ถ้าถามว่าทักษะไหนที่คนรุ่นใหม่ขาดมากที่สุด?
หลายคนอาจจะบอกว่าทักษะด้านภาษา หรือทักษะด้านการสื่อสาร
แต่จริงๆแล้ว รู้ไหมว่ายังมีอีกทักษะนึง
ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังขาดอยู่เป็นอันดับต้นๆ
นั่นก็คือ ‘ทักษะความรู้ทางการเงิน’
จนเกิดเป็นพฤติกรรมทางการเงินสุดเฟลแบบฮิตๆอย่าง
‘5 ต้นตอปัญหาการเงินคนรุ่นใหม่’ ที่เราได้นำเสนอไปแล้วใน ep.1
ซีรีย์ ‘คนรุ่นใหม่มั่งคั่งได้ ถ้าเข้าใจการเงิน’ #ShapeYoungMind
โดย #TU #BBL X #AGENDA จะมีทั้งหมด 6 EP.
ที่จะชวนคนรุ่นใหม่มาพูดคุยถึงปัญหาการเงิน และค่อย ๆ สร้างความรู้ทางการเงินไปด้วยกัน
มาต่อใน EP.2 : มารู้จัก 5 ทักษะทางการเงิน ที่คนรุ่นใหม่ ไม่มีไม่ได้! จะมีอะไรบ้าง มาดูกันครับ
ความรู้และทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) 5 ด้าน (1) ได้แก่
1. หา
ทักษะแรกเพื่อให้เรามีเงิน ก็คือทักษะในการ #หารายได้
รายได้มาจากไหน? มาแบบไหนบ้าง?
ความหมายก็คือเราจะหารายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้จากอะไรบ้าง ?
เช่น ทักษะ แรงงาน ความถนัด หรือหาจากทรัพย์สินที่มีอยู่
รวมไปถึงเข้าใจรูปแบบของรายได้ Active/Passive Income
และแนวคิดการสร้างรายได้มากกว่า 1 แหล่ง นอกเหนือจากงานประจำ เช่น อาชีพเสริม ฟรีแลนซ์ เป็นต้น
โดยแหล่งการสร้างรายได้ ได้แก่
1. Earned Income เงินเดือนจากงานประจำ เงินเดือนจากอาชีพเสริม
2. Profit Income กำไรธุรกิจ
3. Interest Income ดอกเบี้ยธนาคาร
4. Dividend Income เงินปันผล เช่น หุ้น ธุรกิจ
5. Rental Income เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าเช่าพื้นที่
6. Capital Gain กำไรจากส่วนต่างราคา เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์
7. Royalty Income เช่น ค่า Franchise
โดยรายได้นี้ เกิดจากการทำงานของเรา (Active Income) หรือเกิดจากการให้เงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่สร้างรายได้ให้กับเรา (Passive Income)
ซึ่งเราควรมีทั้ง Active และ Passive Income ควบคู่กัน เพื่อเพิ่มรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ออกจากงาน หรือ เกิดอุบัติเหตุ ก็จะสามารถรับมือได้
————-
2. ใช้
ทักษะที่สอง ‘ใช้’ คือการ #บริหารค่าใช้จ่าย
เราต้องบริหารรายจ่าย ให้น้อยกว่ารายได้ ให้มีเงินเหลือ เพื่อการออมและการลงทุน
โดยกำหนดงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อเพิ่มหรือลดในสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น
ด้วยหลักการนี้ จะสามารถแปลออกมาเป็นสมการที่จำง่าย ก็คือ
รายได้ – เงินออม – ค่าใช้จ่ายประจำ = เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (2)
จากสมการด้านบน จะเห็นได้ว่ารายจ่าย ประกอบไปด้วย 2 ประเภท
2.1 รายจ่ายประจำ หรือรายจ่ายที่เป็นภาระผูกพัน (ภาระหนี้)
เช่น ค่าเช่า ค่าผ่อนบ้าน เบี้ยประกัน ภาษี เป็นต้น
2.2 เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือรายจ่ายผันแปร
คือ รายจ่ายที่บริหารจัดการได้ ผันแปรตามแต่ละบุคคล แต่ละเดือน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นต้น
เมื่อเข้าใจค่าใช้จ่ายแต่ละแบบ จะช่วยให้เราวางแผนสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับรายได้ของเราได้ โดยอาจจะใช้การแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจนสำหรับเงินแต่ละส่วน เช่น เงินออม 20% รายจ่ายจำเป็น 45% รายจ่ายในชีวิตประจำวัน 35% เป็นต้น(3)
3. ลงทุน
ทักษะที่สาม ‘ลงทุน’ #รู้จักออมเงินและลงทุน
ออมอย่างไร? ลงทุนอะไรได้บ้าง? เสี่ยงหรือไม่?
