มหากาพย์ GT200 เครื่องตรวจระเบิดลวงโลก 💣 ความดื้อดึงของหน่วยงานรัฐไทยกับค่าโง่ที่สูญไปกว่าพันล้าน

Highlight

กว่า 10 ปีที่ผ่านมาเรื่องราวเครื่องตรวจจับสสาร GT200 ได้ดำเนินมาถึงบทสรุป ซึ่งไม่ใช่ตอนจบที่ ‘แฮปปี้เอนดิ้ง’ สักเท่าไรสำหรับคนไทย เป็นกรณีที่สะท้อนการโดนต้มจนเปื่อยของหน่วยงานรัฐ เสียค่าโง่ไปกว่าพันล้านที่แลกมากับประสิทธิภาพทิพย์ ใช้งานไม่ได้จริง โดยไม่ยึดมั่นตามหลักวิทยาศาสตร์

ล่าสุด สส.พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่ากองทัพบกได้ของบประมาณตรวจสอบ GT200 อีกครั้ง ซึ่งตกเครื่องละประมาณ 10,000 บาท รวม ๆ กว่า 7 ล้านบาท ปลุกผี GT200 ให้ตื่นมาหลอกหลอนคนไทยอีกครั้ง พร้อมกับชวนตั้งคำถามว่าในเมื่อพิสูจน์แล้วว่าใช้งานไม่ได้ การของบแกะจะมีการทุจริตหรือไม่ ? แม้ว่าจะอ้างว่าเพื่อให้เป็นหลักฐานเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทจัดจำหน่ายก็ตาม

#Agenda พาย้อนรอยกรณี GT200 เครื่องตรวจระเบิดเก๊ ‘พลาสติกประกอบ’ บทเรียนค่าโง่เงินพันล้านที่ซื้อความสบายใจ แต่ใช้งานจริงไม่ได้ความ จุดเริ่มต้นและเป็นมาอย่างไร…มาดูกัน

1. ถือกำเนิดเครื่องตรวจสสารลวงโลก

ย้อนหลังกลับไปปี พ.ศ.2544 โลกได้รู้จักกับนวัตกรรมใหม่ของเครื่องตรวจจับสสารระยะไกลที่ชื่อ ‘GT200’ ซึ่งคิดค้นและผลิตโดยบริษัท โกลบอล เทคนิคัล จำกัดของนายแกรี่ โบลตัน จากประเทศสหราชอาณาจักร มีคุณสมบัติทำงานด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง มีเซนเซอร์สามารถตรวจจับสสาร เช่น วัตถุระเบิด ยาเสพติด กระสุนปืน ได้จากระยะไกลมากกลายเป็นความหวังใหม่ของการตรวจรับของผิดกฎหมาย

GT200 มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1) ตัวเครื่องสำหรับถือ 2) เสาอากาศพลาสติก และ 3) ช่องใส่การ์ดเพื่อเลือกชนิดสสารที่จะตรวจจับ การใช้งานทำได้โดยเปลี่ยนการ์ดเซ็นเซอร์ ระบุประเภทของสสารที่ต้องการตรวจ โดยรัศมีบนบกอยู่ที่ 700 เมตร อาจเพิ่มขึ้นเมื่อตรวจในน้ำหรืออากาศ  ทั้งยังไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ แต่มีแหล่งพลังงานไฟฟ้าสถิตจากตัวผู้ใช้งาน และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 15 ปี

2. ครั้งแรกของไทยกับการนำเข้า GT200 

ด้วยคุณสมบัติมหัศจรรย์ประกอบกับกระแสการขายดีในประเทศเม็กซิโก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ประเทศไทยจึงได้มีการนำเข้าเครื่อง GT200 มาทดสอบการใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 โดยหน่วยเก็บกู้ระเบิดของกองทัพอากาศที่สนามบินบ่อทอง จ.ปัตตานี ซึ่งพบว่า ‘ผลการทดสอบมีประสิทธิภาพดี’

