‘ผู้นำ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของประเทศ
แล้ว ‘ผู้นำแบบไหน’ ที่เหมาะกับการดูแลประเทศให้ก้าวหน้า ?
- ผู้นำที่ดุดัน แข็งกระด้าง
- ผู้นำที่อ่อนโยน เข้าใจทุกความรู้สึกของทุกฝ่าย
- ผู้นำที่ตอบไม่ตรง ไม่ชัด ไม่เคลียร์ ไม่รู้
- หรือผู้นำที่ตอบได้ทุกคำถามอย่างจริงใจ และมีวุฒิภาวะ
#Agenda จะพาทุกคน ไปทำความรู้จักกับผู้นำที่ยืนเคียงข้างประชาชน มาดูกันว่าทำไมเธอถึงกลายเป็นผู้นำที่โลกกำลังชื่นชมอย่างมาก – ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ นายกหญิงของประเทศนิวซีแลนด์
————-
ผู้นำที่ใส่ใจทุกปัญหาของประชาชน
จาซินดา ผลักดัน ‘งบประมาณด้านคุณภาพชีวิต’ ตั้งเป้าจะลงทุนและสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อลดปัญหาทางสังคม และคาดว่าจะเป็นงบประมาณด้านสังคมก้อนใหญ่ที่สุดที่เคยพิจารณาให้แก่ภาครัฐที่ดำเนินการในด้านนี้
โดยใช้ ‘ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน’ เป็นเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณแต่ละกระทรวง แทนการใช้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแบบที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้
ในขณะที่ทุกประเทศ ยังคงจัดปัญหาค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยเป็นเรื่องรอง แต่นิวซีแลนด์เห็นว่าปัญหานี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำต้องเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่ปล่อยผ่าน
จาซินดา กล่าวว่า เวลานี้มีสตรีอายุระหว่าง 9-18 ปี กว่า 95,000 คน ทั่วประเทศที่ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ ประจำเดือนคือเรื่องปกติสำหรับผู้หญิง ดังนั้นผ้าอนามัยจึงไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เธอจึงผลักดัน ทำให้นโยบายผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง
ปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในช่วงวิกฤต Covid-19 นำพาความไม่แน่นอนมาสู่ประชาชน ผู้คนต่างเศร้าและเกิดความกังวลในอนาคตข้างหน้าเป็นอย่างมาก รัฐบาลของนิวซีแลนด์ จึงออกแคมเปญที่มีชื่อว่า ‘เราจะผ่านมันไปด้วยกัน’ เป็นแคมเปญที่แบ่งปันวิธีการรับมือกับความเครียดที่มาจาก Covid-19 เพื่อลดปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
————-
ผู้นำที่เข้าถึงง่าย จริงใจ
ภาพลักษณ์ และภาวะผู้นำของ จาซินดา อาร์เดิร์น ที่ได้สื่อสารกับประชาชนด้วยความจริงใจ เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น จับใจความง่าย ตรงประเด็น เธอได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก เธอเปิดช่องทางให้ประชาชนพูดคุยซักถาม ผ่านอินสตราแกรมส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนเชื่อถือ ให้ความร่วมมือกับรัฐค่อนข้างสูง
ในช่วงวิกฤต Covid-19 เธอตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ด้วยตัวเอง เธอมักจะลงดีเทลตั้งแต่ราคากระหล่ำปลี ตลอดจนมาตรการเยียวยาในภาพใหญ่ๆ
แถมยังใช้เวลาที่พักอยู่บ้านไลฟ์ตอบคำถามประชาชนผ่าน Facebook ด้วยตัวเองอีกด้วย เธอจะปรากฏในชุดง่ายๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ในทุกการตัดสินใจของเธอจะมาพร้อมความเห็นอกเห็นใจ แสดงถึงความรับรู้ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชน แต่ชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้ และทำไม่ได้
แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์บางส่วน ถึงความชัดเจนของข้อมูล เกี่ยวกับการสรุปสถานการณ์ Covid-19 รายวันว่าให้เวลาถาม-ตอบน้อยเกินไป
————-
ผู้นำที่เข้าอกเข้าใจประชาชนทุกคน
15 มี.ค. ขณะชาวมุสลิมรวมตัวกันที่มัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองไครสต์เชิร์ชเพื่อทำพิธีละหมาด ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ชายผิวขาวคนหนึ่งใช้ปืนยิงถล่มคนในมัสยิด มีผู้เสียชีวิตถึง 51 ศพ จากหลายเชื้อชาติ โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ไม่เพียงสร้างแรงสั่นสะเทือนในนิวซีแลนด์ แต่ลุกลามไปทั่วโลก
จาซินดา ออกมาแถลงการณ์ภายในไม่กี่ชั่วโมง ถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ ‘ก่อการร้าย’ เธอสวมฮิญาบสีดำสวมกอดญาติผู้เสียชีวิต พร้อมกับแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ และความขัดแย้งทางศาสนา เธอถือว่าเหยื่อผู้เสียชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ แถมยังปฏิเสธที่จะเอ่ยชื่อของผู้ก่อเหตุ เพราะไม่อยากให้โลกได้จดจำคนที่พรากชีวิตผู้อื่น
“ผู้ก่อเหตุต้องการหลายสิ่งจากการกราดยิง หนึ่งในนั้นคือชื่อเสียงด้านลบ ฉันจึงไม่มีวันเอ่ยชื่อคนคนนี้ เขาเป็นเพียงผู้ก่อการร้าย เป็นอาชญากร นิวซีแลนด์จะไม่มีวันมอบสิ่งที่ผู้ก่อการร้ายต้องการเด็ดขาด”
นอกจากนี้เธอให้คำมั่นว่าจะแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ภายใน 10 วัน
ซึ่งเธอก็ทำสำเร็จ วันที่ 21 มี.ค. เธอออกมาประกาศว่า นิวซีแลนด์จะเตรียมสั่งห้ามครอบครองอาวุธสงคราม เริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 11 เม.ย.
