3 R เพื่อการสื่อสารข้ามเจน Recognize – Respect – Reciprocate

Highlight

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คุณหญิง ศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ แห่งรายการ “ช่วยคิด ช่วยทำ” ชวนไปคุยเรื่องการสื่อสารระหว่างคนรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้เข้าใจกัน เพราะดูเหมือนแต่ละฝ่ายต่างก็มองกันไปในทางลบ และดูจะพูดกันแบบไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ เอาเข้าจริง นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และแม้เวลาผ่านไปหลายปีสถานการณ์ก็ยังไม่ได้ดีขึ้นด้วยปัญหาที่เป็นพื้นฐานก็ยังคงเหมือนเดิม หรืออาจจะแย่ลงไปกว่าเดิม ลองอ่านบางส่วนของบทความที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

“เวลามีคนถามผมว่าจะรู้ได้ยังไงว่าใครอยู่ในเจนไหน และจะมีปัญหาในการสื่อสารระหว่างกันจริงหรือไม่ ผมก็จะยกตัวอย่างบริษัทที่มีประธานชื่อสุเทพ ซึ่งมีพี่สาวชื่อลำเจียกนั่งอยู่ในบอร์ดร่วมกับเสงี่ยม และจำเนียร มี CEO ชื่อสมชาย และรองๆประกอบไปด้วยประเสริฐ ฉัตรชัย มลฤดี จันทร์เพ็ญ และบังอร ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนทีมทำงานที่มีธนุดมเป็นหัวหน้า ลูกทีมคือ ปเชชญา อินทัช วลุธา และรรรรร แค่เริ่มต้นด้วยการไล่เรียงชื่อก็พอทำให้คนเห็นภาพช่องว่างระหว่างเจนโดยที่ผมไม่ต้องอธิบายให้มากความแต่อย่างใด นี่ยังไม่รวมถึงการสื่อสารกับรุ่นหลานๆที่มีชื่อจริงว่า ไอริน อลิส โบนิตา พาริส โตเกียว หรือ เจเนวา เป็นต้น

แต่ก็ไม่ใช่แค่ “ชื่อ” เท่านั้น หากศัพท์แสงและสำนวนที่ใช้ก็บ่งชี้ระยะห่างที่กว้างใหญ่ระหว่าง “เจ๋งเป้ง” กับ “เมพขิงๆ” หรือ “เรื่องขี้หมา” กับ “เรื่องจิ๊บๆ” หรือ “เริ่ดสะแมนแตน” กับ “ปังปุรีเย่”

ยังไม่นับรวมความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนไปคนละทางว่า “ต่างดาว” คือแปลกประหลาด  มากกว่าที่จะเป็นเก่งขั้นเทพเหมือนมาจากนอกโลก หรือ “ได้อยู่” ที่ความหมายจริง ๆ แปลว่า “ไม่ได้” หรือ “ต้มเล้ง” กับ “แกงหม้อใหญ่” ที่ไม่ได้หมายถึงอาหารที่จะใช้เลี้ยงคนจำนวนมาก ยังไม่รวมศัพท์ล่าสุดที่จะเปิดพจนานุกรมไหนก็หาไม่เจออย่าง พส เก้ว ปั๊วะ ต๊าช จึ้ง บ้ง ไหว้สา หรือสู่ขิต เมื่อเป็นเช่นนี้จะหวังให้การสื่อสารข้ามเจนแล้วเข้าใจตรงกัน และเป็นอย่างราบรื่นก็เป็นเรื่องยาก

คำถามคือ แล้วจะให้ทำไง? 