หลังจากนั้นมีการเสนอเรื่องให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ขณะนั้น อนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อล็อตแรกด้วยวิธีพิเศษตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี 4 เครื่องราคาเครื่องละ 1.4 ล้านบาท กระทั่งกองทัพเรือ, กองทัพบก, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้มีการจัดซื้อ GT200 และ Alpha 6 (เครื่องตรวจระเบิดอีกรุ่น) รวมแล้ว 1,398 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,134 ล้านบาท

*อย่างไรก็ดี เกิดข้อสงสัยเรื่องราคาที่แตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานกลับซื้อมาในราคาถูก-แพงต่างกัน กรมศุลกากรอยู่ที่เครื่องละ 420,000 บาท แต่กองทัพเรือซื้อในราคาเครื่องละ 1,200,000 บาท เป็นต้น

3. เครื่องตรวจระเบิดที่ไม่เจอระเบิด

วัตถุประสงค์หลักของการซื้อ GT200 ของไทยถูกวางไว้สำหรับการตรวจวัตถุระเบิด ทว่าเมื่อได้เป็นเจ้าของ ประชาชนเริ่มตั้งข้อสงสัยถึงกลไลการทำงานที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักวิทยาศาสตร์ กลุ่มนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นว่านะเครื่องเก๊ที่โดนหลอกขายมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยงมากที่จะนำไปใช้หน้างานในการค้นหาระเบิด อาจทำให้เกิดความสูญเสียร้ายแรง

6 ต.ค. 52 เกิดเหตุคาร์บอมบ์ข้างโรงแรมเมอร์ลิน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ตามมาด้วยเหตุระเบิด 19 ต.ค. 52 ที่ตลาดสดรถไฟ จ.ยะลา ทั้งที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ GT200 ตรวจพื้นที่ก่อนแล้ว กระแสเรื่องเครื่องมือตรวจระเบิดลวงโลกจึงบูมขึ้นใหม่ในสังคมว่า “มันเชื่อมั่นในผลลัพธ์ตรวจจับระเบิดได้จริงใช่ไหม?”

กระทั่งตัวแปรคนสำคัญอย่าง ‘พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์’ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ขณะนั้นออกมาโต้การันตีว่าเครื่อง GT200 ใช้งานได้ผล ปรากฎข้อเขียนในหนังสือทักษิณวิปโยค หน้า 45 ว่า “เป็นเครื่องที่สามารถหาสารวัตถุระเบิดได้อย่างดีเยี่ยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก” และยืนยันให้มีการใช้ต่อ

4. ที่มาฉายา ‘ไม้ล้างป่าช้า’

เรื่อง GT200 คาราคาซังเป็นที่ถกเถียงสงสัยมาถึงปี พ.ศ.2553 อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งคนที่ร่วมมือกับสื่อตรวจสอบว่า GT200 ไม่มีหลักการวิทยาศาสตรองรับและไม่ต่างอะไรกับ “ไม้ล้างป่าช้า” 

กระแสเริ่มร้อนแรงจนทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นสั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรวจสอบการใช้งานของ GT200 ท่ามกลางแรงต้านจากกองทัพ ท้ายสุดจากการสุ่ม 20 ครั้ง ตรวจถูกต้องเพียง 4 ครั้ง ซึ่งไม่ต่างจากการเดาสุ่ม และการใช้สุนัขตำรวจยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า และหลังจากแกะเครื่องดูกลายเป็นแค่พลาสติกธรรมดาที่อาจมีมูลค่าเพียงแค่ชิ้นละ 300 บาทเท่านั้น นำไปสู่การระงับใช้ชั่วคราวเพราะไม่มีข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือในประสิทธิภาพเพียงพอ

5. กรรมตามสนองได้เวลาเผยความจริง

ฝากฝั่งตะวันตก สำนักข่าวบีบีซี เคยได้ชำแหละ “เซ็นเซอร์การ์ด” ตรวจจับสสารของ GT200 พบว่าเป็นเพียงกระดาษเปล่าแปะเข้าหากัน ภายในเครื่องไม่มีอุปกรณ์นำไฟฟ้า รัฐบาลอังกฤษได้มีคำสั่งห้ามส่งออกเครื่องตรวจจับสสาร (ที่คล้ายกับ GT200) และออกคำเตือนถึงผู้ซื้อให้ระวังการใช้

