ทำไม OTT TV (แพลตฟอร์มทีวีออนไลน์) มาแทนที่ TV แบบเดิมๆ

Highlight

คุณดูทีวีครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? ตอบได้ไหมว่าตอนนี้ละครช่องหลักเป็นเรื่องอะไร?

แต่ก่อน เราเข้าถึงความบันเทิง ข่าวสารต่างๆ ได้แค่ไม่กี่ช่องทาง ถ้าอยากดูละคร ดูข่าว ก็อาศัยทีวีรับสัญญาณผ่านคลื่นความถี่, ดาวเทียม หรือเคเบิล

ซึ่งตัวผู้ส่งสัญญาณ หรือ ‘ช่อง’ จะมีต้นทุนที่สูงมากในการเช่าอุปกรณ์ส่งสัญญาณหรือซื้อสัมปทาน ทำให้คอนเทนท์ต่างๆ ที่เราเสพกัน มาจากช่องทางไม่กี่ช่องทาง

เมื่อ ‘อินเทอร์เน็ต’ เร็วแรงติดจรวด OTT TV ก็ถือกำเนิดขึ้น

เมื่อ ‘อินเทอร์เน็ต’ เข้ามา ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงจนมองแทบไม่ทัน

จนพูดได้ว่า ยิ่ง ‘อินเทอร์เน็ต’ เร็วมากขึ้นเท่าไหร่โลกของเราก็ก้าวเดินเร็วมากขึ้นเท่านั้น และอินเทอร์เน็ตนี่เองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิด OTT TV เพราะการจะมีช่องไว้ปล่อยคอนเทนท์ ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยวิธีเดิมๆ ซึ่งต้นทุนสูงมหาศาล แต่ค่อยๆ ขยับขยายไปได้ และเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง เลือกดูได้ตามใจด้วย

OTT TV หรือ Over-the-top TV หมายถึงการให้บริการคอนเทนท์โดยผู้ให้บริการไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายเอง หรือในกรณีนี้ แปลแบบง่ายๆ ก็หมายถึงแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ซึ่งก็มีทั้งผู้ให้บริการทีวีเจ้าเก่าอย่าง Workpoint ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ลงมาทำเอง เช่น AIS play, TrueIDไปจนถึงแพลตฟอร์มเก็บเงินค่าบริการ อย่าง Netflix, WeTV, Viu

ทำไม OTT TV (แพลตฟอร์มทีวีออนไลน์) มาแทนที่ TV แบบเดิมๆ

– ดูย้อนหลังได้ทุกเมื่อ ตาม Personal Time

จากเดิมเราต้องรีบกลับบ้านไปดูละครหลังข่าว จนเกิดปรากฎการณ์ถนนโล่งในวันที่ละครดังๆ จะจบ แต่ผู้ใช้ OTT TV ส่วนใหญ่นั้นเน้นไปที่ ‘ดูย้อนหลัง’ ถึง 70% ความสะดวกนี้ทำให้คนใช้เวลากับการเสพความบันเทิงมากขึ้น

ข้อมูลจาก กสทช. พบว่าการรับชมรายการแบบย้อนหลัง และ On Demand นั้น ได้รับความนิยมสูงสุดจาก GEN Z ถึง 28.5% รองลงมาเป็น GEN Y 17.9% และ GEN X 6.7%.ในปี 2011 ผู้บริโภคทั่วโลกรับชมภาพยนตร์ ซีรีส์และรายการโทรทัศน์แบบ On-demand เพียง 2.9 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ แต่ในปี 2015 จำนวนชั่วโมงในการรับชมเนื้อหาเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เป็น 6 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์

– ผู้สร้าง ตอบสนองผู้ชมได้อิสระไม่จำเป็นต้องอิงกระแสหลัก

เนื้อหาของ OTT TV มีจุดแข็งที่ความหลากหลาย เมื่อผู้ชมเลือกได้อิสระขึ้นตามความสนใจ ก็มีผู้สร้างมาตอบสนองมากขึ้นเช่นกัน เนื้อหาหลักๆ แบ่งได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