คำตอบที่เป็นหัวใจของการสื่อสารข้ามเจนอยู่ที่ 3 R

————————

Recognize

ตระหนักในความหลากหลาย

ในเรื่อง “Multi-generational Differences นั่นคือ จะคุยจะสื่อสารกับใครต้องตระหนักในเรื่องความต่างของเจน ต้องรู้ว่าคนที่เราจะคุยด้วยคือเจนไหน เพราะปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่มีคนอย่างน้อย 6 เจน โดยที่เจนแรกเรามักนึกถึงคือ Baby Boomer ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในช่วงปี 1946-1964 ตามมาด้วย Gen X (1965-1980), Gen Y (1981-1996), Gen Z (1997-2010) นี่คือ 4 เจนหลักที่เราคุ้นเคย แต่มีอีกถึง 2 เจนที่เราควรรู้จัก เจนแรก คือเจนที่เกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง คนกลุ่มนี้มีอายุเกิน 75 แต่ยังมีกำลังวังชา โดยหลายคนก็นั่งบัญชาการอยู่หัวโต๊ะของบริษัทใหญ่ๆ บางคนก็นั่งในตำแหน่งบริหารประเทศ บางคนก็เพิ่งได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจใหญ่ของโลก และนี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกขนานนามว่าเป็น The Great Generation ส่วนคนที่เกิดในยุคหลังสุด หลังจากตัวอักษรที่ใช้เรียกเจนวิ่งไปชนตัวสุดท้ายคือตัว Z ก็เลยต้องวนกลับไปเริ่มต้นใหม่ แต่กลับไม่เริ่มต้นด้วยตัวอักษร A เพราะว่าเป็นตัวอักษรที่ธรรมดาเกินไป เจนใหม่ล่าสุดนี้จึงถูกเรียกว่า Gen Alpha ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวแรกของอักษรกรีกแล้ว ยังสื่อความหมายว่าเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่จะมีบทบาทในการนำสังคมโลกไปสู่ยุคใหม่ในอนาคตที่เราทั้งหลายแทบจะนึกภาพไม่ออกว่าจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร

อีกเรื่องคือ Diversity หรือตระหนักความหลากหลายในแทบทุกมิติของสังคมปัจจุบัน พูดง่าย ๆ คือ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปแบ่งคนออกเป็น 2 รุ่น คือ “รุ่นเก่า” กับ “รุ่นใหม่” เช่นเดียวกับที่เราจะแบ่งเพศว่ามีเพียงแค่ “ชาย” กับ “หญิง” ก็ไม่ได้ การแบ่งคนเป็น 2 ขั้ว 2 ค่าย ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ก็ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม “เหลือง” กับ “แดง” หรือ “รักทักษิณ” กับ “เกลียดทักษิณ” หรือกลุ่ม “เชียร์ลุง” และ “ไล่ลุง” หรือแม้แต่ “รักประชาธิปไตย” กับ “ฝักใฝ่เผด็จการ” ทั้งนี้แม้การแบ่งแยกคนเป็นกลุ่มดังกล่าวจะเป็นกลไกปกติทางจิตวิทยาของคนทั่วไปในการทำความเข้าใจอย่างง่าย ๆ กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ในสังคม แต่ก็เป็น Oversimplify คือ มองเรื่องราวแบบคร่าวเกินไป หยาบเกินไปจนไม่เห็นรายละเอียดที่เป็นความต่างที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกที่มี 2 ขั้วเท่านั้น หากแต่ทุกเรื่องที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นมีกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง และกลุ่มที่เอียงไปแต่ละข้าง ในระดับความโน้มเอียงที่แตกต่างกันในหลากหลายมิติ จนไม่อาจเหมารวมได้ว่าใครอยู่ขั้วไหนอย่างไรได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การแบ่งคนเป็นกลุ่ม ๆ คร่าว ๆ แบบข้างต้นมีแนวโน้มนำไปสู่ Stereotyping หรืออาการเหมาโหล เหมาเข่ง ที่ตัดสินแต่ละคนในกลุ่มว่าเหมือนกันทั้งหมด เช่น เหมาไปว่าถ้าเป็นคนเสื้อแดงก็แปลว่าต้องเป็นคนอย่างนี้ พวกสลิ่มก็ต้องเป็นคนอย่างนั้น เด็กธรรมศาสตร์ก็ต้องกบฏ แหกกฎสังคมแน่นอน พวกไม่ชายไม่หญิงคือเกย์ ทอม ดี้ กระเทย ก็ต้องมีวิธีคิด และพฤติกรรมอย่างนั้นอย่างนี้แน่นอน อาการเช่นนี้มักเกิดขึ้นโดยเราอาจไม่ทันได้ระมัดระวังว่า แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก จะไปเหมาเอาว่าแต่ละคนคนที่เราจัดไว้ในกลุ่มเดียวกัน จะคิดเหมือนกัน มีพฤติกรรมเหมือนกันไม่ได้ เอาแค่เรื่องเพศ ซึ่งแต่เดิมมีแค่ “ชาย” กับ “หญิง” แล้วแตกมาเป็น “เพศที่ 3” ที่ขยายไปเป็น “LGBT” ซึ่งมี 4 กลุ่มย่อย แล้วกลายมาเป็น “LGBTTQQIAAP+” ที่มีความแตกต่างหลากหลายในทางเพศซึ่งมีความละเอียดมากเกินกว่า 10 กลุ่มย่อยในปัจจุบัน  เช่นเดียวกันกับสลิ่มก็มีหลายสี หลากเฉด กลุ่มรักลุงก็มีหลากหลาย ตั้งแต่รักทุกอย่างแบบไม่ลืมหูลืมตา ไปจนถึงรักแค่บางเรื่อง รับได้เป็นบางอย่าง และทนไม่ได้ในบางประการ ปัญหาจากอาการเหมาโหล เหมาเข่ง เช่นข้างต้น ก็คือ อาการนี้มักจะตามมาด้วยอีกอาการคือ Prejudice หรือ “อคติ” ที่ลำเอียงไปในทางที่ “ไม่ชอบใคร ด้วยเหตุแต่เพียงว่าเราจัดคนนั้นไว้เป็นสมาชิกของกลุ่มใด โดยไม่ได้สนใจความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น” ทั้งที่ลักษณะรวม ๆ ของกลุ่มที่เราเหมาโหลไปว่าเป็นเช่นนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาคิด เขาทำ หรือเขาเป็นแม้แต่น้อย

