“เด็กรุ่นใหม่มันไม่อดทน นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่เอาแล้ว”
“เด็กสมัยนี้ทำงานไม่เป็น”
เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่เกือบทุกคนคงเคยได้ยินคำสบประมาทจากผู้ใหญ่กันจนชิน และคงรู้สึกว่าคำพูดเหล่านี้เป็นอคติที่ผู้ใหญ่ใช้เพื่อโจมตีเด็ก อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพของเด็กเกิดใหม่เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่าเรื่องไหน ๆ เนื่องจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้สภาพสังคมไทยไม่ได้เอื้ออำนวยให้เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ
คุณภาพของเด็กไทยในปัจจุบันแย่ลงในทุก ๆ ด้าน โดยจากสถิติพบว่า มีเด็กไทยที่ท้องในวัยเรียนสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ส่วนในเรื่องการศึกษาก็พบว่า มีเด็กไทยกว่า 5 แสนคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา อีกทั้งผลการทดสอบ PISA ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยกว่า 70% อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ อัตราการก่ออาชญากรรมโดยเด็กก็สูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่พบว่า มีเด็กไทยกว่า 39.5% ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด
#Agenda รวบรวม 3 ปัญหาหลัก ที่ส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ไม่เอื้อให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ จนนำไปสู่ปัญหาคุณภาพเด็กไทยด้อยลงอย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
คุณภาพของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ
พ่อแม่หลายคนไม่ได้พร้อมมีลูก ไม่ได้วางแผนการเลี้ยงลูกไว้ล่วงหน้า หลายคนก็มีลูกเพราะพลาด ทำให้ไม่สามารถรับมือกับภาระที่ตามมาจากการมีลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกที่สูงมาก เพราะจะเลี้ยงลูกคนนึงให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างสบาย พ่อแม่ต้องมีเงินเตรียมไว้อย่างน้อยปีละเป็นล้าน ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เตรียมแผนการเงินไว้ พอถึงเวลาก็ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูกจนไม่มีเวลามาอบรมเลี้ยงดูลูก ไหนจะความไม่พร้อมในเรื่องวุฒิภาวะอีก ถ้ามีลูกตั้งแต่วัยรุ่นก็ไม่รู้ว่าจะสามารถเลี้ยงลูกอย่างดีในสภาพสังคมแบบนี้ได้ไหม เพราะสภาพสังคมปัจจุบันก็เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม
ภาครัฐละเลยหน้าที่
ภาครัฐเองก็มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะการสร้างสวัสดิการและนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเด็ก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันภาครัฐไทยได้ละเลยหน้าที่เหล่านี้ไป ทำให้เด็กไม่ได้รับสวัสดิการที่สมควรจะได้รับ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ที่มีเด็กจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไป เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม อีกทั้งหลักสูตรที่มีอยู่ก็เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง บางวิชาก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้เด็กไว้ใช้ในอนาคต ทำให้เด็กไทยไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะแข่งขันกับโลกภายนอก
นอกจากนี้ การที่ภาครัฐไม่มีนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ยังส่งผลเรื้อรังไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของพ่อแม่เด็กในยามแก่เฒ่าอีกด้วย พ่อแม่หลายคนกังวลว่าตัวเองจะลำบากในอนาคต เลยกดดันให้ลูกต้องกลับมาเลี้ยงตัวเองยามแก่ตัวไป หรือเอาเรื่อง “บุญคุณ” มาทำร้ายลูก หนำซ้ำยังมีความเชื่อว่าลูกเป็น “สมบัติ” ของตนเอง ทัศนคติเหล่านี้ทำให้เด็กเติบโตมาโดยไม่ได้รับความรักอย่างเต็มที่ ขาดการอบรมที่ดีจากพ่อแม่ ในทางกลับกัน หากภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างนโยบายและสวัสดิการเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวมากกว่านี้ เด็กก็จะมีโอกาสในการโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น
สื่อที่บิดเบี้ยว
สื่อและโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญที่คอยรักษา ส่งต่อ และผลิตซ้ำภาพแทน (representation) และทัศนคติของคนในสังคม ในปัจจุบัน มีสื่อจำนวนมากที่มักสื่อสารมุมมองผิด ๆ และทำให้มุมมองเหล่านั้นดูสวยงาม จนกลายเป็นความเชื่อผิด ๆ ในสังคม และส่งผลกระทบโดยตรงจากเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถคิดอย่างซับซ้อนได้เท่าผู้ใหญ่ จนอาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากสื่อและโซเชียลมีเดียได้ เช่น บางครั้งการที่สื่อสร้างตัวละครคุณแม่วัยรุ่นออกมาในหน้าจอทีวี คนสร้างอาจจะมีจุดประสงค์ให้คนเห็นว่า การเป็นแม่ในวัยไม่พร้อมมันยาก แต่คนดูอาจจะไปตีความเพี้ยนเอง กลายเป็นมองว่าท้องวัยรุ่นเท่ากับดี จนนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรม ดังนั้น หากผู้ผลิตสื่อไม่คำนึงถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาระดับสังคมที่มองว่ามายาคติการมีลูกด้วยความไม่พร้อมเป็นเรื่องปกติได้
สังคมทุกวันนี้มีแต่ปัญหาเต็มไปหมด หนำซ้ำยังเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาคุณภาพคนในประเทศอีก ขนาดเป็นผู้ใหญ่ก็ยังรู้สึกว่าอยู่ยาก ก็คงไม่แปลกที่เด็กเกิดใหม่จะคุณภาพลดลง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขสภาพสังคมเพื่อเอื้อให้เด็กได้เติบโตอย่างดี ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูก ภาครัฐที่ต้องออกนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม คนในสังคมที่ต้องช่วยกันสร้างทัศนคติที่ดี สื่อที่ต้องคำนึงถึงคนดู และเด็กที่ต้องให้ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพ ดังนั้น การจะสร้างบุคลากรคุณภาพที่จะมาขับเคลื่อนประเทศในอนาคตเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเริ่มแก้ไขตั้งแต่ระดับฐานรากไปสู่ยอด และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะร่วมมือกันเพื่อคุณภาพเด็กที่ดีขึ้น