ประเทศตุรกีและซีเรียนั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวเป็นอย่างมากเพราะเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กับรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่มาตรการในการรับมือกลับไม่ดีเท่าที่ควร เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดจึงเป็นการสะท้อนปัญหาเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน
.
แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก โดยมีความรุนแรงถึงระดับ 7.8 ริกเตอร์ แถมยังมีแผ่นดินไหวระลอกที่สองที่มีระดับความรุนแรงถึง 7.5 ริกเตอร์ตามมาในเวลาห่างกันไม่นานอีกด้วย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 17,100 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 58,000 คน (อัพเดทเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566)
.
แต่นอกจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์และช่วงเวลาแล้ว สาเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดผลรุนแรงมากกว่าที่ควรนั้นอาจเกิดจาก 2 ปัจจัย ดังต่อไปนี้
.
– ปัญหาสิ่งก่อสร้างภายในประเทศไม่ได้มาตรฐาน
.
ถือว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความรุนแรงของแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้น โดยรายงานสถานการณ์จาก OCHA แสดงให้เห็นว่ามีสิ่งก่อสร้างกว่า 10,000 แห่งที่ถล่มลงมา ซึ่งเป็นสาเหตุการล้มตายของผู้คนเป็นจำนวนมากและทำให้การกู้ภัยเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
.
ปัญหาสิ่งก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานนั้นเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่มีการแก้ปัญหาหรือการตรวจสอบอย่างจริงจังเสียที โดยสิ่งก่อสร้างที่ถล่มลงมาส่วนใหญ่จะถูกสร้างมาจากคอนกรีตที่ไม่มีการเสริมให้สามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้มากเพียงพอ รวมทั้งในบางครั้งการสร้างสิ่งก่อสร้างบางแห่งยังไม่ได้ถูกรับรองตามกฎหมาย หรือมีการสร้างนอกเหนือจากแบบ เช่น การเพิ่มเติมช้ันนอกเหนือจากแบบที่กำหนด อีกด้วย
.
กฎหมายของประเทศตุรกีได้กำหนดให้การสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ น้ัน ต้องสร้างให้สามารถทนทานต่อแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้ ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 7.8 และ 7.5 ริกเตอร์นั้นถือว่ายังไม่ได้มีความรุนแรงเกินกว่าที่กฎหมายได้แนะนำเอาไว้ ดังนั้นการที่สิ่งก่อสร้างถล่มลงมาจึงแสดงให้เห็นว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดเอาไว้นั่นเอง
.
ปัญหาสิ่งก่อสร้างนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตุรกีอีกด้วย เพราะในปี 1999 เองก็เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน ซึ่งในครั้งนั้นเกิดการถล่มของสิ่งก่อสร้างกว่า 20,000 แห่ง ปัญหาสิ่งก่อสร้างจึงเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที
.
สำหรับประเทศซีเรียนั้น การเกิดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อและยาวนานส่งผลให้ สิ่งก่อสร้างในประเทศขาดการดูแลและบำรุงให้ได้มาตรฐาน จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้และเกิดการถล่มเช่นเดียวกัน
.
นอกจากนี้การที่ชาวซีเรียอพยพหนีจากประเทศของตนมาอาศัยในประเทศตุรกี ยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว จนทำให้การก่อสร้างไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานตามกฎหมายอีกด้วย
.
– ภาวะความยากจนและการขาดทรัพยากร
.
ประเทศตุรกี ประสบปัญหาวิกฤติเงินเฟ้ออย่างรุนแรงมาต้ังแต่ปี 2018 โดยในปีที่แล้วอัตราเงินเฟ้อพุ่งมากถึง 80% ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไม่ได้มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ รวมทั้งยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถทำการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานได้อีกด้วย
.
เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลิต การส่งออก และการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโต ที่มองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน มากกว่าการนำเงินมาลงทุนแก้ปัญหาอื่น ๆ ในประเทศ
.
ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือประเทศซีเรีย ที่ประสบปัญหาจากสงครามมาอย่างยาวนาน ประกอบกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นกลับเป็นพื้นที่สมรภูมิ การช่วยเหลือผู้คนจึงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ทั้งขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากรในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งยังขาดความช่วยเหลือจากทางฝั่งรัฐบาลอีกด้วย
.
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าโรงพยาบาลภายในทั้งสองประเทศบางแห่งได้เกิดการถล่มลงด้วยเช่นกัน ยิ่งส่งผลให้ทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งน้อยลงมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ประสบภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้นนั่นเอง แถมสนามบินยังได้รับความเสียหายจนไม่สามารถนำเครื่องบินลงจอดได้ ทำให้ความช่วยเหลือจากภายนอกประเทศมาไม่ถึงเร็วเท่าที่ควรอีกด้วย
.
ที่มา: ALJAZEERA, THE HINDU, The Guardian, OCHA, CBS News, Reuters, CNN, TNN