ทั้ง Stereotype และ Prejudice จึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนัก ต้องระมัดระวัง และถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการสื่อสารในสังคมที่มี Diversity สูงอย่างในปัจจุบัน

————————

Respect 

เคารพในความต่าง

เรื่องนี้พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะคนส่วนใหญ่นิยมอะไรที่คุ้นเคย พอเห็นอะไรที่ต่างไปจากที่นิยม ที่เคยปฏิบัติ ที่เคยได้รับการอบรมสั่งสอน ที่เคยเคารพบูชามาโดยตลอด ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นว่า “สิ่งที่ต่าง” คือ “สิ่งไม่ดี ไม่งาม” ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เวลาจะตัดสินเรื่องใดก็มักจะใช้มาตรฐานที่ตนเองคุ้นเคยมาเป็นเครื่องตัดสิน และเป็นสิ่งที่ยากที่จะให้ละทิ้ง หรือลืมเลือนไม้บรรทัดที่ใช้มาอย่างยาวนานในชีวิต และนั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนสูงวัย และคนที่อยู่ในวงการใด ๆ มาอย่างยาวนาน มีแนวโน้มยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งที่ถือปฏิบัติมา และมักเห็นพฤติกรรม หรือแนวปฏิบัติที่ต่างออกไปเป็นที่ขวางหู ขวางตา และมักตามมาด้วยเสียงบ่นว่า “ไม่รู้คิดอะไรกันอยู่” ไม่รู้ทำกันอย่างนั้นได้ไง” “ไม่เข้าใจว่าคิดอะไรกัน ถึงทำกันแบบนั้นได้”

แล้วอย่าไปคิดว่าเสียงบ่นข้างต้นเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มเจนก่อน ๆ มองเจนหลัง ๆ เท่านั้น เสียงบ่นแบบเดียวกันก็เกิดขึ้นเวลาที่เจนหลัง ๆ มองเจนก่อน ๆ เช่นเดียวกัน เพราะแต่ละกลุ่ม แต่ละเจนก็มีแนวโน้มใช้บรรทัดฐานที่สร้างขึ้นมาในเจนของตนเองเป็นเครื่องตัดสินสิ่งที่เห็น และสิ่งที่ได้ยินทั้งสิ้น

เจนก่อน ๆ ก็มักคิดว่าเจนหลัง ๆ อายุน้อย รู้น้อย ประสบการณ์น้อย ยังไม่ค่อยเข้าใจโลก ไม่เข้าใจสังคมเท่าที่ควรจะเป็น แล้วก็อวดเก่ง ทำเป็นรู้เยอะ แต่ที่จริงยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมาก เมื่อรู้น้อยก็มักจะถูกหลอกง่าย ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้น ต้องหาทางเรียกมาอบรมสั่งสอน ให้รู้จักเคารพผู้ใหญ่ ให้เรียนรู้จากคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์มากกว่า เห็นโลกมาเยอะกว่า เพราะกว่าเจนก่อน ๆ จะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องเรียนรู้อะไรมากมาย ต้องผ่านอะไรมาเยอะแยะมาก แล้วทำไมเจนหลัง ๆ ทำถึงไม่ให้ความสำคัญกันบ้าง ไม่ให้เกียรติกันบ้าง ไม่เคารพกันบ้าง

