดจนเลี้ยงปลาคาร์ปได้ แต่สำหรับประเทศไทย การบำบัดน้ำเสีย ท่อน้ำ และแหล่งน้ำ คือหนึ่งในสิ่งที่มีปัญหาความสกปรกมากที่สุด ทั้งที่ในอดีตสายน้ำคือชีวิตของคนไทย
.
ในแต่ละปี ปริมาณน้ำเสียทั่วโลกจากการบริโภคมีมากถึง 360,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 49,000 ลิตรต่อคน แต่มีแค่ 2 ใน 3 หรือแค่ 240,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นที่ถูกจัดเก็บ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีน้ำที่สามารถเอากลับมาใช้ใหม่ใน อุตสาหกรรม การเกษตร หรือการอุปโภคและบริโภคได้เพียง 36,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ดังนั้นในแต่ละปี จะมีน้ำเสียที่ไม่ถูกจัดเก็บมากถึง 120,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับน้ำในเขื่อนภูมิพลถึง 10 เขื่อนเลยทีเดียว
.
การที่น้ำเสียไม่ถูกจัดเก็บและถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาตินั้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนขึ้นภายในธรรมชาติที่อาจส่งผลต่อทั้งคน สัตว์ และพืชพันธุ์ต่าง ๆ เป็นวงกว้าง หลายประเทศเองก็ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ จึงได้จัดทำระบบการบำบัดน้ำที่สามารถรองรับน้ำเสียได้จำนวนมากและมีประสิทธิภาพขึ้นมา
.
แต่ละประเทศมีวิธีจัดการน้ำเสียอย่างไร? #Agenda สรุปประเทศที่น่าสนใจมาให้แล้ว!
.
– ประเทศสิงคโปร์ EPI Rank 1
ประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งในด้านการจัดการทรัพยากรน้ำใน EPI Index โดยจุดเริ่มต้นมาจากการขาดแคลนทรัพยากรน้ำทำให้ประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับน้ำทุกหยดภายในประเทศ โดยน้ำเสียภายในประเทศสิงคโปร์จะถูกนำไปบำบัดในโรงงานผ่านกระบวนการกรอง การใช้จุลินทรีย์ และที่สำคัญคือการใช้รังสี UV เข้ามาช่วยในการกำจัดเชื้อโรคภายในน้ำ ทำให้น้ำมีความสะอาดมากจนสามารถนำมาดื่มได้อีกครั้ง หรือที่เรียกว่า “NEWater” นั่นเอง
.
โดย 1 โรงงานสามารถบำบัดได้มากถึง 900 ล้านลิตรต่อวัน และถูกส่งไปใช้ทั่วเมืองทั้งในการทำ cooling system ภายในตึก ใช้ในโรงงาน ใช้ในระบบประปาของเมือง และการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าร้อนอีกด้วย ซึ่งภายในระบบท่อน้ำจะมีตัววัดประจำในแต่ละจุด เพื่อให้สามารถควบคุมความสะอาดของน้ำในแต่ละบริเวณได้อีกด้วย
.
– ประเทศเยอรมัน EPI Rank 5
ในประเทศเยอรมันมีกฎหมาย The Federal Water Act (WHG) ที่กำหนดห้ามไม่ให้ครัวเรือน บริษัท และโรงงานขนาดใหญ่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ธรรมชาติโดยตรง ทั้งยังกำหนดให้ต้องจัดหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้นในการลดปริมาณสารพิษภายในน้ำด้วย โดยมีการกำหนดเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีเอาไว้ เช่น การใช้ reverse osmosis หรือการกรองผ่าน membrane ที่มีความละเอียดสูง และยังพยายามที่จะควบคุมและป้องกันปริมาณสารพิษในธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งดินและอากาศ ควบคู่ไปกับการควบคุมทรัพยากรน้ำด้วยเช่นกัน
.
