หรือหลักสูตรยุคใหม่จะเป็นความหวังของการศึกษาไทย ?
ส่อง! แนวทางการเรียนแบบสับ แบบใหม่ ที่ปรับให้เข้าใจผู้เรียนมากขึ้น 🎓
‘หลักสูตร’ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา สำหรับกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอน การทำงานของโรงเรียน และเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของผู้เรียน ดังนั้น การมีหลักสูตรที่ดี ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งในการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยที่ผู้เขียนก็สุขใจ ผู้สอนก็ไม่มีปัญหา และผู้เรียนก็แฮปปี้
เรื่องตลกร้าย (ที่ขำไม่ค่อยออก) ของการศึกษาไทยที่มองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา หนึ่งในนั้นก็คือ ‘หลักสูตร’ เนื่องจากการเขียนหลักสูตรในไทยส่วนใหญ่จะเกิดจากผู้ใหญ่เขียนลงมาให้ผู้น้อยทำตาม (ในที่นี้ คือ ทั้งครูและนักเรียน) และเป็นหลักสูตรจากส่วนกลางที่บังคับใช้ในสถานศึกษา
หลายหลักสูตรมีที่มาจากบนลงล่าง โดยแทบไม่เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ว่ารูปร่างหน้าตาของหลักสูตรครูและนักเรียนต้องการเป็นอย่างไร ? จนบางครั้ง ครูก็งง นักเรียนก็ไม่อิน เกิดการตั้งคำถามว่าบางวิชาเรียนไปทำไม ? ปลายทางของการศึกษาจากหลักสูตรนี้ตอบโจทย์สังคมได้จริงหรือไม่ ?
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านสังคมเริ่มเห็นปรากฏการณ์ด้านการศึกษา เพราะบางโรงเรียนมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะกับยุคใหม่ เข้าใจผู้สอนและผู้เรียนมากกว่าเดิม และมองหาความสำเร็จจากการเรียนมากกว่าแค่จำนวนผู้จบการศึกษา แต่ต้องเป็นพลเมืองที่พร้อมทั้งความรู้วิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิคุ้มกันด้านประสบการณ์ชีวิต
#Agenda พาเกาะขอรั้ว ส่องหลักสูตรโรงเรียนยุคใหม่ที่ปรับปรุงให้ทันสมัย หลักสูตรแบบที่ผู้สอนก็เข้าใจ และผู้เรียนก็แฮปปี้ และอาจเป็นโรงเรียนในฝันที่สร้างความหวังใหม่ของวงการการศึกษา 🏫
1. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“การเรียนรู้ที่ดี เป็นสิ่งประเสริฐสุดของชีวิต” ปรัชญาของโรงเรียนที่บ่งบอกให้เห็นว่าโรงเรียนในความสำคัญต่อการกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยหลักสูตรของ สาธิต มธ. จะมีการปรับหลักสูตรทุก 4-5 ปี โดยการบูรณาการหลักสูตรเก่าที่จำเป็นกับองค์ความรู้ใหม่เพื่ออนาคต ไม่อิงตามหลักสูตรของ สพฐ. ทั้งหมด แต่อยู่ภายใต้หลักการไม่ใช่ทฤษฎี แต่เน้นการเกิดประสบการณ์ตรง
ให้ความสำคัญเชิงวัฒนธรรม สร้าง Mindset การยอมรับความแตกต่างหลายหลาย โดยที่ครูและผู้ปกครองจะทำงานร่วมกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยในเด็กเกิดการเรียนรู้ ให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่สนใจ เปิดโอกาสให้ได้ลองผิดพลาด เช่น กลุ่มความสนใจด้านผู้ประกอบการ ให้อิสระในการแต่งกาย ทรงผม ไม่มีการเข้าแถวตอนเช้า เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความเป็นตัวของตัวเองและฝึกความรับผิดชอบ
2. Ecole 42 Bangkok
“เอกอล 42 แบงค็อก” (Ecole 42 Bangkok) เป็นสถาบันการเรียนการสอนโปรแกรมเมอร์ โดยความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับโรงเรียนโปรแกรมเอกอล ประเทศฝรั่งเศส มุ่งพัฒนาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ กราฟฟิกคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
