‘เครื่องแบบนักเรียน’ สร้างความเท่าเทียม หรือ ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย?
ช่วงที่ผ่านมาเกิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับ ‘ชุดลูกเสือและเนตรนารี’ ที่ปรับราคาขึ้นสูงแตะหลักพัน ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ราคาเกินกำลังซื้อมากขึ้นทุกวัน จนเป็นที่ถกเถียงและความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝั่งว่า วิชาดีมีประโยชน์ แค่ ‘หาทางแก้’ ก็น่าจะเพียงพอ หรืออีกฝั่งที่คิดว่า ‘ควรยกเลิก’ วิชานี้ให้หมดปัญหาไป
อย่างไรก็ตาม ในหนึ่งอาทิตย์ไม่ได้มีแค่ชุดลูกเสือ/เนตรนารี แต่ยังต้องมีชุดเครื่องแบบอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดรด. ยังไม่นับที่บางโรงเรียนยังกำหนดวันที่ใส่ชุดไทย หรือชุดพื้นเมืองอีก นับว่าเป็นภาระใหญ่ของผู้ปกครองเลยทีเดียว
#AGENDA เปิดลิสต์รวมราคาเครื่องแต่งกาย (ที่จำเป็น) ของเด็กหนึ่งคนสำหรับไปโรงเรียน ผู้ปกครองต้องควักเงินจ่ายค่าอะไร เท่าไหร่บ้าง?
🟠 ชุดลูกเสือ/เนตรนารี 🟠
ชุดที่ใส่แค่อาทิตย์ละวัน แค่ตัวเสื้อ กางเกง/กระโปรง ถุงเท้า และรองเท้า รวมกันก็ราคากว่า 1,329 บาทแล้ว ยังไม่รวมอุปกรณ์อื่น ๆ อย่าง เข็มขัด หมวก+เข็มติดหมวก ผ้าพันคอ อินทรธนู พู่ เข็มและป้ายต่างๆ ที่ต้องมีให้ครบ เวลานี้ยื่นแบงค์พันไป 2 ใบก็แทบไม่เหลือทอนอีกต่อไป
🔵 ชุดนักเรียน 🔵
ส่วนหลักอย่างเสื้อ กางเกง/กระโปรง ถุงเท้า และรองเท้าก็ 858 บาท บวกอีก 160 บาทเป็นค่าเข็มขัด รวม ๆ อยู่ที่ 1,018 บาท และนักเรียนหญิงเองยังต้องแบกรับค่าโบว์ 25 บาท ถือได้ว่าค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่เพิ่มเข้ามาตามกฎระเบียบ
🟢 ชุดรด. 🟢
อากาศประเทศไทยก็ว่าร้อนแล้ว ชาวรด.กลับต้องใส่ทั้งเสื้อในเสื้อนอก กางเกง ถุงเท้า รองเท้า และอุปกรณ์เสริม เช่น หมวก เข็มขัด ซิ่ง และป้ายต่างๆ แบบเต็มยศ ทั้งหมดนี้รวมแล้วเกือบ 2,000 บาท
⚫️ ชุดพละ ⚫️
ชุดที่คล่องตัว ใส่กันบ่อย ดูจะใช้ประโยชน์ได้จริงก็คงต้องชุดพละ ครบเซตซื้อได้ในราคา 854 บาท ราคาค่อนข้างสูงแต่ก็ถือว่าราคาถูกเมื่อเทียบกับชุดอื่น
แค่ส่วนหลักของเครื่องแบบก็ว่าแพงแล้ว ยังต้องมีอุปกรณ์เสริมอีกนับไม่ถ้วน และที่สำคัญ ‘ต้องมีครบ’ และรูปแบบเป็นตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นก็โดนลงโทษหรือหักคะแนนกันไป
สรุปแล้วเครื่องแบบมีประโยชน์กับนักเรียนจริงไหม?
หากเทียบกับราคาที่สูงลิบที่ต้องจ่าย การใส่เพื่อความเรียบร้อย ใส่เพราะทำกันมานาน เป็นความภาคภูมิใจ หรือลดความเหลื่อมล้ำ ข้อดีที่ (คนส่วนหนึ่ง) ว่ามานี้มีน้ำหนักหรือสมเหตุสมผลมากพอหรือไม่ที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงกดทับอิสรภาพทางความคิดของนักเรียนตั้งแต่เริ่มต้น