เจนหลัง ๆ ก็มองเจนก่อน ๆ ว่า เชย ล้าสมัย ไม่ทันโลก ทุกอย่างที่เจนก่อน ๆ เรียนรู้มา เจนหลัง ๆ   ก็สามารถเรียนรู้ได้ทันในระยะเวลาอันสั้น แถมหลายอย่างอาจจะรู้มากกว่า รู้ลึกกว่า เพราะโลกในยุคที่มี “ความเป็นประชาธิปไตยของข้อมูลข่าวสาร” ทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว หลายเรื่องที่เคยถูกปิดกั้นการรับรู้ในอดีต มาในยุคนี้ปิดกันไม่ได้อีกต่อไป แต่ทำไมเจนก่อน ๆ ถึงได้ปิดหูปิดตาตนเอง ไม่รับรู้ข่าวสารใหม่ ๆ ทำไมถึงไม่เชื่อว่า เจนใหม่ ๆ ก็ฉลาด เท่าทันกับเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกได้ไม่แพ้เจนก่อน ๆ หรืออาจทำได้ดีกว่าในหลาย ๆ เรื่องด้วยซ้ำไป และที่รับไม่ได้ที่สุด คือทำไมถึงดูถูก ดูแคลนกันว่า เจนใหม่ ๆ ยังเขลา ไม่เท่าทันโลก และถูกหลอกใช้ได้ง่าย ใครกันแน่ที่ไม่เท่าทันโลก และกำลังเป็นเครื่องมือของกลุ่มฐานอำนาจเดิมในปัจจุบัน

ถ้าย้อนกลับไปอ่าน 2 ย่อหน้าก่อนหน้าอีกครั้ง ก็จะเข้าใจว่าด้วยวิธีคิด และจุดยืนที่เป็นอยู่ น่าจะทำให้การสื่อสารข้ามเจนเป็นไปได้ยากมาก เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อความ หรือเนื้อหาในการสื่อสาร ไม่ได้อยู่ที่สื่อที่ใช้ในการสื่อสาร หรือเอาเข้าจริงก็ไม่ได้อยู่ที่ศัพท์แสงที่แตกต่างกัน จนอาจทำให้ไม่เข้าใจกันด้วยซ้ำไป ปัญหาที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ทัศนคติ ที่มุมมองที่มีต่อกันและกันบนพื้นฐาน “ความไม่เข้าใจ” และ “ความไม่เคารพ” กันและกันซะมากกว่า

ย้อนกลับไปที่เสียงบ่นอีกทีว่า “ไม่เข้าใจว่าคิดอะไรกัน ถึงทำกันแบบนั้นได้” คำพูดนี้สะท้อนรากเหง้าปัญหาว่าเกิดจากความ “ไม่เข้าใจ” แต่ต้นเหตุที่แท้จริง ไม่น่าใช่เพราะไม่เข้าใจ แต่น่าจะเป็นเพราะ “ไม่พยายามเข้าใจ” ต่างหาก เพราะคำพูดที่ติดปากว่าไม่เข้าใจนั้นจริง ๆ แฝงด้วยบรรทัดฐานที่ใช้ในการตัดสินคำพูด และพฤติกรรมผู้อื่นอยู่ เราไม่อาจตัดสินพฤติกรรมของคนที่คิดต่าง ทำต่าง ด้วยไม้บรรทัดของเรา เพราะมันใช้วัดคุณค่าของเขาเหล่านั้นไม่ได้ เราอาจไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ รังเกียจ สิ่งที่กลุ่มเห็นต่างคิดและทำ แต่หน้าที่ของเราคือ ต้องพยายามทำความเข้าใจในที่มาที่ไปของวิธีคิด เหตุผล และค่านิยมที่ถูกหล่อหลอมด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา และส่งผลทำให้ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมของแต่ละเจนแตกต่างกัน หากไม่เคารพความแตกต่าง ก็ยากที่จะสื่อสารกันได้ เพราะยังไม่ทันอ้าปากก็ไม่ชอบหน้ากันเสียแล้ว

การเคารพความต่างเป็นเรื่องยาก และต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจ ความตระหนักว่า ความต่างเหล่านี้จะคงอยู่ ไม่หายไปไหน ดังนั้นจึงต้องยอมรับในความต่าง พร้อมที่จะทำงาน และใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้ากับความต่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคตด้วยซ้ำไป หากเรายอมรับกับความต่างไม่ได้ ก็เท่ากับเราเลือกที่จะอยู่ในโลกที่เล็กลง และแคบลงเรื่อย ๆ เหมือนปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า Echo Chamber และ Filter Bubble คือ สุดท้ายคนที่เราจะคบหา และพูดจาด้วยก็จะเหลือเฉพาะคนที่คิดเหมือนเรา ชอบแบบเดียวกับเราเท่านั้น ในด้านหนึ่งจึงเหมือนเราเลือกที่จะกักตัวเอง ปิดหูปิดตาในบางด้าน และเลือกรับรู้เฉพาะอะไรที่เข้ากับวิธีคิดของเราได้เท่านั้น อะไรไม่ใช่ เราก็จะไม่เห็น และไม่รับรู้ด้วยซ้ำไปว่าโลกยังมีอีกมากมายหลายด้าน นอกเหนือจากด้านที่เราเลือกที่จะรับรู้มัน