หลักสูตรของเอกอล 42 แบงค็อก เป็นหลักสูตรแบบไม่มีปริญญา (non-degree) ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับใบรับรองการสำเร็จหลักสูตร (certificate of completion) ตอบโจทย์การเรียนรู้แห่งอนาคตที่ใบปริญญา ไม่สำคัญเท่าความรู้และความสามารถ ซึ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขปัญหา และการทำงานเป็นทีม สอดแทรกโมดูลชั้นนำของอุตสาหกรรม
3. โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่
โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ-ซิตี้ แคมปัส ใช้หลักสูตร “Design, Engineer, Construct (DEC)” ซึ่งเป็นหลักสูตรจากประเทศอังกฤษที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาทักษะด้านการออกแบบ วิศวกรรม และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โครงการ
หลักสูตร DEC จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มากขึ้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่ผู้เรียนมีอายุยังน้อย จะมีการเสริมสร้างทักษะ เช่น วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ การคิดเชิงวิเคราะห์และสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การพึ่งพาตัวเอง และความสามารถในการปรับตัว เป็นต้น ก่อนพัฒนาไปสู่ด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กมากที่สุด
4. โรงเรียนอัสสัมชัญ
แนวทางของโรงเรียนอัสสัมชัญ ยังคงใช้หลักสูตรที่อิงตามหลักสูตรแกนกลาง แต่จะมีการปรับโครงสร้างการเรียนการสอนภายในโรงเรียนให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนมากขึ้น จัดวิชาที่นักเรียนเลือกได้ตามความสนใจ ระดับมัธยมต้นมี 6 แผนการเรียน ส่วนมัธยมปลายมีถึง 14 แผนการเรียน ลบภาพโรงเรียนมัธยมแบบเก่าที่จะมีแค่สายวิทย์ สายศิลป์ และสายภาษา
แผนการเรียนที่น่าสนใจ เช่น แผนการเรียนศิลป์ – ศิลปะการแสดง แผนการเรียนวิทย์ – ดิจิทัลและเทคโนโลยี แผนการเรียนศิลป์ – อาร์ตแอนด์ดีไซน์ เป็นต้น การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อปลูกฝังทักษะภาษาที่ 2 และเมื่อไม่นานมานี้ยังนำหลักสูตรเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีพื้นฐานเข้าไปสอนนักเรียนเพื่อพัฒนาความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลอนาคตมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
5. โรงเรียนโพธิสารพิทยากร
หลักสูตรเดิม ๆ ที่ทำให้เด็กไม่ทราบเป้าหมายในชีวิต นำไปสู่การตัดสินใจปรับปรุงหลักสูตรระดับมัธยมปลายของโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ยกเลิกรับนักเรียน ม.4 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 แบบสายวิทย์ – ศิลป์คำนวณ – ศิลป์ภาษา เปิดแผนการเรียนใหม่ 7 แผนการเรียนที่เน้นเรื่องทักษะอาชีพ ได้แก่ เตรียมแพทย์-เภสัช เตรียมวิศวะ-สถาปัตย์ เตรียมวิทย์-คอม เตรียมนิเทศ-มนุษย์ เตรียมศิลปกรรม เตรียมบริหารธุรกิจ-บัญชี และเตรียมนิติ-รัฐศาสตร์
ปัจจุบัน แนวทางการเรียนการสอนของโรงเรียนจะต้องทำให้ผู้เรียนค้นพบความฝันของตัวเอง และเตรียมพร้อมตั้งแต่ระดับมัธยม ในการสร้างนักเรียนที่มีความฝัน มีทักษะอาชีพ และสามารถสร้างอนาคตของตัวเองได้ โดยโรงเรียนต้องทำหน้าที่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตัวเองของเด็กอย่างยั่งยืน
6. โรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม
โรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม เป็นโรงเรียนหลักสูตรไทย มาตรฐาน Cambridge International School ที่เน้นการค้นหาตัวตนด้วยหลักสูตร Individual Development Plan (IDP) วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดด้อยด้วยแนวคิดจิตวิทยา ให้ผู้เรียนเข้าใจความต้องการของตัวเอง สามารถเลือกเรียนตามความสนใจ และสามารถจัดการเวลาพักผ่อนได้อย่างสมดุลตามแนวคิด Positive School