3 คำถามสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองก่อนลงทุน
หลังจากตั้งเป้าหมายในการออมและลงทุน
ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เกษียณอายุ
รวมถึงเข้าใจ และสามารถตัดสินใจเลือกประเภทของการออม
และการลงทุนตามผลตอบแทน ที่ต้องการได้
ประเภทการลงทุนที่เราเจอกันบ่อย ๆ มี 7 ประเภท(4) ด้วยกันคือ
3.1 เงินฝากธนาคาร :
ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนไม่มาก แต่ก็เหมาะกับการเก็บเงินสดที่ดีกว่าเก็บในกระปุกแน่นอน
3.2 หุ้น :
การลงทุนในหุ้น มีคอนเซ็ปท์ง่าย ๆ ว่าผู้ถือหุ้นเปรียบเสมือนเป็น “เจ้าของกิจการ” ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลจากการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน และ กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น
3.3 กองทุนรวม :
การรวบรวมเงินของนักลงทุน นำมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้นๆ กำหนดไว้ โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพช่วยบริหารจัดการเงินของกองทุน กองทุนแต่ละกองจึงมีผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน
3.4 อนุพันธ์ :
สัญญาทางการเงินที่ทำขึ้นเพื่อให้สิทธิในการซื้อหรือขาย “สินค้าอ้างอิง” (Underlying Asset) ในอนาคต พูดง่ายๆ คือ “ผู้ซื้อ” และ “ผู้ขาย” ทำสัญญาตกลงกันวันนี้ ว่าจะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง จำนวนกี่หน่วย ที่ราคาเท่าใด แล้วจะส่งมอบและชำระราคากันเมื่อใด โดยอนุพันธ์จะทำการซื้อขายผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX
3.5 DW หรือ Derivative Warrants :
เครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้ลงทุนได้ด้วยจำนวนเงินที่น้อยกว่า และสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า ทั้งตลาดหุ้นขาขึ้นและขาลง แถมยังสามารถใช้บริหารพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย
3.6 ETF หรือ Exchange Traded Fund :
กองทุนที่สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหรือราคาสินทรัพย์ที่กองทุนใช้อ้างอิง (Passive Fund) ซึ่งมีหลากหลายประเภท ETF จะซื้อขายแบบ Real-Time รู้ราคาซื้อขายได้ทันทีเหมือนการซื้อขายหุ้น ไม่ต้องรอลุ้น NAV ตอนสิ้นวันทำการแบบกองทุน
3.7 ตราสารหนี้ (Bond) :
ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ (นักลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ ตัวอย่างตราสารหนี้ที่พบเห็นทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน ตราสารหนี้ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก
นอกจากนี้ยังมีการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ไม่ว่าเราจะเลือกลงทุนอะไร ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุน ว่าการลงทุนแต่ละแบบมีความเสี่ยงแค่ไหน สามารถหาวิธีในการกระจายความเสี่ยงเหล่านี้ยังไง และที่สำคัญก็คือ ตัวเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน?
