ChatGPT หนึ่งใน AI ที่ถูกพัฒนาล่าสุดโดยบริษัท ‘OpenAI’ ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างบทสนทนาและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้คน และได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft เป็นจำนวนเงินถึง 3.3 แสนล้านบาท
.
โดยหลังจากเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ปัจจุบัน ChatGPT มียอดผู้ใช้งานไปแล้วเกิน 100 ล้านราย ภายหลังเปิดตัวได้เพียง 2 เดือน
.
ทดลองเข้าไปใช้งาน ChatGPT ได้ที่ openai.com
.
หลายคนที่ได้ลองเข้าไปเล่นแล้วจะพบว่า ChatGPT ช่วยทำให้การค้นหาข้อมูลต่างๆ ทำได้ง่าย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของ ‘Generative AI’ ในยุคที่ AI สามารถคิดและทำงานแทนมนุษย์ได้ และไม่แน่ว่าอาจทำให้คนรุ่นใหม่ตกงานได้อีกด้วย!
.
โดยมีการวิเคราะห์ว่ามี 7 สายงานที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ หาก AI เข้ามาแทนที่ในอนาคต
.
1.นักวาดภาพประกอบ
ที่อาจถูกแทนที่ด้วย AI ช่วยในการวาดภาพ เช่น Midjourney AI ที่สร้างภาพกราฟิกเหมือนคนวาดด้วยการพิมพ์คำเพียงไม่กี่คำ ซึ่งถูกวิจารณ์โดยกลุ่มศิลปินว่าเป็นการดิสเครดิตโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตในการใช้งานภาพ
.
2.งานสายบริการลูกค้า
ซึ่งแต่เดิมเว็บไซต์ส่วนใหญ่ใช้ AI ตอบคำถามเบื้องต้น และเมื่อเจอคำถามยากๆ ก็จะใช้พนักงานที่เป็นมนุษย์ แต่หาก ChatGPT สามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนได้ แรงงานที่เป็นมนุษย์เหล่านั้นก็จะเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างงานได้
.
3.นักเขียนคำโฆษณา
Jounce AI มีฟังก์ชันที่สามารถเขียนคำโฆษณาโดยใช้ AI ฟรีแบบไม่จำกัด ส่งผลให้มีคนไปใช้งานเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์และธุรกิจของตนเองเป็นจำนวนมาก โดยมีแนวโน้มในอนาคตที่อุตสาหกรรมการเขียนคำโฆษณาจะใช้ AI สูงถึง 90%
.
4.ทนายความ
DoNotPay พัฒนาหุ่นยนต์ทนายความที่สามารถโต้ตอบผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเตรียมใช้งานในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นับว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้ AI ตัดสินความยุติธรรม และจะส่งผลกระทบต่อสายงานด้านกฎหมายอย่างเลี่ยงไม่ได้
.
5.นักวิทยาศาสตร์
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในสหรัฐฯ ระบุว่า แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบทคัดย่อทางวิทยาศาสตร์ที่เขียนโดยมนุษย์กับ ChatGPT ได้ ซึ่งต่อไปการเขียนบทความวิทยาศาสตร์อาจเป็นระบบที่ใช้ AI เขียนทั้งหมด
.
6.โปรแกรมเมอร์
AlphaCode โปรแกรมที่สามารถแก้ปัญหาการเขียนโค้ดอย่างง่ายได้รวดเร็ว ในขณะที่แชทบอตอย่าง ChatGPT สามารถใช้ตอบคำถามและเขียนโค้ดได้ แม้ว่าจะทำได้ไม่ค่อยดีในช่วงแรก แต่ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่อาจทำให้โปรแกรมเมอร์หลายคนมีร้อนมีหนาวได้
.
7.อินฟลูเอนเซอร์และนางแบบ
วงการโฆษณามีตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็น AI อย่างเช่น โรซี่ น้องไอรีน น้องกะทิ ที่สามารถโฆษณาสินค้าได้เหมือนกับนางแบบที่เป็นมนุษย์ และยังไม่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย ซึ่งหาก ChatGPT ได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่ว่า AI เหล่านี้อาจสามารถสื่อสารได้ไม่ต่างจากนางแบบโฆษณา
.
โดยข้อมูลจาก McKinsey ได้ประเมินว่าภายใน 10 ปี ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับการสูญเสียงานจากการแทนที่ของ AI มากถึง 800 ล้านตำแหน่ง จากตัวเลขแรงงานทั่วโลก 3,000 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘Useless Class’ หรือ ‘คนชนชั้นว่างงานที่ไร้ประโยชน์’ เพราะถูก AI เข้ามาแทนที่โดยสมบูรณ์ และไม่สามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
.
แต่ก็มีบางอาชีพ เช่น นักธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้จัดการสินทรัพย์ ที่มีความเห็นว่า การเติบโตของ AI อย่าง ChatGPT ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่อาชีพของตนได้ เพราะยังคงระมัดระวังในเรื่องของการลงทุนและการบริหารจัดการสินทรัพย์ จึงไม่ไว้ใจให้ AI มาทำแทนทั้งหมดได้
.
ดังนั้นหลายคนจึงต้องเริ่มคิดและให้ความสำคัญกับงานที่ตนเองกำลังทำอยู่ ว่าถ้าวันหนึ่ง AI สามารถคิดและทำงานของเราได้ เราอาจถูกแทนที่และกลายเป็นคน ‘ตกงาน’ แบบไม่ทันตั้งตัว รวมไปถึงกลุ่มคนที่ใกล้เรียนจบและกำลังมองหางาน ก็อาจอยู่ในสถานะ ‘ว่างงาน’ ในระยะยาวได้
.
ซึ่งทักษะที่จำเป็นต่อการปรับตัวให้ทัน AI คือ การสร้างตัวตนใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือ Reinvent Yourself ไปจนถึงการ Reskill-Upskill ที่คนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเรียน วัยเริ่มทำงาน และกลุ่มคนทำงานมาหลายปี ต้องกล้าฉีกทิ้งความรู้ และประสบการณ์การทำงานเก่าๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ และปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
.
Sources : OpenAI, CNN,The New York Times, Bloomberg, Medscape, efinancethai, Workpointtoday, ฐานเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