โดยน้ำเสียที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการการบำบัดทั้งหมด ซึ่งเยอรมันเป็นหนึ่งใน 4 ของประเทศในสหภาพยุโรปที่สามารถบำบัดน้ำเสียในประเทศได้ครบหมด 100% แต่ละวันมีน้ำเสียที่ถูกผลิตมากถึง 22 ล้านลูกบาศก์เมตร ถูกนำเข้าสู่โรงงานบำบัดน้ำ 3,796 แห่งทั่วประเทศ ผ่านการบำบัดโดยการกรองและใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดแบคทีเรียและโลหะหนัก รวมทั้งยังมีกระบวนการแยกไนโตรเจนและฟอสฟอรัสออกจากน้ำเสียเพิ่มเข้ามา เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของสารเหล่านี้ในธรรมชาติ
.
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะล่าสุดในประเทศเยอรมันได้มีการเปิดตัว “Reuse Brew” เบียร์ที่ทำมาจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด โดยความร่วมมือของ “The Technical University of Munich” และเมือง “Wissembourg” ซึ่งแม้ยังเป็นแค่ตัวทดลองยังไม่มีการนำออกขายจริงในตลาด แต่ก็ได้รับคำชมในเรื่องรสชาติและเรื่องแนวคิดเป็นอย่างมาก
.
– ประเทศอิสราเอล EPI Rank 6
ประเทศที่เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุด สู่การเป็นผู้นำของโลกด้านการนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง เพราะนำ้ที่ใช้ภายในประเทศมาจากการนำน้ำทะเลมาบำบัดและการใช้น้ำบาดาลที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง ดังนั้นประเทศอิสราเอลจึงไม่อยากให้น้ำเหล่านั้นถูกใช้และทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงเลือกที่ลงทุนในระบบบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง
.
โดยน้ำเสียที่เกิดขึ้นในประเทศอิสราเอล 97% ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกครั้ง ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการทำเกษตรกรรม แต่มีประมาณ 10% ที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธรรมชาติ เช่น การเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำหรือการยับยั้งไฟป่า และอีก 5% ถูกปล่อยกลับสู่ทะเล แถมในโรงงานบำบัดน้ำบางแห่งยังมีการใช้ solar panel เพื่อสร้างพลังงานให้แก่โรงงานและลดการใช้พลังงานอีกด้วย
.
ปัจจัยที่ทำให้ระบบบำบัดน้ำของประเทศอิสราเอลประสบความสำเร็จมากเป็นเพราะความร่วมมือจากทุกฝ่ายภายในประเทศทั้ง ภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีการวิจัยอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับมาตรฐานของคุณภาพน้ำบำบัดและผลกระทบต่อสุขภาพคน สุขภาพพืชผัก ไปจนถึงสุขภาพดินในระยะยาว ทำให้ผู้คนในประเทศเชื่อมั่นและไว้ใจในการใช้น้ำบำบัดนี้ นอกจากนี้ยังทำให้การบำบัดน้ำถูกแยกตามวัตถุประสงค์ในการใช้น้ำหลังจากนั้นด้วย เช่น หากเป็นการใช้น้ำที่ไม่ได้รดโดนพืชผักโดยตรงก็ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการบางอย่าง ซึ่งช่วยลดต้นทุนและกระบวนการที่ไม่จำเป็น
.
– ประเทศญี่ปุ่น EPI Rank 30
80% ของบ้านในญี่ปุ่นมีท่อส่งน้ำเสียของรัฐผ่านบริเวณใต้บ้าน ทำให้ครัวเรือนสามารถทิ้งของเสียลงท่อได้โดยตรง แต่อีก 20% ที่เป็นพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกล ทุกบ้านจะต้องซื้อเครื่องทำความสะอาดน้ำที่มีกระบวนการกรองและใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดเชื้อโรคติดตั้งที่บ้าน และต้องมีการตรวจเช็คการทำงานของเครื่องเป็นประจำในทุกปีตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้น้ำที่ปล่อยออกมาจากครัวเรือนนั้นมีความสะอาดมากจนไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดของทางรัฐอีกครั้ง
.
