สังคมสูงวัย อีกหนึ่งเรื่องใกล้ตัวที่คนมักมองข้าม
ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนไทยต้องเตรียมตัวรับมือในเร็ว ๆ นี้
ประเทศไทยในปี 2030 ที่มีการคาดการณ์กันว่าจะมีผู้สูงอายุมากถึง 40% ของประเทศ จะมีจำนวนผู้สูงวัยในแต่ละจังหวัดมากน้อยขนาดไหน วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูคำตอบเหล่านั้นกัน
.
สังคมสูงวัย คือ สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถึง 15 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 22% จากประชากรทั้งหมด โดยถือเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
.
สาเหตุสำคัญของการเพิ่มสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว มาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ
– การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์หรือการเกิดน้อยลง โดยประเทศไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2517 จาก 4.9 คนต่อผู้หญิง 1 คน เหลือเพียงประมาณ 1.2 คนต่อผู้หญิง 1 คนเท่านั้น
– การลดลงของภาวะการตายทำให้อายุคนไทยยืนยาวขึ้น อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนี้สูงสุดอยู่ที่ 80 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2030 คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 83 ปีเลยทีเดียว
.
การเข้าสู่สังคมสูงวัยจะก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ๆ ทั้งในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจ
.
แง่สังคม
– ทำให้เกิดภาระแก่วัยทำงานที่จะต้องทำงานมากขึ้นเพื่อมารับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุ
– อาจทำให้ผู้สูงอายุอาจเกิดปัญหาด้านสภาพจิตใจและร่างกายได้ หากไม่มีการวางแผนหรือลูกหลานคอยดูแลในช่วงบั้นปลายของชีวิต
.
แง่เศรษฐกิจ
– เมื่อวัยทำงานลดลง อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน นำไปสู่การทดแทนด้วยเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ หรือแรงงานต่างด้าวที่มากขึ้น
– เมื่อผู้สูงอายุขาดรายได้ ทำให้วัยทำงานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มีเงินออมและเงินลงทุนที่น้อยลง
– ทางด้านผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติ ก็ย่อมน้อยลงตามไปด้วย แถมรัฐยังจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการให้มากขึ้น ในขณะที่การเก็บภาษีก็ลดน้อยลงตามสัดส่วนคนสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
.
โดยในปี 2030 จังหวัดที่อัตราส่วนจำนวนของผู้สูงวัยเยอะที่สุดของประเทศไทยคือ
.
จังหวัดแพร่ 45%
– คาดว่าเกิดจากการที่จังหวัดแพร่ได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่ล้านนา เป็นจังหวัดทางผ่านที่ผู้คนที่จะเดินทางไปยังภาคเหนือใช้เป็นเส้นทางในการไปสู่จังหวัดท่องเที่ยวเป้าหมายมากกว่าท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ ประกอบกับภูมิประเทศของจังหวัด ข้อจำกัดด้านแหล่งน้ำ รวมทั้งปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ทำให้เศรษฐกิจในภาคการเกษตรของจังหวัดเติบโตได้อย่างยากลำบาก จากปัญหาทั้งหมดประกอบกันจึงทำให้จังหวัดแพร่เศรษฐกิจเติบโตได้ช้า ส่งผลให้ผู้คนรุ่นใหม่ไม่เลือกตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดแพร่ จึงเหลือเพียงแค่ผู้สูงวัยเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในจังหวัด (รายงานวิเคราะห์สถานการณ์การจังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2558-2561)
.
จังหวัดสมุทรสงคราม 42%
– สมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีปัญหาเรื่องผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวเยอะมาก คาดว่าเกิดจากการที่บุตรหลานต้องออกไปทำงานในจังหวัดอื่น ๆ เนื่องจากนโยบายของรัฐ ที่แม้จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม แต่กลับล้มเหลวในการดำรงรักษาระบบนิเวศให้ยั่งยืน รวมทั้งยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงชุมชนท้องถิ่นที่มีความแตกต่างไปตามระบบนิเวศได้ ประกอบกับการสื่อสารที่ไม่ทั่วถึงทำให้แผนพัฒนาต่าง ๆ ไม่สามารถใช้ได้จริงต่อคนในพื้นที่ และกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในจังหวัดอย่างเลี่ยงไม่ได้ (สำนักงานสถิติจังหวัดสมุทรสงคราม; รายงานวิเคราะห์สถานการณ์จังหวัดสมุทรสงคราม ตามแผนพัฒนาจังหวัดสมุทรสงคราม ปี พ.ศ. 2558-2561)
.