ปี พ.ศ. 2556 ศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ และตัดสินจำคุกนายโบลตัน ผู้ก่อตั้งบริษัทโกลบอลฯ เป็นเวลา 7 ปีและยึดทรัพย์ในข้อหาฉ้อโกงจากการขายอุปกรณ์เก๊ให้กับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย ซึ่งถือเป็นความอับอายหนึ่งในนามของประเทศอังกฤษ เป็นข้อพิสูจน์ว่า GT200 ไม่ใช่เครื่องมือตรวจจับสสารมหัศจรรย์แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงแค่ของโจรที่เอามาหลอกขายเท่านั้นเอง

6. ป.ป.ช. กับข้ออ้าง ที่ทำให้ยังเอาผิดใครไม่ได้

เมื่อความจริงปรากฎ คำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทย “ใครต้องรับ(ผิด)ชอบกับกรณี GT200” เพราะมีเค้าลางของการทุจริต นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขณะนั้น สรุปผลสอบสวน 2 กรณี คือ 1) หน่วยงานรัฐจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความจำเป็น และ 2) พบพฤติการณ์ของกลุ่มบริษัทที่เสนอขายที่ส่อทุจริตต่อหน่วยงานรัฐ นำไปสู่การฟ้องร้องค่าเสียหายกับบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่าย GT200 เรียกค่าเสียหาย 683 ล้านบาท

ด้าน ป.ป.ช. ที่สาธารณชนคาดหวังการจัดการหาคนรับผิดชอบค่าโง่กว่าพันล้าน มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีเกี่ยวกับ GT200 เป็นไปอย่างล่าช้า และภายหลังมีการให้สัมภาษณ์ว่าการไต่สวนคดี ค่อนข้างลำบาก เนื่องจาก “เป็นเรื่องลึกลับ” และ “การแสวงหาพยานหลักฐานก็มีข้อขัดข้องทางเทคนิค โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังบริษัทที่จำหน่ายในอังกฤษ ก็ปฏิเสธจะให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.”

7. GT200 พกไว้เหมือนพระเครื่อง

การไล่จับคนผิดลากยาวมาถึงปี พ.ศ. 2561 ป.ป.ช. มีชี้มูลความผิดข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า “ยากจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่องแต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น”

ทางด้าน นายวิษณุ เครืองาม ก็ได้แสดงว่าความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเรียกว่า “ค่าโง่” ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เทียบกับว่าเป็น “ค่าฉลาด” ถือเป็นค่าซื้อความรู้ แม้จะแพงไปหน่อยก็ตาม แม้ว่าข้อสรุปว่า GT200 เป็นเครื่องมือลวงโลกที่ไทยเสียค่าโง่กว่าพันล้าน ก็ยังคงมีการตามเช็กบิลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การจัดซื้อ GT200 เรื่อยมา

8. แพงระยับ! ค่าตรวจสอบเครื่องเก๊

เหมือนจะสิ้นแต่ยังไม่สุดกับกรณี GT200 เมื่อ 2 มิ.ย 65 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาตั้งคำถามและแฉงบค่าตรวจพิสูจน์ GT200 ของกองทัพบกที่สูงถึงเครื่องละ 10,000 บาท จำนวน 757 เครื่อง ในการพิจารณาร่างงบประมาณ ซึ่งทั้งโลกรับรู้ความจริงเรื่องเครื่องตรวจระเบิดเก๊จนจบไปนานแล้ว เหตุใดกองทัพจึงต้องมีการจัดสรรงบประมาณรวม ๆ กว่า 7 ล้านบาท จนเกิดเป็นดราม่าอีกครั้ง

GT200 เป็นบทเรียนที่สะท้อนภาพของสังคมหลายมิติทั้งค่าโง่ (หรือค่าฉลาดราคาแพง) การทุจริตของหน่วยงานรัฐ ความเชื่อมั่นที่ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญของไทย ที่ต้องบันทึกไว้เป็นบทเรียน เพราะท้ายที่สุด…มูลค่าที่เสียไปล้วนเป็นภาษีประชาชนทั้งสิ้น

ที่มา : workpointtoday, thematter, thestandard, thaipublica, matichon, BBC

Popular Topics