————————

Reciprocate

อยากได้อะไร ก็ต้องให้สิ่งนั้นไปก่อน

อยากได้ความเข้าใจ จากอีกกลุ่ม ก็ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจกับกลุ่มนั้น อยากได้ความเคารพจากใคร ก็ต้องให้ความเคารพกับเขาไปก่อน

การสื่อสารข้ามเจนเป็นไปตามกฎของการต่างตอบแทน “ไม่มีเจนไหนที่มีสิทธิเรียกร้องให้เจนอื่นมาเข้าใจเจนของตัวเอง” ไม่ว่าจะเป็นเจนเก่าแก่ที่อยู่มานานจนคิดว่าตัวเองควรได้รับความเคารพ หรือเจนใหม่ ๆ ที่คิดว่าตนเองเก่งกล้าสามารถเหนือเจนอื่น ๆ ความเข้าใจ และความเคารพ คือถนนที่วิ่งสองทางทั้งไปและกลับ ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ของทุกเจนต้อง “ให้ไป” เพื่อที่จะ “ได้รับ” กลับมา ความเข้าใจ และความเคารพ จึงถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ “ให้” เท่ากับ “ได้”

แล้วถ้าถามว่าเจนไหนควรเริ่มก่อน แน่นอนคำตอบก็คือ ทุกเจนต้องเริ่มด้วยเจนตนเองทั้งสิ้น แต่ภาระจะย้อนกลับมาที่เจนเกิดก่อนเสมอ เพราะเมื่อเกิดก่อน อยู่มานาน เป็นผู้ใหญ่ ก็ควรมีใจกว้างพอที่จะเริ่มต้นทำความเข้าใจ และให้ความเคารพกับเจนหลัง ๆ ได้ก่อน เพราะความเคารพกันและกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย หากแต่อยู่ที่ความเข้าใจว่า “ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน” ไม่ว่าจะแตกต่างกันด้วยเจน รายได้ การศึกษา หรือสถานะทางสังคม แต่จุดตั้งต้นของทุกคนมีเท่า ๆ กัน คือความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในการเติบโต และสร้างประโยชน์ให้กับโลก ให้กับสังคมในแนวทางที่ตนเองเลือกทั้งสิ้น และแม้เราจะไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่เขาเหล่านั้นเลือก แต่ถ้าเราเข้าใจ และเคารพในความต่าง เราก็จะสามารถยอมรับความต่างนั้นได้ สามารถสื่อสารและทำความเข้าใจ เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้บนความต่างที่เป็นธรรมชาติหลักของสังคมโลกในปัจจุบัน แน่นอนความต่างที่ว่าก็มีพื้นที่ มีขอบเขตที่คนยอมรับได้ ตราบใดที่ความต่างเหล่านั้นไม่ไปสร้างภาระ หรือความเสียหายให้กับโลก ให้กับสังคมจนเกินไป

ผมเจตนาไม่พูดว่าต้องเป็นความต่างที่ถูกกฎหมาย เพราะข้อจำกัดสำคัญของกฎหมายคือ ถูกนำมาประกาศใช้ด้วยเสียงของคนส่วนใหญ่ ซึ่งยอมรับได้หากได้คำนึงถึง และปกป้องสิทธิของเสียงส่วนน้อยด้วยแล้ว แต่หากไม่ใช่ กฎหมายนั้นก็ขาดความชอบธรรมที่จะนำมาอ้างเพื่อบังคับใช้กับทุกคน นอกจากนี้กฎหมาย ก็ยังมีเรื่องบริบทของช่วงเวลา ที่เมื่อเวลาผ่านไป หลายเรื่องก็ขาดความเหมาะสม ใช้ไม่ได้ หรือไม่ควรใช้บังคับ แต่กฎหมายส่วนใหญ่ก็มักเปลี่ยนแปลงช้า และไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทำส่งผลให้หลายครั้งกฎหมายก็อาจกลายเป็นกลไกที่สร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นเสียเอง เพราะไม่เท่าทันกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

เริ่มต้นเบาๆ แต่ลงท้ายซะหนักอึ้ง อ่านกันแล้วเห็นเป็นอย่างไรก็แชร์ไอเดียกันได้ครับ

 #AGENDA

Popular Topics