จังหวัดอุตรดิตถ์ 41%
– อีกหนึ่งจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุเยอะเป็นอันดับต้นของประเทศ โดยสาเหตุคาดว่าเกิดจากระบบเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน แม้อุตรดิตถ์จะเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเยอะและมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง แต่ระบบการคมนาคมในการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดกลับไม่ตอบสนองเท่าที่ควร นอกจากนี้อุตรดิตถ์ยังเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติเยอะมาก ทั้ง ดินถล่ม พายุ ไฟป่า รวมทั้งปัญหายาเสพติดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย (สำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์; แผนพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. 2561-2565)
.
และจังหวัดที่อัตราส่วนจำนวนของผู้สูงวัยน้อยที่สุดคือ
.
จังหวัดจันทบุรี 8%
– จันทบุรีเป็นจังหวัดที่เศรษฐกิจเติบโตในหลาย ๆ ภาค ทั้งในภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและบริการ และภาคอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในภาคของเกษตรกรรมจันทบุรีถือว่ามีผลผลิตที่ทำกำไรเยอะมากทั้ง ทุเรียน ลำไย ยางพารา ฯลฯ ทั้งในและนอกประเทศ ทำให้จันทบุรีแทบจะเป็นจังหวัดที่ ภาคเกษตรกรรม ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังมีอัตราการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงคาดว่าเพราะเศรษฐกิจดีจึงดึงดูดให้ผู้คนไม่เลือกที่จะออกจากจังหวัดนั่นเอง (สำนักงานคลังจังหวัดจันทบุรี; ประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี ปี พ.ศ. 2565 และแนวโน้ม ปี 2566)
.
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าแม้ กรุงเทพฯ จะมีอัตราผู้สูงวัยอยู่ที่ 22.5% เท่านั้น ถือว่าน้อยเช่นกันถ้าเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าผู้คนมักไม่เลือกใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายของตนเองในเมืองหลวงแห่งนี้ เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งอัตราพื้นที่สีเขียวที่มีระดับต่ำ มลพิษสูง การใช้ชีวิตที่ยากลำบากทั้งในเรื่องของการคมนาคมที่วุ่นวาย ที่พักอาศัยที่มีราคาแพง และค่าครองชีพที่มีระดับที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ทำให้ผู้คนเลือกที่จะออกไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของตนเองในจังหวัดอื่น ๆ แทน (Numeo; Quality of Life Index by City)
.
ดังนั้นจากข้อมูลและการคาดการณ์ต่าง ๆ จึงจะเห็นว่า นอกจากปัจจัยสำคัญทั้ง 2 ประการอย่าง อัตราการเจริญพันธุ์และภาวะการตายของผู้คนในประเทศแล้ว สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคมในแต่ละจังหวัดเองล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อระดับผู้สูงอายุในจังหวัดเป็นอย่างมากเช่นกัน
.
นอกจากจะทำให้ผู้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนั้นทำให้เหลือแต่ผู้สูงวัยแล้ว ยังส่งผลให้พื้นที่ในจังหวัดนั้น ๆ ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรอีกด้วย ซึ่งถ้าหากรัฐไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยในการพัฒนา สิ่งเหล่านี้ก็จะยังคงวนเป็นวงจรยังงี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ก่อให้เกิดปัญหาระดับผู้สูงอายุที่มากเกินสัดส่วนวัยทำงานและปัญหาสังคมสูงวัยในแต่ละจังหวัดต่อไปอีกด้วย
.
ที่มา : การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, Asia-Pacific Report on Population Ageing 2022, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, กรมกิจการผู้สูงอายุ