น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งไทย วิกฤตที่ ‘ธรรมชาติ’ หรือ ‘มนุษย์’ เป็นต้นตอ?

Highlight

หาดทรายกำลังหายไป! คำนี้ดูเหมือนจะไม่ไกลเกินจริง เมื่อมีข้อมูลระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนพื้นที่แนวชายฝั่งถูกกัดเซาะ ครอบคลุมใน 23 จังหวัด คิดเป็นระยะทางมากกว่า 146 กิโลเมตร จากทั้งหมด 3,148 กิโลเมตร

.

โดยสร้างผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งกว่า 12 ล้านคน ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการประมงชายฝั่ง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งประกอบด้วย ป่าชายเลน แนวปะการัง และหญ้าทะเลอีกด้วย 

.

ซึ่งสาเหตุของการเกิดปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง มีทั้งการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น ลมและมรสุม กระแสน้ำ ภาวะน้ำขึ้น-น้ำลง ลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเล และการกระทำโดยน้ำมือของมนุษย์ เช่น การสร้างถนน ท่าเรือ การถมทะเลเพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง การรุกล้ำป่าชายเลน หรือการสูบน้ำบาดาล ที่ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงขึ้นตามมา

.

อีกทั้งการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบางวิธี เช่น การสร้างเขื่อนกันน้ำหรือแนวกำแพงกันคลื่น ยังส่งผลให้ชายฝั่งเกิดการกัดเซาะมากกว่าเดิม จากการที่กระแสน้ำเกิดการเลี้ยวเบนของคลื่นไปยังชายฝั่งส่วนอื่น หรือการขัดขวางการเคลื่อนที่ของตะกอนตามธรรมชาติ ที่ทำให้ขอบเขตของการกัดเซาะชายฝั่งลุกลามอย่างต่อเนื่อง 

.

ซึ่งจากรายงานการประมวลผลข้อมูลสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2560 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า มี 7 จังหวัดติดทะเลในประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงน้ำกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และระบบนิเวศในจังหวัดในระยะยาว

.

#Agenda พาไปสำรวจกันว่ามีจังหวัดไหนบ้างที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำกัดเซาะรุนแรง และมีแผนรับมือมีอะไรบ้าง ไปติดตามกัน

.

จันทบุรี

จากผลการสำรวจพบว่า จังหวัดจันทบุรีมีแนวชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ณ ปัจจุบันมากที่สุด โดยคิดเป็นพื้นที่ถูกกัดเซาะถึง 22.8 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 22% จากความยาวชายฝั่งทั้งหมด 104 กิโลเมตรของจังหวัดจันทบุรี

.

โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอขลุงและอำเภอแหลมสิงห์ ที่น้ำได้กัดเซาะจนสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนไปถึง 30 ไร่ และอาจกัดเซาะไปถึงแนวถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ จึงมีการบูรณาการความร่วมมือในโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ระหว่างภาครัฐและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางรับมือและวางแผนป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

.

ปัตตานี

จังหวัดปัตตานีมีแนวชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 22.9 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 16% จากแนวชายฝั่งทั้งหมด 139 กิโลเมตร ด้วยสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่โล่ง จึงประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะมาโดยตลอด และเมื่อถึงฤดูมรสุมกระแสคลื่นลมแรง บวกกับการตั้งถิ่นฐานและสิ่งก่อสร้าง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนการขาดองค์ความรู้ ทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น

.

อีกทั้งการพัดของคลื่นซัดชายฝั่งที่นำเม็ดทรายกองรวมเป็นสันทราย ปิดทางเข้าออกของน้ำเค็มจากอ่าวไทย และน้ำจืดจากอ่าวปัตตานี ให้ไม่สามารถไหลหมุนเวียนเหมือนในอดีตได้ ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีทยอยสูญหาย เช่น สาหร่ายผมนาง สาหร่ายผักกาด หรือกุ้งขาว ส่งผลให้ชาวประมงที่ทำประมงอวนลอยได้รับผลกระทบมานานกว่า 4 เดือน

.

สมุทรปราการ

จังหวัดสมุทรปราการมีแนวชายฝั่งป้องกันให้กับกรุงเทพมหานคร แต่กำลังถูกน้ำทะเลกัดเซาะคิดเป็นพื้นที่มากถึง 7.5 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 15% จากความยาวชายฝั่งทั้งหมด 50 กิโลเมตร และมีการใช้โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะด้วยการการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นผสมกับแนวป้องกันตามธรรมชาติ ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ซึ่งก่อสร้างในระยะเวลาแตกต่างกัน ตามแต่งบประมาณประจำปีนั้นๆ 

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านการกัดเซาะชายฝั่งวิเคราะห์ว่า พื้นที่ชายฝั่งโดยเฉพาะที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงบางปะกง ในอีก 20 ปีข้างหน้า น้ำจะกัดเซาะแผ่นดินลึกเข้าไปอีก 1.3 กิโลเมตร ซึ่งอาจทำให้สถานตากอากาศบางปูและถนนสุขุมวิทสายเก่าหายไป รวมถึงชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนที่เหลือจำนวนครัวเรือนเพียงประมาณ 100 ครัวเรือน จากเดิม 200 ครัวเรือน เนื่องจากปัญหาน้ำกัดเซาะรุนแรง

.

