ในอีก 10 ปีข้างหน้า เรายังมีวิกฤตอีกอย่างน้อย 4 ด้านที่เกี่ยวพันกับโครงสร้างประชากร ความพร้อมทางการพัฒนาทักษะแรงงาน ระบบการศึกษา ความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรม
4 วิกฤตที่จะเป็นความท้าทายสำคัญของไทยในอนาคตจะมีอะไรบ้าง #Agenda สรุปมาให้แล้ว
นับถอยหลัง! อีก 10 ปี 4 วิกฤตนี้มาแน่ สรุปความท้าทายสำคัญของไทยในอนาคต
🚨1. ขาดแคลนกำลังแรงงาน
วิกฤตนี้มีสาเหตุหลักมาจาก ‘โครงสร้างประชากร’ ที่เปลี่ยนไปแบบสวนทาง
กล่าวคือ เด็กเกิดใหม่ลดลง แต่จำนวนคนแก่เพิ่มขึ้น ทำให้วัยทำงานที่เป็นแรงงานหลักในการขับเคลื่อนตลาดแรงงานขาดแคลน
การลดลงของจำนวนประชากรเกิดใหม่ เป็นที่พูดถึงในช่วงที่ผ่านมา หลังข้อมูลปรากฎว่า ในปี พ.ศ.2554 ไทยเรายังมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน
10 ปีผ่านไป ปี พ.ศ.2564 ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เด็กเกิดใหม่ลดลงมากกว่า 1 ใน 3 ในวลาเพียง 10 ปี
สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย รายงานสถานการณ์การเกิดของประชากรไทย ว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่นิยมครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ไม่ต้องการอยากมีลูกหรือมีน้อยลง เนื่องจากกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวยากหมากแพง คนจำนวนมากที่เป็นห่วงเรื่องความสมดุลระหว่างการงานและครอบครัว และภาวะมีบุตรยาก
และในทศวรรษถัดไปของไทย ประชากรไทยมากกว่า 40% จะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ บวกกับอัตราการเกิดที่ดิ่งลง ทำให้ไทยมุ่งหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร)
เมื่อจำนวนประชากรเกิดใหม่น้อยลง หลายคนอาจคิดว่า ‘ก็เป็นเรื่องดี’ สิ เพราะทรัพยากรจะให้ถูกใช้น้อยลง สิ่งแวดล้อมของโลกจะได้ดีขึ้น แต่คงไม่เป็นความจริงเสียทีเดียว
เพราะในไม่ช้า ประเทศใหญ่ ๆ บนโลกจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงอายุ’ เท่ากับว่าวัยทำงานจำนวนมากหายไป ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสั่นคลอน อัตรา GDP ของประเทศลดลง เพราะไม่มีผู้เสียภาษีและขาดแคลนแรงงานในระบบ
ในขณะที่ภาครัฐฯ มีนโยบายลดวิกฤตินี้ด้วยการดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดรวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ออกนโยบายที่เอื้อต่อการมีบุตร🤰🏻จัดกิจกรรมมีทติ้งคนโสดในปีก่อน เพื่อสนับสนุนให้คนมีลูก
🚨2. การบริโภคเปลี่ยน ธุรกิจเดิม ๆ โตยาก
ธุรกิจที่เคยตอบสนองอุปสงค์ของตลาดได้ดีในแบบดั้งเดิมของไทยจะมาถึงทางตัน! ตัวอย่างธุรกิจเหล่านี้ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า และนันทนาการ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุ ทำให้การบริโภคสินค้าเหล่านี้ลดลง จนส่งผลเสียต่อหลาย ๆ ธุรกิจ
กำลังการบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้น้อยลง 0.4% จากเดิมที่โตเฉลี่ย 3% ต่อปี
ผลกระทบเรื่องนี้ยังถูกมองว่าเสี่ยงไปถึงระบบธนาคารที่ต้องรักษาระดับกำไร ด้วยการปล่อยกู้ธุรกิจเสี่ยงสูงมากขึ้น
รัฐบาลจึงมีการผลักดันการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างธุรกิจอื่นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนกำลังการบริโภค รวมไปถึงการพยายามผลักดันสตาร์ทอัพใหม่ๆ ในขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหานี้ มีการวิเคราะห์ว่า รัฐควรเพิ่มความเสรีและเพิ่มการแข่งขันในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยด้วย
🚨3. เป็น ‘ผู้ใช้’ นวัตกรรม แต่ไม่ใช่ ‘ผู้สร้าง’
ไทยมีสนับสนุนงบ R&D เพียง 1.14% ของ GDP (2019) หรืออยู่อันดับที่ 43 ของโลก (2021) นวัตกรรมในไทยจึงมีการพัฒนาต่ำ ในขณะที่เทคโนโลยีขั้นสูงส่วนใหญ่ที่มีนั้น ผลิตสินค้าที่เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก แถมยังต้องพึ่งพานวัตกรรมต่างชาติ ที่มีต้นทุนสูงกว่า หากเทียบกับการมีนวัตกรรมของตัวเอง
เมื่อไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลางต่อไป ทำให้จำนวนแรงงานมีฝีมือของไทย ไหลออกไปทำงานนอกประเทศกันสูงขึ้น เพราะค่าตอบแทน หรือค่าจ้างที่ดีกว่านั้นเอง
เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลต้องตั้งเป้าเพิ่มงบ R&D เป็น 4 แสนล้านบาท หรือ 2% จีดีพี ในปี 2027 และเปิดโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการม้านิลมังกร เพื่อบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการบริหารค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพก็ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหานี้ได้
🚨4. แก่ก่อนรวย
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน หรือเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ แม้จะมีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ แต่ก็มีข้อกังวลที่ต่างจากไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้คนส่วนใหญ่ทำงานจนเกษียณก็ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้
การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในไทยทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายที่ต้องแบกรับมากขึ้น เพราะรัฐบาลต้องนำเงินมาดูแลผู้สูงอายุ ในทางกลับกันรัฐบาลมีรายได้ที่ลดลงเพราะผู้คนที่มีกำลังซื้อในประเทศค่อย ๆ หายไป เนื่องมาจากรายได้ที่มีอยู่แปรผกผันกับค่าครองชีพของประเทศ
เมื่อเงินของรัฐบาลน้อยลงรัฐบาลจึงเอาเงินไปลงกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้น้อยกว่าเมื่อก่อน ประชาชนวัยหนุ่มสาวจึงต้องมาเป็นคนแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ผ่านทางภาษีต่างๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ถึงแม้ว่าจะทำงานจนเกษียณแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “แก่ก่อนรวย” นั่นเอง
ดังนั้นรัฐบาลไทยควรปรับนโยบายที่ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นนโยนบายขยายอายุการเกษียณจาก 60 ปีเป็น 63 ปี หรือนโยบายทำงานแลกสวัสดิการสังคม เพราะถึงแม้อายุจะมากขึ้นแต่ด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ทำให้ผู้สูงวัยยังคงสามารถทำงานบางประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่