“หลักสูตร 5 F” ที่นำมาจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย FUN – เรียนสนุกสนานและมีความสุข, FIND – ค้นหาศักยภาพผ่านวิชาเลือกเสรี, FOCUS – เจาะลึกศักยภาพที่มีให้เชี่ยวชาญ, FULFILLMENT – เติมเต็มตัวตนนักเรียน และ FRUITION – ให้นักเรียนรู้จักคิด วิเคราะห์ รู้วิธีเอาตัวรอด มีภูมิคุ้มกัน ทั้งหมดยังคงเดินหน้าไปพร้อมกับความรู้วิชาการและความถนัดที่จำเป็น และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีความสุข
7. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
โครงสร้างพื้นฐานของหลักสูตรจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หลักสูตร Intensive English Program (IEP) ที่พัฒนามาจากกระทรวงศึกษา เรียนเป็นภาษาไทยเป็นหลัก และ English Immersion Program (EIP) ที่เน้น skills-based และเน้นภาษาอังกฤษมากกว่า ทั้งนี้ กท. เริ่มปรับไส้ในหลักสูตร สร้างระบบ BCC NEXT สลายสายวิทย์และสายศิลป์ มาแตกแขนงเป็น 15 แผนการเรียน หรือ TRACK
ตัวอย่าง TRACK ที่น่าสนใจ เช่น ด้านนิเทศศาสตร์อย่างบรรจุวิชาการผลิตภาพยนตร์ หรือด้านศิลปะการประกอบอาหาร มีวิชาอาหารยุโรป วิชาขนมหวาน เป็นต้น ทั้งนี้ ยังคงคงรายวิชาพื้นฐานไว้ แต่เพิ่มความสนุกลงไปเน้นการค้นหาความชอบของผู้เรี ถ้ายังจำกันได้ ต้นปี 2562 โรงเรียนยังเคยอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทไปเรียนเพื่อทดลองสร้างพื้นที่การเรียนที่เป็นอิสระ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
8. โรงเรียนกำเนิดวิทย์
หลักสูตรโรงเรียนกำเนิดวิทย์เป็นไปตามกระทรวงศึกษาธิการ แต่ทางโรงเรียนจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียนเป็นรายบุคคล มีกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะชีวิต การอยู่ร่วมกัน เป็นทั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถและ เป็นคนดีของสังคม
มีหลักสูตรแบบ ‘วัดตัวตัด’ คือ นักเรียนมีความถนัด หรืออยากเรียนรู้ทางด้านใดก็ต้องให้นักเรียนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในด้านนั้น หลักสูตรจึงแบ่งเป็น 2 ระดับ คือพื้นฐานทั่วไปและขั้นสูง เริ่มต้นตั้งแต่ปูพื้นฐานด้านต่าง ๆ ก่อนไปเจาะลึกความชอบด้านวิทยาศาสตร์เฉพาะเมื่อเรียนสูงขึ้น เรียนรู้แบบ Active Learning มีเครื่องมือครบครันเทียบเท่ามหาวิทยาลัยระดับประเทศ
โรงเรียนไทยหลายแห่งเริ่มปรับตัวและเปลี่ยนการเรียนการสอนให้ทันสมัย สร้างการเรียนรู้ “มีความสุข” และ “เข้าใจความต้องการของผู้เรียน” มากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาการศึกษาให้ตอบโจทย์อนาคต โลกวันข้างหน้าคนที่เก่งแค่วิชาการอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องมีทักษะชีวิตและภูมิคุ้มกันในการเอาตัวรอด ซึ่งโรงเรียนสามารถเป็นแหล่งฟูมฝักให้กับเยาวชนได้
ย้อนกลับมามองหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการที่ใช้ในโรงเรียนทั่วไปมาเป็นเวลานาน สิ่งที่เห็น คือ นักเรียนไทยยังคงตรากตรำเรียนหนักเฉลี่ยวันละ 5.4 ชั่วโมง ยังไม่รวมการบ้านและกิจกรรมอื่น ๆ แต่ประสิทธิภาพและความขีดสามารถของนักเรียนไทยยังอยู่ในระดับต่ำบนเวทีโลก เรากำลังสร้างการศึกษาที่ติดลบจมทุนในโลกอนาคตอยู่หรือไม่ ? อีกนานแค่ไหนที่การศึกษาไทยจะดีเท่ากับต่างชาติ
ที่มา : bangkokbiznews, thairath, assumption, satitpattana, sanook