ตราด

แม้จะเป็นจังหวัดที่มีแนวชายฝั่งแคบที่สุดในประเทศ แต่ในปี 2560 จังหวัดตราดต้องสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะถึง 26.8 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 15% จากแนวชายฝั่งทั้งหมด 184 กิโลเมตร และยังเกิดปัญหาสำคัญคือ ประชาชนที่อยู่ตามแนวชายฝั่งต้องการที่จะก่อสร้างทำแนวกั้นคลื่น โดยไม่ผ่านการสำรวจพื้นที่ และทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากหน่วยงานรัฐเสียก่อน

.

และด้วยภัยธรรมชาติที่ไม่อาจรอเวลาได้ ผู้ประกอบการหลายรายจึงเร่งสร้างเขื่อนกันคลื่นเพื่อแก้ปัญหาผลที่ตามมาก็คือ เขื่อนกันคลื่นเหล่านั้นได้เปลี่ยนทิศทางน้ำให้ไปกัดเซาะพื้นที่อื่นๆ โดยรอบ ส่งผลให้ต้นสนที่เรียงเป็นแนวถูกคลื่นซัดล้มกว่า 10 ต้น สะท้อนให้เห็นการขาดความต่อเนื่องของภาครัฐในการกำกับติดตามผลกระทบ จึงส่งผลให้ภาคเอกชนได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้น

.

สงขลา

จังหวัดสงขลามีลักษณะชายฝั่งทะเลเป็นหาดทรายยาวทอดตัวในแนวเกือบเหนือ-ใต้ ประกอบกับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดผ่านเข้าสู่ฝั่ง ทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลาถูกกัดเซาะคิดเป็นระยะทางประมาณ 17.5 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 11% จากความยาวชายฝั่งทั้งหมด 158 กิโลเมตร

.

โดยเฉพาะ ‘หาดสมิหลา’ ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนสูญเสียความกว้างของชายหาดไป 9.4 เมตร รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ที่แม้ภาครัฐจะทุ่มงบประมาณ 73.6 ล้านบาทในการทำเขื่อนหินทิ้ง วางถุงทรายกันคลื่น แต่ก็ยังไม่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งอนาคตหาดสมิหลาอาจเหลือเวลาชื่นชมความสวยงามได้อีกเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น รวมไปถึงพื้นที่ฝังศพของชุมชนบ้านปึก ในอำเภอจะนะ ที่บางส่วนถูกน้ำทะเลพัดหายไป ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของสมาชิกในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง

.

นราธิวาส

หนึ่งในจังหวัดสามชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีพื้นที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะไปประมาณ 4.6 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 8% จากความยาวชายฝั่งทั้งหมด 58 กิโลเมตร เนื่องจากสภาพพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่โล่ง จึงประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะมาโดยตลอด และเมื่อถึงฤดูมรสุมกระแสคลื่นลมแรง ส่งผลให้การกัดเซาะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

.

นอกจากนี้ปัญหาการสร้าง ‘รอดักทราย’ หรือเขื่อนดักทราย ที่ยื่นออกไปนอกชายฝั่งของหาดนราทัศน์ เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางเรือฝั่งอ่าวไทย กลับทำให้คลื่นเปลี่ยนทิศทางใหม่ ส่งผลให้กระแสน้ำพัดพาทรายไปทับถมด้านต้นน้ำ ขณะที่อีกด้านถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง ชาวบ้านริมฝั่งได้รับผลกระทบ ถนนถูกตัดขาด ปลาในกระชังทยอยตาย เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำอย่างรวดเร็ว

.

7 จังหวัดที่ยกมานี้ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง ที่สร้างความเสียหายต่อธรรมชาติและทรัพย์สินของประชาชน ที่แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ แต่เมื่อหน่วยงานรัฐกลับแก้ปัญหาที่ ‘ปลายเหตุ’ หรือปล่อยให้ประชาชนแก้ไขปัญหากันเอง ยิ่งทำให้ปัญหาไม่ได้ทุเลาลง แต่ยังคงถลำลึกและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาได้ และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

.

จึงเกิดคำถามที่ว่า หากวันหนึ่งชายฝั่งไม่เหลือแม้แต่ทรายสักเม็ด ถึงเวลานั้นใครกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

.

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ThaiPBS, เดลินิวส์, สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Popular Topics