เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยอยู่ตรงไหน?

Highlight

ทักไปเขาก็ไม่อ่าน แต่รัฐบาลอ่าน #เรื่องสยองสองบรรทัด บรรทัดแรกว่าเศร้าแล้ว บรรทัดสองสยองยิ่งกว่า เพราะมันเป็นมุกเปรียบเปรยที่อาจเป็นความจริงในไทย แล้วเสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยอยู่ตรงไหน?

จากการเผยแพร่รายงานว่าด้วยเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต (Freedom on the Net) โดย Freedom House องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ พบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่เคยมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่ามีเสรีภาพอย่างเต็มตัวบนโลกออนไลน์

Freedom House ประเมินโดยใช้ 3 เกณฑ์ คือ
– อุปสรรคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
– การควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต
– และการละเมิดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

ซึ่งคะแนนในปีล่าสุด 2020 จุดที่ไม่ได้คะแนนเลย (ยิ่งน้อยยิ่งไร้เสรีภาพ) ส่วนใหญ่มีเหตุผลมาจากพฤติกรรมต่างๆ ของรัฐ เช่น มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง มีการออกมาตรการควบคุมและจำกัดในสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) เป็นต้น

💬 รวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ
#เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทย ในปี 2020

🚫 แบน change.org : เว็บไซต์เข้าชื่อรณรงค์ https://change.org ถูกปิดกั้นในประเทศไทย
🚫 เฟซบุ๊ก ออกแถลงการณ์ว่าเตรียมดำเนินคดีทางกฎหมายกับรัฐบาลไทย หลังเฟซบุ๊กถูกบังคับให้จำกัดเนื้อหา และปิดการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ในประเทศไทยกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส”
🚫 คลิปวิดีโอชื่อ “อานนท์ นำภา #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน | 10 ส.ค.63″ ที่เผยแพร่ผ่านยูทูบช่อง prachatai ถูกจำกัดการเข้าถึงภายในประเทศไทย โดยมีข้อความแจ้งว่า “เนื้อหานี้ไม่สามารถรับชมได้บนโดเมนของประเทศนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล”
🚫 กระทรวงดีอีเอสขอความร่วมมือให้เลขาธิการ กสทช.ดำเนินการแจ้งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกรายระงับการใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram)
🚫 แบนเว็บไซต์ Pornhub โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยว่าเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นสื่อลามกอนาจารซึ่งเป็นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย
🐦 ฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทวิตเตอร์ รายงานว่าไทยเป็นประเทศที่พบบัญชีทวิตเตอร์เครือข่ายผู้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือที่รู้จักกันในชื่อ IO มากที่สุด 926 บัญชี

💬 จำได้ไหมว่าในปี 2559

มีการเคลื่อนไหวต่อต้านพรบ.คอมฯ ผ่านการลงชื่อเว็บไซต์ change.org กว่า 360,000 ราย และหลายฝ่ายที่ออกมาส่งเสียงค้าน ตั้งแต่ประชาชนทั่วไป ไปจนถึงถึงกลุ่มแฮกเกอร์นิรนาม Anonymous เนื่องจากเป็นกังวลในเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตของคนไทย

ซึ่งพรบ.ฉบับนี้นี่เอง ที่ทำให้ Freedom House ลดคะแนนเสรีภาพของไทยลงในปี 2559 ส่งผลให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพในด้านการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเช่นกัน

หากมุขตลก ‘เขาไม่อ่าน รัฐบาลอ่าน’ ยังคงมีอยู่
นอกจากความขำขันแล้ว
นี่อาจเป็นสิ่งที่บอกได้เป็นนัยๆ ว่าประชาชนอาจรู้สึกไม่ไว้วางใจ หรือไม่มั่นใจ ว่าความเป็นส่วนตัวจะไม่ถูกละเมิดโดยรัฐบาลก็เป็นได้

Popular Topics