1) User-Generated Content

เพราะแค่มีอินเทอร์เน็ตกับอุปกรณ์ไม่กี่อย่าง เราก็สร้าง ‘ช่อง’ ของตัวเองได้ ก็เกิดยุค UAG หรือ User-Generated Content ยุคที่คนเสพก็นิยมหาข้อมูล เนื้อหา รีวิวต่างๆจากผู้ใช้ด้วยกัน ส่วนฝั่งคนให้คอนเทนท์จะเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น.จนในที่สุดมันก็จริงจังขึ้น เมื่อ User ที่ทำคอนเทนท์จริงจังเริ่มสะสมแฟนคลับได้จนกลายเป็น Micro-Influencer หรือแม้แต่ Influencer ที่มีผู้ติดตามมหาศาล

วงการโฆษณาที่มีทีวีเป็นช่องทางหลักก็เริ่มไหวตัว เพราะผู้บริโภคย้ายฐานความเชื่อมั่นมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ทำเอารายได้โฆษณาของช่องทีวีต่างๆ สั่นคลอน

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รายได้โฆษณาทีวีดิจิทัลช่องเดิม (3/5/7/9/NBT) ลดลงถึง 32.71% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน (คาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากโควิดร่วมด้วย)

แพลตฟอร์ม OTT TV ที่รวบรวมคอนเทนท์เหล่านี้ ได้แก่ Youtube, Tiktok เป็นต้น

2) ยุคหนังเถื่อน สู่โอกาสของ OTT TV

เช่น ภาพยนตร์ ,ซีรีย์ ละครหรือรายการบันเทิงวาไรตี้ต่างๆ ,กีฬา

สิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน ก็คือการเสพคอนเทนท์ผิดกฎหมาย หนังเถื่อน หรือซีรีย์ออนไลน์ที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ บ้างก็เป็นสายขาว คือเป็นแฟนคลับ อยากให้คนอื่นๆ ได้ชมคอนเทนท์ที่ตนชอบ แต่ไม่มีให้ชมทั่วๆไป ก็ช่วยกันแปลช่วยกันใส่ซับอัปโหลดมาลง บ้างก็สายเทาถึงดำ คืออัปแปะโหลดหวังทราฟิกและค่าโฆษณายุ่บยั่บเต็มหน้าเพจ

จนในที่สุด OTT TV ก็ค่อยๆ ผุดขึ้นเป็นทางเลือกอย่างถูกกฎหมายให้กับผู้ชม พร้อมคุณภาพภาพ เสียง และยังเพิ่มความน่าสนใจด้วย Original Content ของช่อง

ตัวอย่างแพลตฟอร์ม เช่น iFlix, Netflix, Amazon Prime, Line TV, WeTV, Viu, HBO GO

– ศึกชิงคนดู ด้วย Original Content

สิ่งสำคัญที่จะเสริมความแข็งแกร่งของ OTT TV แต่ละเจ้า ก็คือสินทรัพย์สำคัญอย่าง ‘Content’ ซึ่งแต่ละเจ้าก็งัดกลยุทธ์สู้ศึกนี้กันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น
– Netflix ลงทุนสร้าง Original Content ด้วยเงินลงทุนที่สูงที่สุดในตลาด
– WeTv มีจุดเด่นที่เนื้อหาความบันเมิงจากเมืองจีน รวมถึงเทคโนโลยีว้าวๆ เช่น ผู้ชมสามารถร่วมโหวตในรายการแข่งขันได้จริง หรือคอมเมนท์สดได้ระหว่างดู รวมถึงสร้างออริจินัลคอนเทนท์ เช่น “ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์” เป็นต้น

– นอกจากความโดดเด่นในซีรีย์เกาหลี Viu ยังดึงเอารายการวาไรตี้มากมายมาให้เลือกชมอีกด้วย

—————–

เป็นกรณีที่เห็นได้ชัดเจน ว่าแม้กระทั่งช่องทีวีหลัก ที่แต่ก่อนกุมทั้งอำนาจสื่อ อำนาจในการชี้นำสังคมผ่านเนื้อหาต่างๆ และได้รายได้ 6 หลักจากโฆษณาไม่ถึงนาที ก็ต้องปรับตัวหนักเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง

อะไรที่เก่าแก่ แน่ใจว่าดีอยู่แล้ว เลยไม่ยอมปรับตัวก็อาจต้องกลายเป็นเพียงอดีตไป

Popular Topics