“ประวัติศาสตร์ของประเทศเราเปลี่ยนไปตลอดกาล กฎหมายของเราก็จะเปลี่ยนเช่นกัน”
————-
ผู้นำที่อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอยามวิกฤต
ช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ประชาชนทุกประเทศต่างหวาดกลัวและขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลของตนเอง (โดยเฉพาะประเทศไทย) แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นกับรัฐบาลของนายกหญิงแห่งนิวซีแลนด์
นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรก ๆ ที่ตอบสนองต่อโรคร้ายนี้อย่างรวดเร็ว สั่งล็อกดาวน์ประเทศอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ จาซินดายังประกาศลดเงินเดือนตัวเองและคณะรัฐมนตรีลง 20% เป็นเวลา 6 เดือน เธอถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ทุกวัน และมักจะไลฟ์ใน Facebook เป็นประจำเพื่อให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สอบถามอย่างใกล้ชิด
ภายใต้การล็อกดาวน์ นิวซีแลนด์ดำเนินการตรวจ Covid-19 ให้กับประชาชน ทำให้พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แต่กลับมียอดผู้เสียชีวิตต่ำ เพราะระบุตัวคนติดโรคได้ ป้องกันการลุกลามของโรคได้ทันท่วงที
รัฐบาลดำเนินการสั่งจองวัคซีนให้เพียงพอกับประชากรทั้ง 5 ล้านคนในประเทศรวมถึงสั่งเผื่อหมู่เกาะข้างเคียง
และมีแผนเตรียมแจกจ่ายวัคซีน Covid-19 ให้ประชาชนทั้งประเทศช่วงกลางปี 2021
จาซินดา อาร์เดิร์น ยังปล่อยคลิปที่ทั่วโลกต่างพากันอิจฉานั่นคือ ‘การฉลองวันชาติแบบปลอดแมสก์’ ที่ผู้คนต่างเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน สวมกอดกันอย่างใกล้ชิดแบบไม่ต้องใส่แมสก์และไม่ต้องกลัวเชื้อร้าย
แม้ล่าสุดจะมีการพบผู้ติดเชื้อ 3 ราย ที่มาจากทางสหราชอาณาจักร แต่ถือว่าเป็นจำนวนที่เล็กน้อยมากหลังจากที่ปลอดเชื้อตั้งแต่วันที่ 24 มกรา และใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดระดับ 2 ในเมืองโอ๊คแลนด์ แปลว่าโรงเรียนและภาคธุรกิจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ส่วนพื้นที่อื่นในประเทศยังอยู่ภายใต้มาตรการระดับ 1 นั่นคือประชาชนไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และจำกัดจำนวนการรวมตัวกัน
————-
ผู้นำที่เปิดรับทุกความหลากหลาย
จาซินดา เกิดในครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายมอร์มอน แต่เธอตัดสินใจเลิกนับถือศาสนาในปี 2005 เนื่องจากเธอไม่เห็นด้วยกับหลักการหลายอย่างของมอร์มอน ที่นิกายนี้ปฏิเสธเรื่องเกย์และการแต่งงานในเพศเดียวกัน เธอจึงละทิ้งศาสนาทันที
ล่าสุดถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ ที่เจซินดาแต่งตั้ง ‘นานายา มาฮูทา’ หญิงชาวเมารีที่มีรอยสักบนใบหน้าตามวัฒนธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ทำให้รัฐบาลของจาซินดา มีความหลากหลายมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คณะรัฐมนตรี 20 คน ซึ่งเป็นผู้หญิง 8 คน ชาวเมารี 5 คน LGBT 3 คน ชาวแปซิฟิกา 3 คน นอกจากรัฐบาลแล้ว รัฐสภานิวซีแลนด์ก็เช่นกัน สมาชิกรัฐสภาเกินครึ่งเป็นผู้หญิง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 25% มีผู้ที่เปิดเผยว่าเป็น LGBTQ ราว 10% สูงกกว่าสหราชอาณาจักรที่มีแค่ 7%
แม้ว่าจาซินดาจะภูมิใจกับความหลากหลายของคณะรัฐมนตรี แต่เธอก็ยืนยันว่า เธอเลือกจากความสามารถ ไม่ใช่เหตุผลที่พวกเขาบอกว่าพวกเขาเป็นอะไร
————-
ที่มา : Thepeople, Xinhuathai, VoiceTV, Thematter, BBC, PPTV, Dailynews, Infoquest, Themomentum