————-
4. กู้ยืม
เห็นหนี้อย่าเพิ่งหนี แต่เราจะ #เข้าใจการกู้ยืมเงิน
หลายคนมองว่าการก่อหนี้เป็นเรื่องไม่ดี
แต่ถ้าเรามีทักษะ ‘กู้ยืม’
เราจะสามารถบริหารหนี้ได้ และไม่ก่อหนี้เกินตัว
สามารถคำนวณต้นทุนทางการเงิน ในการบริหารหนี้สิน
รวมไปถึงเข้าใจการ Leverage ที่ดี จะสามารถสร้างความมั่งคั่งได้
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (2015) แบ่งประเภทหนี้ออกเป็น 2 แบบง่าย ๆ โดยใช้ ‘วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้’ และ ‘ผลลัพธ์ที่เกิดจากการก่อหนี้’ เป็นตัวเกณฑ์แบ่งหนี้ทั้งสองออกจากกัน คือ
4.1 หนี้ดี
หนี้ที่ดี จะต้องทำให้เรามั่งคั่งขึ้น และไม่กระทบต่อสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน
4.2 หนี้ไม่ดี
หนี้ที่ไม่ดี คือการเป็นหนี้ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน
แล้วหนี้จะกระทบสภาพคล่องเมื่อไหร่?
นี่คือจุดสำคัญของการแบ่งหนี้ดีและไม่ดีออกจากกัน แม้เป้าหมายการเก็บออมและค่าใช้จ่ายประจำวันแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่โดยเฉลี่ยแล้ว สัดส่วนของหนี้สิน ที่จะกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำของเรานั้นไม่ควรเกิน 50% ของรายได้ (5)
ประเภทหนี้ส่วนบุคคลที่เราจะเจอแน่นอนในชีวิตประจำวัน ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น
นอกจากการเข้าใจประเภทหนี้และสัดส่วนของหนี้แล้ว
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ‘ดอกเบี้ย’
ดอกเบี้ยถือเป็นผลตอบแทนของผู้ให้กู้ แต่ผู้กู้ก็ต้องรู้ทันและเข้าใจการคำนวณดอกเบี้ยแบบต่าง ๆ ด้วย เพื่อระมัดระวังไม่ให้เกิดการ ‘หมุนเงินไม่ทัน’ และ ‘ผิดนัดชำระจ่ายหนี้’
ถ้าเรา ‘ผิดนัดชำระจ่ายหนี้’ กับสถาบันการเงิน ประวัติการผิดนัดชำระของเรา จะถูกบันทึกไว้ที่เครดิตบูโร ซึ่งเป็นบริษัทตัวกลางที่ทำหน้าที่บันทึกประวัติการชำระเงิน ถ้ามีประวัติผิดนัดชำระ เราก็จะ ‘เสียเครดิต’ ทำให้การยื่นกู้ครั้งต่อไปกับสถาบันการเงินก็อาจจะยากขึ้นได้
————-
5. ปกป้อง
ทักษะสุดท้ายคือ ‘ปกป้อง’ #ปกป้องมูลค่าทรัพย์สินและชีวิต
ทักษะนี้คือ การรู้จักปกป้องมูลค่าทรัพย์สินของเรา เช่น ชีวิต บ้าน รถยนต์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ผ่านความเข้าใจรูปแบบและประโยชน์ของประกันต่าง ๆ และสามารถจัดการความเสี่ยงทั้งการเสี่ยงโชค การพนันหรือโอกาสการสูญเสียรูปแบบอื่นๆ ได้
การประกันภัยบุคคลนั้นเป็นการประกันภัยเกี่ยวกับภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือที่เกิดกับบุคคล ประกันเหล่านี้ สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท (6) ก็คือ
5.1 การประกันชีวิต(7)
– การประกันชีวิตแบบสามัญ : คุ้มครองการสูญเสียรายได้ที่เกิดจากกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหรือเพื่อเป็นการออมทรัพย์สำหรับผู้เอาประกันภัยตามระยะเวลาที่ตนต้องการ การประกันชีวิตประเภทนี้มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป
การประกันชีวิตแบบสามัญเป็นประกันที่เราจะเจอบ่อยที่สุด เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความมั่นคงและหลักประกันส่วนหนึ่งให้ตัวเราและคนที่เรารัก นอกจากนี้ก็จะมีการประกันชีวิตแบบอุตสาหกรรม และการประกันชีวิตแบบกลุ่ม