สำหรับน้ำที่ถูกส่งลงท่อกลางนั้นจะถูกส่งไปยังโรงงานบำบัดน้ำเสียของทางรัฐ ซึ่งจะผ่านกระบวนการทั้งการคัดแยกตะกอน การใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดเชื้อโรค การกรองน้ำ และการทำความสะอาดอีกครั้งก่อนที่จะปล่อยน้ำกลับสู่แหล่งธรรมชาติ และท่อน้ำเสียจะถูกแยกต่างหากจากท่อที่รับน้ำฝนภายในเมืองเพื่อไม่ให้เกิดการปนกันของน้ำฝนกับน้ำเสีย ซึ่งน้ำที่ปล่อยออกมานั้นมีความสะอาดมากถึงขนาดที่สามารถเลี้ยงปลาคาร์ปได้เลยทีเดียว ซึ่งการเลี้ยงปลาคาร์ปในท่อน้ำนั้นสามารถทำให้สถานที่ธรรมดากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกด้วย
.
นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำมีความสะอาดของประเทศญี่ปุ่น คงหนีไม่พ้นความมีระเบียบของคนญี่ปุ่นที่จะออกมาทำความสะอาดบริเวณรอบบ้านหรือชุมชนของตัวเองซึ่งรวมไปถึงบริเวณท่อน้ำด้วยโดยทางหมู่บ้านจะกำหนดวันในการทำความสะอาดในทุกสัปดาห์ และทางภาครัฐเองก็อำนวยความสะดวกด้วยการปิดไม่ให้น้ำไหลผ่านในบริเวณที่ชาวบ้านกำลังทำความสะอาดท่อน้ำกันอยู่ด้วยเช่นกัน
.
– ประเทศไทย EPI Rank 121
ถูกจัดให้อยู่ในลำดับ 121 จาก 180 ประเทศทั่วโลกในเรื่องของระบบการจัดการน้ำ ประเทศไทยแม้จะมีโรงงานบำบัดน้ำแต่ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องการนำน้ำทั้งหมดเข้าสู่ระบบการจัดการ แค่เพียงในกรุงเทพฯ ก็มีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดล้นมากถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันแล้ว ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการพยายามขยายโรงงานให้มากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องระบบการจัดการน้ำของประเทศไทยมีเยอะมากกว่าจำนวนของโรงงานไม่เพียงพอ
.
สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ปัญหาเรื่องระบบการระบายน้ำของประเทศไทยที่ใช้เป็นระบบท่อรวมโดยให้น้ำเสียที่เกิดจากครัวเรือนหรือโรงงาน และน้ำฝนถูกระบายในระบบท่อเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อระบบการบำบัดน้ำเป็นอย่างมาก เพราะน้ำฝนและน้ำเสียมีระบบในการบำบัดที่เหมาะสมแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำล้นในกรณีที่ฝนตกหนัก และนำไปสู่การที่น้ำเสียรั่วไหลออกไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย แต่การจะจัดการรื้อระบบท่อใหม่ทั่วประเทศนั้นก็เป็นไปได้ยากเช่นกันเนื่องจากปัญหาด้านผังเมืองและด้านงบประมาณ
.
ปัญหาต่อมาคือ การทิ้งน้ำเสียหรือสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำโดยตรงของประชาชนและโรงงานต่าง ๆ ที่เป็นอย่างนี้เพราะกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้นมีเนื้อหาที่แตกต่างกันทำให้เกิดความไม่ชัดเจนของค่ามลพิษในน้ำที่สามารถปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ของโรงงาน และกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยนั้นไม่ได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรง และขาดการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพมากพอจนทำให้ประชาชนไม่ได้หวาดกลัวต่อกฎหมายด้วย
.
ที่มา: EPI Environmental Performance Index, PUB Singapore’s national water agency, WION, livemint, OGS, Federal Ministry for the Environment, Nature Conservation, Nuclear Safety and Consumer Protection, WISE-Freshwater, Stadt Zürich, DW, moneycontrol, European Commission, fluencecor, EPA and the Israeli Ministry of Environmental Protection, ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น,Rocket Media Lab, สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร, กรมควบคุมมลพิษ, กรมชลประทาน