5.2 การประกันอุบัติเหตุ (8)
เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
5.3 การประกันสุขภาพ (9)
การประกันภัยสุขภาพ คือ การประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
การประกันภัยสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล และการ ประกันภัยสุขภาพกลุ่ม
ส่วนการพนันนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจ คือเจ้ามือหรือผู้ออกแบบกฎกติกาก็ชนะวันยังค่ำ ดังนั้น ค่าเฉลี่ยของสิ่งที่จะได้กลับคืนมาจากการเล่นพนัน จะมีมูลค่าน้อยกว่าราคาที่เสียเงินแทงหรือซื้อไปแน่นอน (10)
ดังนั้น สิ่งที่หวังได้จากการพนัน คือความสนุกในการเสี่ยงโชค ที่ต้องระมัดระวังไม่ให้สูญเสียเงินกับความบันเทิงตรงนี้มากจนเกินไป จนความสนุกกลายเป็นความสูญเสีย
5 ทักษะทางการเงินนี้ ต้องมีให้ครบถ้วน จะขาดทักษะใดทักษะหน่ึงไปไม่ได้
เช่น ถ้าหาเงินเก่ง แต่ไม่ควบคุมค่าใช้จ่าย ก็จะไม่มีเงินเก็บ หรือ ถ้าเรารู้จักออม แต่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน ลงทุนขาดทุน เงินก็ไม่งอกเงย
อยากมี ‘ #ทักษะการเงิน ’
ติดตามซีรีย์ ‘คนรุ่นใหม่มั่งคั่งได้ ถ้าเข้าใจการเงิน’
กับ #AGENDA x #BBL กันต่อในอาทิตย์ถัดไป
ได้ที่ช่องทางต่าง ๆ ของ #Agenda นะคะ
ที่มา:
(1) The Pennsylvania State University. (2021). MoneyCounts: A Penn State Financial Literacy Series. Https://Psu.Instructure.Com/Courses/1806581. https://psu.instructure.com/courses/1806581
(2) Cholvatanapong, T. (2018, September 20). Tips การแบ่งสัดส่วนรายได้ให้ไม่ต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือน. Salary Investor. https://salaryinvestor.com/guide/monthly-money-management/
(3) เคล็ดลับการออมเงินง่าย ๆ ด้วย 4 วิธีแบ่งสัดส่วนเงิน. (2017). MoneyHub. https://moneyhub.in.th/article/how-to-manage-money-for-saving/
(4) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2021). Checklist 6 เรื่องต้องรู้ สำหรับมือใหม่. SET Investnow. https://www.setinvestnow.com/th/beginner/6things-beginner-needs-to-know
(5) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2015). วางแผนหนี้สิน . https://www.set.or.th/education/th/start/start_start_3_3.pdf
(6) ประเภทของการประกันภัย. (n.d.). สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.https://www.oic.or.th/th/education/insurance/about/category
(7) ประเภทของการประกันชีวิต. (n.d.). สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย. https://www.oic.or.th/th/education/insurance/life/life-category
(8) การประกันภัยอุบัติเหตุ. (n.d.). สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.https://www.oic.or.th/th/education/insurance/accident
(9) การประกันภัยสุขภาพ. (n.d.). สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.https://www.oic.or.th/th/education/insurance/health
(10) Pichet, T. (2019, July 8). คณิตศาสตร์ประกันภัยความเหมือนที่แตกต่างกับการพนัน. FINNOMENA. https://www.finnomena.com/tommy-actuary/actuarial-sci-vs-gambling/